xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ร้องนายกฯ สร้างโรงไฟฟ้า LNG แทนถ่านหิน ตัดปัญหากระทบท่องเที่ยว-สุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กรณ์-ถาวร” ยื่นหนังสือ “ประยุทธ์” พิจารณาแผนโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่สงขลา-กระบี่ เหตุ ปชช.กังวลกระทบท่องเที่ยว-สุขภาพ ยกตัวอย่างโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ลำปาง แนะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมเชื้อเพลิงแอลเอ็นจีแทน มองลดความเสี่ยงมากกว่า

วันนี้ (7 ธ.ค.) เมื่อเวลา 10.20 น. ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงาน ก.พ. นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้พิจารณาแผนโครงการสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงถ่านหิน ที่ อ.เทพา จ.สงขลา และ จ.กระบี่ เป็นสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมเชื้อเพลิง (LNG)

โดยนายถาวรกล่าวว่า จากที่รัฐบาลมีความคิดที่จะหาแหล่งพลังงานซึ่งทางพรรคสนับสนุนและเห็นด้วย ควรทำอย่างยิ่ง สำหรับการดำเนินการมีทั้งด้านดีและด้านเสีย แต่การสร้างโรงงานไฟฟ้าถ่านหินนั้น ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่มีความเป็นกังวล โดยมีการแสดงออกในหลายรูปแบบ และไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ซึ่งประชาชนกังวลในเรื่องบรรยากาศของการท่องเที่ยว ที่สำคัญคือเรื่องของสุขภาพอนามัย เพราะเห็นตัวอย่างจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง ที่ประชาชนได้รับผลกระทบมาแล้ว ทั้งนี้ตนอยากให้นายกฯ ทบทวนด้วยว่ามีทางเลือกอื่นให้ประชาชนอีกหรือไม่

ด้านนายกรณ์กล่าวว่า ข้อเสนอของทางพรรคที่เห็นว่าควรเปลี่ยนการสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงถ่านหินมาสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมเชื้อเพลิงแอลเอ็นจีแทน เพราะสาเหตุหลักเนื่องจากแอลเอ็นจีเป็นเชื้อเพลิงที่มีแหล่งผลิตที่หลากหลาย ไม่ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตรายใดรายหนึ่ง หรือภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง มีตลาดซื้อขายที่พัฒนาจึงทำให้ลดความเสี่ยงในด้านการจัดหา และเป็นการกระจายความเสี่ยงในเรื่องแหล่งผลิต นอกจากนี้ราคาแอลเอ็นจี และราคาถ่านหินในปัจจุบัน ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากแอลเอ็นจี ใกล้เคียงหรือต่ำกว่าต้นทุนการผลิตจากถ่านหิน รวมถึงเงินลงทุนในการสร้างโรงไฟฟ้าแอลเอ็นจีต่ำกว่าเงินลงทุนในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ทั้งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแอลเอ็นจี ใช้ระยะเวลาในการขออนุญาตก่อสร้างเพียง 48 เดือน ถ้าเทียบกับระยะเวลาในการขออนุญาต และก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่นานถึง 80 เดือน และการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแอลเอ็นจีในภาคใต้จะเสริมความมั่นคงให้ประเทศ จากปัจจุบันที่มีการนำเข้าแอลเอ็มจีที่ จ.ระยองเพียงจุดเดียว อย่างไรก็ตาม การยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นการแสดงจุดยืนที่ชัดเจน ในการแสดงความตั้งใจลดภาวะเรือนกระจก









กำลังโหลดความคิดเห็น