รักษาการประธานผู้ตรวจฯ ยัน 2 ผู้ตรวจการแผ่นดินไร้ปัญหาคุณสมบัติตามร่าง รธน.ใหม่ ซ้ำได้เพิ่ม 3 ภาระหน้าที่สำคัญ เผยผลดำเนินการตำรวจถูกร้องเรียนมากสุด ขณะที่หน่วยงานเป็น มท. พร้อมเตรียมเปิดแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์รับเรื่องร้องเรียน และลงนามความร่วมมือกับต่างประเทศ
วันนี้ (7 ธ.ค.) พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงคุณสมบัติของผู้ตรวจการแผ่นดินตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ว่าตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่กำหนดไว้เพียงว่าผู้ตรวจการแผ่นดินต้องมีความซื่อสัตย์ สุจริต มีประสบการณ์เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่เทียบได้ไม่ต่ำกว่ากรม เป็นผู้มีประสบการณ์ในการดำเนินการกิจการอันเป็นสาธารณะมาแล้วไม่น้อยกว่า 20 ปี ในส่วนของผู้ตรวจฯ 2 คนที่ดำรงตำแหน่งในปัจจุบันไม่มีปัญหา เพราะอย่างท่านดุลย์ ฐาปนดุลย์ เคยเป็นอธิบดีศาลอาญาและดำรงตำแหน่งเกินกว่า 5 ปี ส่วนตนก็เป็นเจ้ากรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศ กระทรวงกลาโหม ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม ในอัตราจอมพล ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งเกินกว่า 5 ปีอยู่แล้ว ผู้ตรวจทั้งสองคนจึงไม่มีปัญหาเรื่องการขัดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งตามที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนด ส่วนผู้ตรวจฯอีกหนึ่งคนตามร่างรัฐธรรมนูญกำหนดว่าต้องมาจากผู้มีประสบการณ์ในการดำเนินกิจการสาธารณะมาแล้วไม่น้อยกว่า 20 ปี ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการสรรหาว่าจะมีข้อกำหนดอย่างไร
ส่วนอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น แม้ผู้ตรวจการแผ่นดินจะไม่มีอำนาจในการตรวจสอบด้านจริยธรรม รวมทั้งเรื่องการติดตามการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ แต่มีขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่สำคัญเพิ่มมากขึ้น คือ 1. ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่เป็นภาระของประชาชน 2. ตรวจสอบปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอันมาจาการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ของเข้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานรัฐ ไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ และ 3. การให้ข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ทราบถึงหน่วยงานของรัฐที่ยังปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่ครบถ้วนตามหมวด 5 ที่ของรัฐ ทั้งเรื่อง รัฐต้องจัดการศึกษาภาคบังคับ 12 ปี เรื่องของการสาธารณสุข เรื่องการอณุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ การรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี รักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเรื่องเหล่านี้เกี่ยวข้องกับประชาชนและหน่วยงานรัฐโดยตรง ทั้งนี้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้เตรียมความพร้อมในเรื่องนี้แล้ว โดยได้ตั้งคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างและการบริหารจัดการของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ เจ้าหน้าที่ของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินจะพร้อมทำงานในภารกิจตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้อย่างเต็มที่แน่นอน
พล.อ.วิทวัสยังได้แถลงถึงการผลการดำเนินการของผู้ตรวจการแผ่นดินตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2558 ถึงปัจจุบัน มีเรื่องร้องเรียนจำนวน 6,897 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 3,768 เรื่อง อยู่ระหว่างดำเนินการ 3,129 เรื่อง ส่วนสถิติเรื่องร้องเรียนตั้งแต่ก่อตั้งสำนักงานปี 2543 จนถึงปัจจุบัน รับเรื่องร้องเรียนจำนวน 40,334 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 37,547 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 93.09 ทั้งนี้ในส่วนของประเด็นที่มีการร้องเรียนสูงที่สุดเป็นเรื่องเกี่ยวกับตำรวจ รองลงมาเป็นเรื่องการเมืองและการปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนเรื่องที่ดิน หากแบ่งเป็นหน่วยงานพบว่ากระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดรองงมาคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ผ่านมาได้น้อมนำพะบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาเป็นหลักในการปฏิบัติภารกิจเพื่อแก้ไขเยียวยาบรรเทาทุกข์ของประชาชน และมีการยกระดับ พัฒนางานด้านสอบสวนให้เทียบเท่าสากล มีการดำเนินการอย่างรัดกุม ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากร โดยล่าสุดมีการระบบรับเรื่องร้องเรียนในรูปแบบแอปพลิเคชันสำหรับสมาร์ทโฟน ชื่อ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ซึ่งรองรับระบบปฏิบัติการ ios และ Andriod นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาระบบติดตามผลการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมไปถึงความร่วมมือกับต่างประเทศนั้น ได้มีการลงนามความร่วมมือกับสาธารณรัฐเกาหลีใต้ และสาธารณรัฐอินโดนีเซีย เพื่ออำนวยความสะดวกในการแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมและความเดือดร้อนของประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศคู่ภาคี