xs
xsm
sm
md
lg

อุทยานฯ รับไม่ได้ แบ่งเงินพันล้านให้ อบต.40% ยันภาระเยอะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมอุทยานฯ โยน “บิ๊กเต่า” ตัดสินใจ ทำตามมติ ก.ก.ถ.จัดสรรรายได้ “ค่าธรรมเนียมพันล้าน” เพิ่มให้ อบต. 40% ชี้อุทยานฯ 148 แห่ง ถัวเฉลี่ยเก็บได้มากน้อยดูแลกันเอง ย้ำ 5% ให้ท้องถิ่นเหมาะสมแล้ว ยันอุทยานมีภาระที่จะต้องนำไปใช้อีกมาก

วันนี้ (28 พ.ย.) มีรายงานจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าจากกรณีคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นชอบให้เสนอกระทรวงมหาดไทยแก้ไขกฎกระทรวงฯ ให้แบ่งเงินรายได้ค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานแห่งชาติให้แก่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) จากเดิมร้อยละ 5 เพิ่มเป็นร้อยละ 40

โดยจะทำให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 679 แห่ง จะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติและตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 โดยเฉพาะปี 2559 (ตุลาคม 2558 - สิงหาคม 2559) สามารถจัดเก็บได้ถึง 1,963.695 ล้านบาท มากกว่าปี 2558 ถึง 1,067 ล้านบาทนั้น

อ่านข่าวประกอบสั่ง มท.แบ่งรายได้อุทยานฯ ให้ อบต.จาก 5% เป็น 40% http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9590000118586

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า มติที่ประชุมเป็นเพียงข้อเสนอของ ก.ก.ถ. ดังนั้นจึงไม่เกี่ยวและไม่สามารถบังคับกรมอุทยานฯ ได้ จึงต้องรอสั่งจาก พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น

“ความจริงแล้วทางองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น อยากจะได้อะไร อยากให้อุทยานทำอะไร หรือขอความร่วมมืออะไร ควรจะมาพูดมาหารือกัน ไม่ใช่ไปประชุมแล้วยื่นข้อเสนอมาแบบนี้ซึ่งเป็นเรื่องที่อุทยานทำให้ไม่ได้เลย สำหรับส่วนแบ่ง 5% ที่ให้แต่ละ อบต.นั้น เหมาะสมดีแล้ว”

ทั้งนี้ เงินรายได้ของกรมอุทยานฯ มีแผนจัดการชัดเจนในรูปแบบของคณะกรรมการติดตามผลการจัดเก็บเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ เช่น นำมาพัฒนาอุทยาน ซ่อมบ้านพัก ห้องสุขา จัดการระบบกำจัดขยะในพื้นที่ ดูแลนักท่องเที่ยว ซึ่งที่เห็นตัวเลขว่ามีบางอุทยาน 1-10 มีรายได้จำนวนมากถือเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่กรมอุทยานแห่งชาติฯ มีอุทยานในความดูแล 148 แห่ง ใช่ว่าทุกแห่งจะมีรายได้ดีทั้งหมด ส่วนที่มีรายได้ดี เงินรายได้ก็ต้องไปถัวเฉลี่ยดูแลอุทยานที่มีรายได้น้อยด้วย

อย่างไรก็ตาม กรมอุทยานฯ มีหน้าที่ดูแลทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นสมบัติของทุกคน และเงินรายได้อุทยาน ที่อุทยานแบ่งให้ท้องถิ่นละ 5% ถือเป็นความเหมาะสมดีแล้ว 40% ถือว่ามากเกินไป จะเอาที่ไหนให้ เพราะอุทยานมีภาระที่จะต้องนำไปใช้อีกมาก

มีรายงานว่า เมื่อต้นปีที่ผ่านมา พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เคยแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการบริหารงานของกรมอุทยานฯ โดยเฉพาะการทุจริตเงินรายได้อุทยานฯ จนเกิดเป็นกระแสสังคม โดยในสมัยนั้นมีการแต่งตั้งนายเกษมสันต์ จิณณวาโส อดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ เป็นประธานเพื่อตรวจสอบเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยาน การจัดเก็บรายได้อุทยาน พร้อมเสนอแนะวิธีการดำเนินงานให้มีความโปร่งใส การสร้างความสามัคคีภายในองค์กร

ที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้ตรวจสอบเงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานย้อนหลัง 2 ปี จนพบว่ากรมอุทยานฯ มีรายได้อุทยานเพิ่มสูงมากขึ้น และมีการจัดทำโครงการต่างๆ ภายในอุทยานในด้านต่างๆ

ขณะที่ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) เคยเสนอรัฐบาลให้ตรวจสอบการจัดเก็บรายได้ค่าเข้าชมอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศในแต่ละปี เนื่องจากกรมอุทยานฯ รายงานจัดเก็บรายได้เฉลี่ย 200-400 ล้านบาท/ปี สวนทางกับจำนวนนักท่องเที่ยวคนไทยและต่างชาติที่เข้าชมอุทยานมากกว่า 80% ของการเดินทางทั้งหมด

สำหรับ นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยาน เคยตั้งกรรมการสอบหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ 3 แห่ง คือ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี อุทยานแห่งชาติสิมิลัน และอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ข้อหาคอรัปชัน มาแล้วแม้อุทยานแห่งชาติดังกล่าว ทำรายได้รวมมหาศาลภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น