xs
xsm
sm
md
lg

เสียงประชาชนกับกฎหมายคอมพิวเตอร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: พระบาท นามเมือง

ข้อแข็งอย่างหนึ่งของการปกครองแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของระบอบ คสช.คือการทำงานที่ต่อเนื่องรวดเร็ว

ในแวดวงกฎหมายนั้นยอมรับกันว่า ร่างกฎหมายสำคัญๆ หลายฉบับ ที่ต่อสู้กันมานาน ก็มาสำเร็จเป็นกฎหมายมีผลบังคับใช้ในยุคของ คสช.นี่เอง

นอกจากไม้เด็ดไม้ตาย คือมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ที่สามารถใช้อำนาจนิติบัญญัติเช่นเดียวกับการออกกฎหมายได้ทันทีแล้ว องค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติอย่าง สนช.นั้นก็เป็นเหมือนองคาพยพเดียวกันกับ คสช.

ส่วนหนึ่งเพราะการที่ไม่มีพรรคการเมือง ไม่มีตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง รวมถึง สนช.แต่ละคนก็มีหน้าที่เดียวคือหน้าที่ในทางนิติบัญญัติคือการออกกฎหมาย ไม่ต้องระวังพะวงอยู่กับการเล่นการเมืองหรือดูแลฐานคะแนนเสียงของตน จึงทำให้มีเวลาและสามารถตั้งใจทุ่มเทมุ่งตรงกับภารกิจการตรากฎหมายได้มากขึ้น

แม้ว่าทั้ง คสช. และ สนช.จะไม่ได้มีที่มาจากประชาชนโดยตรงผ่านระบบเลือกตั้ง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในการใช้อำนาจของทั้งสององค์กรนั้นจะต้องเคารพและรับผิดชอบต่อความต้องการโดยรวมของประชาชนเช่นกัน

อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการเชื่อมโยงกับประชาชนโดยฉันทานุมัติ นั่นคือประชาชนยอมมอบอำนาจในการปกครองบริหารประเทศไว้ให้เป็นการชั่วคราว คือแม้ไม่ได้เลือกตั้งหรือออกเสียงให้เข้ามาบริหารประเทศหรือออกกฎหมาย แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ออกมาต่อต้านอะไรวุ่นวายใหญ่โต เป็นการแสดงความยินยอมโดยปริยายเช่นว่านั้นเอง

ดังนั้น แม้ว่าจะเหมือนมีอำนาจ “ล้นพ้น” แต่ทั้ง คสช. หรือ สนช.เองก็ต้อง “ฟัง” กระแสประชาชนด้วย ซึ่งก็ปรากฏว่าที่ผ่านมานั้น ก็เคยมีกรณีที่ประชาชนไม่เห็นด้วย ฝ่ายผู้มีอำนาจก็ไม่ดื้อรั้นดันทุรังเหมือนที่เคยมีกรณีกฎหมาย GMO ที่มีผู้รู้ผู้เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปออกมาคัดค้านมากๆ รัฐบาลก็ “ถอย” ได้เหมือนกัน

ที่เกริ่นมายืดยาวก็เพราะว่า ขณะนี้ในแวดวงออนไลน์ในเครือข่ายสังคมต่างๆ มีการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฉบับใหม่

ตอนนี้เห็นว่ามีการล่ารายชื่อประชาชนที่ไม่เห็นด้วยได้เกินสามแสนรายชื่อแล้วนับว่าไม่ธรรมดา

จริงอยู่ว่า ผู้ที่เริ่มจุดประกายเรื่องนี้ขึ้นมานั้นเป็นเครือข่ายองค์กรนักกิจกรรมที่เป็นเหมือนเป็น “ไม้เบื่อไม้เมา” กับรัฐบาลมาก่อน อย่างเครือข่าย iLaw หรือเครือข่ายพลเมืองเน็ตและองค์กรนิรโทษกรรมสากล ซึ่งเป็นกลุ่มที่มักจะออกมาต่อต้านนโยบายในทางกฎหมายกับรัฐบาลบ่อยๆ ในประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ

แต่เมื่อประเด็นนี้ถูกจุดติดขึ้นมา จนมีประชาชนเข้าร่วมลงชื่อกันเป็นแสนๆ ก็คงต้องยอมรับว่าประเด็นนี้ “ไปไกล” กว่าเรื่องการคัดค้านของคนกลุ่ม “ขาประจำ” ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลแล้ว

ปัญหาสำคัญของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่นี้ คือเรื่องอำนาจของทางฝ่าย “รัฐ” ที่เหมือนจะมากเกินไป เข้ามาสอดส่องพฤติกรรมทางเครือข่ายออนไลน์ของประชาชนหรือเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้มากเกินไป สามารถปิดเว็บได้แม้ว่าเว็บนั้นจะไม่ได้กระทำผิดกฎหมาย เพียงแต่ขัดต่อศีลธรรมอันดีก็ปลิวได้

