กรธ. ไม่สนใจ พท. เมินร่วมถกร่าง พ.ร.ป. พรรคการเมือง เพราะมีคนเข้าร่วมเยอะ ตอกพวกบ่นจ่ายเงินบำรุงพรรค ถ้าทำการเมืองแล้วควักแค่นี้ไม่ได้ชีวิตอยู่ยาก บอกถ้ากลัวอย่าแรงก็ไม่ต้องทำผิด
นายปกรณ์ นิลประพันธ์ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์กรณี กรธ. ส่งหนังสือเชิญพรรคการเมืองร่วมเเสดงความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองวันที่ 14 ธ.ค. ว่า ได้ยินมาว่า มีผู้ตอบรับเข้าร่วมมาเยอะ เพราะมีผลกระทบกับพรรคการเมือง แต่ตนไม่ทราบตัวเลขเเน่ชัดว่ามีพรรคใดบ้าง ส่วนกรณีพรรคเพื่อไทยประกาศไม่มาร่วมนั้น ใครไม่ร่วมเราไม่สนใจ เราทำใจเเล้ว ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่แค่คอยต่อว่า แต่ต้องใช้เหตุผล ตีกันเหมือนเดิมไม่ได้ ต้องจูงมือไปด้วยกัน หมดยุคทะเลาะเบาะแว้งแล้ว ไม่เห็นด้วยเรื่องไหน น่าจะเข้ามาบอกเหตุผลการคัดค้านว่าจะเกิดผลร้ายต่อประชาธิปไตยอย่างไร
นายปกรณ์ กล่าว่า กรณีพรรคการเมือง วิจารณ์เรื่องการกำหนดจัดตั้งสาขาพรรค การจ่ายเงินบำรุงพรรค ใน พ.ร.บ. พรรคการเมืองนั้น ตนไม่เข้าใจเหมือนกัน คนมีอุดมการณ์เดียวกัน ต้องส่งเสริมให้มีส่วนร่วม รวมกลุ่มกันจัดตั้งพรรคการเมืองได้มิใช่หรือ
“เงิน 100 บาท จะว่ามากก็มาก จะว่าน้อยก็น้อย เชื่อว่า พรรคเก่าๆ ไม่มีปัญหา เขากันเงินที่มีอยู่เดิมมาเป็นทุนประเดิมได้ ขนาดเบียร์ 3 ขวดร้อยกว่าบาท ยังซื้อกินได้ จะทำการเมืองแล้วยังบ่น สละเงินร้อยกว่าบาทไม่ได้ ผมว่าชีวิตอยู่ยากแล้ว เรากำลังร่วมทำให้บ้านเมืองดีขึ้น ไม่ต้องการให้ใครกว้านซื้อชื่อคนมารับเงินกองทุนจาก กต. เหมือนอดีต หัวใจหลักของกฎหมายพรรคการเมือง คือ โปร่งใส มีส่วนร่วม และตรวจสอบได้ ไม่ให้ใครทำไม่ดีเหมือนอดีต ถ้าพรรคการเมืองยังยึดติดเเบบเดิมคงไม่เหมาะสมกับยุคนี้ แบบนั้นเป็นสมัยโบราณ”
ส่วนที่นักการเมืองบ่นเรื่องกำหนดยาเเรง เช่น กรรมการบริหารพรรคอาจต้องพ้นตำแหน่ง และถูกเเบน กรณีสมาชิกพรรค หรือผู้มีตำแหน่งในพรรคเกี่ยวข้องกับการโกงเลือกตั้งนั้น นายปกรณ์ กล่าวว่า หลักการกำหนดโทษ คือ ใครผิด คนนั้นรับโทษไป ไม่มีขายเหมายุบพรรคเหมือนก่อน ถ้าทำผิดเเบบที่เราห้าม เเล้วรู้ว่าผิดโดยฝืนทำ รู้เห็นเป็นใจ ยังควรให้ยุ่งการเมืองอีกหรือ หลักง่ายๆ คือ อย่าทำผิด ถ้าไม่ทำผิดไม่เห็นต้องกลัว เรากำหนดให้ส่งศาลเป็นผู้วินิจฉัยด้วยเพื่อความยุติธรรม โทษประหารมาจากการซื้อขายตำแหน่ง ถ้าศาลเห็นว่ารุนเเรงปล่อยเอาไว้ไม่ได้ก็โดน ในประมวลกฎหมายอาญาก็มีกำหนดโทษลักษณะนี้ และเอาไว้ใช้กับข้าราชการ
“ที่ผ่านมา ไม่เห็นมีใครบ่น แล้วนักการเมืองมาบ่นทำไม คุณเรียกร้องให้ข้าราชปฏิรูปโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่เห็นต้องเหนียมอาย จะเรียกร้องคนอื่นต้องทำเป็นตัวอย่างก่อน ว่า ด้วยเหตุผลไม่ใช่โกรธเคือง ถ้าคนบริหารพรรคทำผิด รู้กัน ปล่อยปละละเลย ไม่ระงับยับยั้ง จะมาบ่นเรื่องยาแรงอีก ผมอยากให้ประชาชนดู จับตาเอาไว้ สิ่งที่นักการเมืองพูดเหมาะสมหรือไม่ ประชาชนชอบให้มีการทุจริตไหม ถ้าชอบ ไม่ต้องเอากติกาแรงแบบนี้”