xs
xsm
sm
md
lg

วิป สนช.เห็นชอบแก้คำนิยามร่าง พ.ร.บ.ปิโตรฯ เร่งส่งกลับ ครม. “หมอเจตน์” ยังขอดันตั้งบรรษัท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
โฆษกวิป สนช.เผยที่ประชุมเห็นชอบแก้ไขหลักการร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พร้อมเร่งประสาน “สุวพันธุ์” ชงเข้า ครม.ด่วน “หมอเจตน์” สงวนคำแปรขออภิปรายในวาระ 2 ดันตั้งบรรษัทคุมระบบพีเอสซีในร่าง กันเบี้ยว ระบุแค่เขียนข้อสังเกตพ่วงท้ายร่างไม่มีผลทางกฎหมาย เข้าใจ รบ.อยากให้จบเร็ว แต่ก็ต้องรักษาผลประโยชน์ชาติ

วันนี้ (30 พ.ย.) น.พ.เจตน์ ศิรธานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) เผยว่าที่ประชุมวิป สนช.ได้พิจารณาเห็นชอบเรื่องที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ในประเด็นเห็นชอบให้นิยามคำว่า “service contract” จาก “จ้าง สำรวจ ผลิต” มา เป็น “จ้าง บริการ” เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนการพิจารณากฎหมายคือ หากเป็นการแก้ไขในหลักการจะต้องส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติก่อน โดยจะประสานไปยังวิปรัฐบาล แต่บังเอิญวิปรัฐบาลหยุด 2 อาทิตย์ จึงต้องใช้วิธีประสานไปยัง ครม.โดยตรงและให้นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจําสํานักนายกรัฐมนตรี นำเรื่องเข้า ครม.ทันที เพราะเกรงว่าหากช้าเกินไปจะมีผลกระทบต่อเรื่องการประมูลสัมปทานรอบที่ 21 ได้ ซึ่งเมื่อ ครม.มีมติแล้วก็จะส่งกลับมาที่วิป สนช. เพื่อส่งต่อไปยัง กมธ.วิสามัญฯ เป็นลำดับต่อไป

นพ.เจตน์กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้มีกรรมาธิบางส่วนที่เป็นเสียงข้างน้อยเห็นด้วยกับคำแปรญัตติของตน เรื่องการแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) ที่ในร่างเดิมให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเป็นหน่วยทำหน้าที่บริหารจัดการทำสัญญากับบริษัทน้ำมันต่างประเทศ แต่ตนเห็นว่าไม่เหมาะสม เพราะไม่คล่องตัวและเป็นหน่วยงานที่ไปสู้กับบริษัทข้ามชาติลำบาก จึงเสนอว่าควรจะมีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ โดยอาจให้ ปตท.ทำหน้าที่นี้ หรือจะตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่ ซึ่งตนรอดู กมธ.ว่าจะมีมติอย่างไร หากไม่มีการบัญญัติไว้ในร่าง พ.ร.บ.ก็จะขอไปอภิปรายในที่ประชุม สนช.ในการพิจารณาวาระ 2

“ถ้าไม่เขียนไว้ในในร่างฯ เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะมีการตั้งบรรษัท ผมต้องการให้ระบุไว้เลย หากกรรมาธิการวิสามัญฯ โหวตว่าไม่ต้องเขียนไว้ในร่าง ถ้ามีผ่านสภาและประกาศใช้แล้ว มั่นใจได้เลยว่าไม่มีการตั้งบรรษัทแห่งชาติแน่นอน แม้รัฐมนตรีพลังงานจะสัญญาในสภาตอนพิจารณาวาระ 1 ว่าจะมีก็ตาม ตอนนี้บอกอยู่ระหว่างการศึกษาก็ไม่รู้จะทันหรือเปล่า หากไม่ทันแล้วเกิดมีรัฐบาลใหม่แล้วเขาไม่เอาจะทำอย่างไร เพราะไม่มีกฎหมายไปบังคับ จึงต้องเขียนไว้ในกฎหมาย แค่เขียนข้อสังเกตไว้ท้ายร่าง พ.ร.บ.มันไม่พอ เพราะใช้ในทางกฎหมายไม่ได้ แม้จะเข้าใจรัฐบาลว่าต้องการจะให้จบเรื่องนี้ภายในเดือนธันวาคมก็ตาม เพราะหากล่าช้ามันกระทบต่อการประมูลและสร้างความเสียหายเยอะ แต่ผมก็อยากจะรักษาผลประโยชน์ให้กับประเทศด้วย” นพ.เจตน์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น