รวมถึงการตีความว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้มีความเชื่อมโยงกับเรื่อง Single Gateway หรือช่องทางกลั่นกรองข้อมูลออนไลน์ผ่านทางเข้าออกประตูเดียว ที่ประชาชนจำนวนมากเคยออกมาคัดค้านหรือระดมกันโจมตีด้วยการกด F5 ใส่เซิร์ฟเวอร์เครือข่ายของทางภาครัฐจนล่มกันไปหลายราย ซึ่งหลายคนคงยังจำได้

ดังนั้น เมื่อมีคนตั้งข้อสังเกตว่า บางมาตราในร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้มีลักษณะที่เหมือนกับให้อำนาจหน่วยงานของรัฐตั้งหรือบังคับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตได้ในลักษณะเดียวกับ Single Gateway นี้ เสียงคัดค้านก็ดังกระหึ่มขึ้น

เป็นกระแส “จุดติด” ไปทั่วในโลกออนไลน์ขณะนี้อย่างที่ได้กล่าวไป

โดยวาระแล้ว สนช.จะต้องพิจารณาเรื่องนี้ในวันนี้ (15 ธ.ค. 59) แต่ก็ได้ทราบว่ามีการเลื่อนไปพิจารณาเป็นวันพรุ่งนี้แทน

เป็นไปได้ว่ากระแสการต่อต้านของประชาชนจำนวนมากทำให้ สนช.อาจจะต้องหยุดรอฟังอยู่เหมือนกัน

เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า แม้การเข้ามาทำงานบริหารประเทศของทั้ง คสช. และ สนช.จะไม่ได้ “มาจากการเลือกตั้งโดยตรง” ของประชาชน

แต่การที่จะมีอำนาจอยู่ได้นั้น ก็จะต้องมาจากความเห็นชอบยินยอมของประชาชนส่วนใหญ่ด้วย

เรื่องของกฎหมายคอมพิวเตอร์นี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบันนี้วิถีชีวิตของคนในยุคนี้ มีอินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต เป็นเหมือนปัจจัยที่ 6 ที่ 7 เข้าไปแล้ว

กฎหมายดังกล่าวจึงมีผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การจะออกกฎหมายขึ้นมาต้องเป็นไปโดยรอบคอบ และฟังทุกฝ่าย

จริงอยู่ว่าแม้ว่าทางฝ่ายผู้ร่างจะ “คิดมาดีแล้ว” หรือมาตรการบางอย่างตามกฎหมายนั้นเป็นเรื่องที่แม้ประชาชนจะไม่ชอบแต่ก็เป็นเรื่องจำเป็น เพราะเป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศชาติหรือสถาบัน เช่น มาตรการต่างๆ ที่มีไว้เพื่อปราบปรามพวกเว็บหมิ่นสถาบันหรือผิดกฎหมายต่างๆ รวมถึงบางเรื่องก็เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนคนเล่นเน็ตเองนั่นแหละ เช่นมาตรการในการป้องกันการส่งข้อความแบบสแปมหรือการรบกวนกลั่นแกล้งกันทางอินเทอร์เน็ต

แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ทางฝ่ายผู้ผลักดันกฎหมายอาจจะจำเป็นต้องใช้เวลาสื่อสารเพิ่มเติมให้ประชาชนได้ทราบข้อเท็จจริงด้วย ว่ากฎหมายใหม่ที่จะใช้บังคับนั้นมีเนื้อหาอย่างไร แต่ละมาตรามีไว้เพื่อประโยชน์อะไร มีมาตราไหนเอื้อให้เปิด Single Gateway ได้จริงหรือเปล่า

เพราะที่ผ่านมา การสื่อสารเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีมาจากฝ่ายที่ “คัดค้าน” ไม่เห็นด้วยเท่านั้น ประชาชนส่วนใหญ่ก็ได้แต่ข้อมูลในทางร้ายๆ ของกฎหมายนี้ จึงแห่กันออกมาต่อต้านกันเป็นแสนๆ คนอย่างที่เห็น

อย่างนี้ก็จำเป็นต้องถอยออกมาตั้งหลักก่อน อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเสียฟอร์มอะไร ดีกว่าการดันทุรังผ่านกฎหมายไป ทั้งๆ ที่มีคนไม่เห็นด้วยกันเป็นหลักแสน เหมือนไม่เห็นหัวไม่ฟังเสียงประชาชน ซึ่งจะทำให้ความชอบธรรมของทั้ง คสช. และ สนช.เสียไป

ควรชิงถอยออกมาก่อนเพื่อลดแรงต้าน จากนั้นก็พยายามชิงพื้นที่ในการอธิบายชี้แจงกับประชาชนถึงความจำเป็นและประโยชน์ของกฎหมายนี้เท่าที่มี น่าจะดีกว่าหากอยากจะให้กฎหมายนี้ได้รับการยอมรับหรืออย่างน้อยก็ลดกระแสต้านจากประชาชน.
กำลังโหลดความคิดเห็น