xs
xsm
sm
md
lg

กาตาร์เลิกใช้ กม.กดขี่แรงงาน “คาฟาลา” กู้ภาพลักษณ์ก่อนเป็นเจ้าภาพบอลโลก 2022

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อิสซา บิน สะอัด อัล-จาฟารี อัล-นูอัยมี รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานกาตาร์ ประกาศยกเลิกระบบอุปถัมภ์ คาฟาลา ที่ถูกนานาชาติประณามว่าเป็นกฎหมายกดขี่แรงงานอย่างเป็นทางการ ที่กรุงโดฮา เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.
เอเอฟพี - รัฐบาลกาตาร์ยกเลิกระบบอุปถัมภ์ “คาฟาลา” ที่ให้สิทธินายจ้างขัดขวางไม่ให้แรงงานลาออกอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวานนี้ (12 ธ.ค.) ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปกฎหมายแรงงานครั้งใหญ่ที่สุด เพื่อต้อนรับการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2022

อิสซา บิน สะอัด อัล-จาฟารี อัล-นูอัยมี รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานกาตาร์ ระบุว่า กฎหมายคาฟาลาจะถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันอังคารที่ 13 ธ.ค.เป็นต้นไป โดยรัฐบาลจะหันมาใช้ระบบสัญญาจ้างเพื่อควบคุมแรงงานต่างชาติซึ่งมีอยู่ราวๆ 2.1 ล้านคนแทน

ภายใต้ระบบคาฟาลา แรงงานต่างชาติทุกคนจะต้องมี “ผู้อุปถัมภ์” ท้องถิ่น โดยอาจเป็นบุคคลหรือบริษัทก็ได้ และต้องได้รับอนุญาตจากนายจ้างก่อนจะเปลี่ยนงาน หรือเดินทางออกจากกาตาร์

ระบบนี้ถูกวิจารณ์ว่าไม่ต่างจากทาสสมัยใหม่ และทำให้แรงงานเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิด

“กฎหมายใหม่นี้เป็นมาตรการล่าสุดเพื่อยกระดับและปกป้องสิทธิแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในกาตาร์... คาฟาลาจะถูกแทนที่ด้วยระบบสัญญาจ้างที่ทันสมัย ซึ่งจะช่วยให้แรงงานได้รับการปกป้องสิทธิ และมีความยืดหยุ่นในการทำงานมากยิ่งขึ้น ” นูอัยมี กล่าว

เจ้าหน้าที่กาตาร์ยืนยันว่า กฎหมายใหม่รับรองเสรีภาพในการโยกย้ายที่อยู่ และยังให้สิทธิแก่แรงงานในการเปลี่ยนงานใหม่ด้วย

ลูกจ้างต่างชาติที่ถูกนายจ้างกดขี่ข่มเหงจะสามารถขอเปลี่ยนงานได้โดยอัตโนมัติ ส่วนการขอวีซาออกจากประเทศภายใต้ระบบคาฟาลาก็จะถูกยกเลิก ทว่าแรงงานยังต้องขออนุญาตจากนายเสียก่อน หากต้องการลากลับบ้าน

รัฐบาลกาตาร์ยังได้ตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อรับเรื่องร้องเรียนจากแรงงานต่างชาติที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ลา โดยจะเริ่มทำงานทันทีตั้งแต่วันนี้ (13)

นายจ้างที่ยึดหนังสือเดินทางของแรงงานจะมีโทษปรับ 25,000 ริยาล (ราว 242,000 บาท) เพิ่มขึ้นจากเดิม 10,000 ริยาลภายใต้ระบบคาฟาลา

เจ้าหน้าที่กาตาร์เผยว่า กฎหมายใหม่ยังให้ความคุ้มครองต่อแรงงานในเรื่องสัญญาจ้างมากขึ้นด้วย

ชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่เข้าไปทำงานในกาตาร์ โดยเฉพาะแรงงานก่อสร้าง มักร้องเรียนว่าถูกหลอกให้ทำสัญญาจ้างที่ระบุตัวเลขเงินเดือนสูงกว่าที่พวกเขาได้รับจริง

สถิติทางการระบุว่า มีแรงงานในกาตาร์ร้องเรียนว่าถูกนายจ้างล่วงละเมิดถึง 6,000 กรณีในปีที่แล้ว

ชัยค์ ทามีม บิน ฮามาด อัล-ษานี เจ้าผู้ครองนครกาตาร์คนปัจจุบัน ได้ประกาศกฎหมายแรงงานใหม่ซึ่งมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “กฎหมายฉบับที่ 21 แห่งปี 2015” ตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว

ระบบคาฟาลาก็ถูกองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติรุมประณามอย่างหนัก ตั้งแต่กาตาร์ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022

นูอัยมี ขอร้องให้บรรดานักวิจารณ์ลองให้เวลากาตาร์บังคับใช้กฎหมายแรงงานใหม่ไปสักระยะหนึ่ง

“เรายินดีรับคำชี้แนะหรือคำวิจารณ์ที่สร้างสรรค์... แต่ก็ขอให้ประชาคมโลกอย่าเพิ่งด่วนสรุป จนกว่ากฎหมายใหม่จะเห็นผลอย่างชัดเจน”

อย่างไรก็ตาม องค์การนิรโทษกรรมสากล (เอไอ) ซึ่งเคยกล่าวหารัฐบาลกาตาร์ว่าปล่อยให้มีการ “บังคับใช้แรงงาน” เมื่อต้นปีนี้ ได้ออกรายงานตอบโต้ทันทีว่า การปฏิรูปกฎหมายครั้งนี้จะไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม

“กฎหมายใหม่อาจจะตัดคำว่าผู้อุปถัมภ์ทิ้งไป แต่ระบบเดิมๆ ก็ยังคงอยู่” เจมส์ ลีนช์ รองผู้อำนวยการเอไอประจำภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ระบุ

“เป็นเรื่องดีที่รัฐบาลกาตาร์ยอมรับว่ากฎหมายของพวกเขาเปิดช่องให้แรงงานถูกล่วงละเมิด แต่ความเปลี่ยนแปลงแค่นี้ยังไม่เพียงพอ และชะตากรรมของแรงงานก็ยังต้องขึ้นอยู่กับความเมตตาของนายจ้างที่จ้องแต่จะแสวงหาประโยชน์”

เอไอ ยังฝากเตือนไปถึงสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟา) และผู้สนับสนุนว่าอย่าด่วนออกมาสรุปว่าการปฏิรูปกฎหมายแรงงานครั้งนี้ “สามารถแก้ไขปัญหาแรงงานถูกล่วงละเมิด” ได้ทันเวลาก่อนถึงปี 2022

กำลังโหลดความคิดเห็น