“ประยุทธ์” ขอพี่น้อง ปชช.ยึดมั่น ทำนุบำรุงชาติ ศาสน์ กษัตริย์ น้อมนำ “ศาสตร์ของพระราชา” มาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตอย่างเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ด้วยความเพียรอันบริสุทธิ์ เพื่อสืบสานพระบรมราชปณิธาน และเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของราชอาณาจักรไทยสืบไป ชี้รัฐบาลน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” มาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน ขอ ปชช.ร่วมมือ 9 ข้อ เพื่อให้เกิดผลจากการทำงานที่เป็นรูปธรรม มีผลสัมฤทธิ์
วันนี้ (25 พ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติอย่างยั่งยืน” ว่า “สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน กิจกรรรม “รวมพลังแห่งความภักดี” ในวันอังคารที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้นเป็นกิจกรรมแห่งชาติที่รัฐบาลร่วมกับประชาชนคนไทยทุกภาคส่วน ทุกหมู่เหล่า ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา บนแผ่นดินไทย อันเป็นสุวรรณภูมิของเราแห่งนี้นะครับ ในการที่จะรวมพลัง เพื่อแสดงออกซึ่งความจงรักภักดี และความกตัญญูกตเวที แด่สถาบันพระมหากษัตริย์ ในพระบรมราชจักรีวงศ์ทุกพระองค์ที่ดำเนินการอย่างพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศ อย่างสมพระเกียรติ สง่างาม และเป็นระเบียบเรียบร้อย รวมทั้งยังเป็นการแสดงออกถึงความรู้รัก สามัคคี และมีวินัยของคนในชาติอีกด้วยนะครับ
ทั้งนี้ สถาบันพระมหากษัตริย นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์แห่งการดำรงอยู่ของชาติไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 800 ปีแล้วก็ตาม ก็ยังคงเป็นสถาบันหลักในการสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่น เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งชาติ และเป็นสายธารอันชุ่มฉ่ำแห่งการพัฒนาความเป็นอยู่ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของปวงชนชาวไทย อย่างยั่งยืนตลอดไป ดังบทประพันธ์ตอนหนึ่งของ ดร.อภิชาติ ดำดี ที่ว่า “แม้ไม่มีราชาผู้สามารถ จะเป็นชาติมีชื่อหรือไฉน ที่วันนี้ยังมีประเทศไทย ใครหนอใครฝ่าฟันสร้างกันมา” สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันความผูกพันของสถาบันพระมหากษัตริย์ กับสังคมไทยอย่างแน่นแฟ้น ตลอดประวัติศาสตร์ชาติไทย
ในการนี้ ผมขอให้พี่น้องประชาชนทุกคน ได้ยึดมั่น ในสิ่งที่ทุกท่านได้เปล่งสัจวาจา ถวายสัตย์ปฏิญาณ เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่าจะซื่อตรง จงรักภักดี ต่อพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าทุกพระองค์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ จนกว่าชีวิตจะหาไม่ จะปฏิบัติหน้าที่พลเมืองที่ดี ด้วยการเคารพกฎหมายอย่างเคร่งครัด
จะรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาประเทศ อย่างสมดุล และยั่งยืน จะร่วมกันปฏิรูปประเทศ และสนับสนุนให้มีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย ปกครองประเทศ ด้วยหลักนิติธรรม มีธรรมาภิบาล จะเป็นคนดี มีคุณธรรม ร่วมกันนำพาประเทศชาติ ไปสู่อนาคตและความสงบสุขที่ยั่งยืน จะรู้รักสามัคคี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน และจะประพฤติปฏิบัติตน ตามรอยพระยุคลบาท ในแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยน้อมนำ “ศาสตร์ของพระราชา” มาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต ด้วยความเพียรอันบริสุทธิ์ เพื่อสืบสานพระบรมราชปณิธาน และเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของราชอาณาจักรไทยสืบไป
ผมขอขอบคุณนะครับ ทุกภาคส่วน รวมทั้งพี่น้องประชาชนทุกคน ทั้งที่ร่วมกิจกรรมแห่งชาติครั้งนี้ ณ สถานที่ราชการ สถานประกอบการ และสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศ อันเชื่อมโยงความผูกพันทางจิตใจของพสกนิกรชาวไทยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งเจ้าหน้าที่ ซึ่งอยู่ระหว่างปฏิบัติงานในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรม ณ พื้นที่ที่กำหนด
ผมเชื่อมั่นว่า ทุกคนนั้นสามารถแสดงออกถึงความจงรักภักดีแด่สถาบันพระมหากษัตริย์ได้ อย่างไร้ขีดจำกัดด้านเวลาและสถานที่นะครับ ในการนี้ ผมขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในประเทศ และที่อยู่ต่างประเทศ กรมประชาสัมพันธ์ สถานีวิทยุโทรทัศน์ และสื่อมวลชนทุกแขนง ที่ได้ช่วยกันนำภาพพลังแห่งความจงรักภักดีทั้งจากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ และทั่วทุกมุมโลก ปรากฏสู่สายตาชาวไทย และชาวโลก ได้อย่างงดงาม และมีความหมายนะครับ
สำหรับวันนี้ผมขอยกครอบครัวของ ร.ต.อ.หญิง วิภารัตน์ กากแก้ว เป็นตัวอย่างครอบครัวข้าราชการชั้นผู้น้อย ที่น้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” หลายแขนง มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และในชีวิตรับราชการ รวมทั้งสอนลูกๆ ให้รู้จักการใช้ชีวิตในวิถีพอเพียงบนพื้นที่ 20 ไร่ของครอบครัว ดำเนินการตาม “เกษตรทฤษฎีใหม่” โดย แบ่งพื้นที่สำหรับปลูกบ้าน 1 หลัง, ทำนา 13 ไร่, ขุดบ่อเลี้ยงปลา 4 บ่อ และพื้นที่ที่เหลือ ทำยุ้งฉาง เลี้ยงสัตว์ และทำ “สวนเกษตรแบบผสมผสาน”
ในการปลูกพืชผักสวนครัว ทั้งกินเอง ทั้งขายเป็นรายได้เสริม ทั้งทำบุญ และแจกญาติพี่น้อง แลกเปลี่ยนพืชผลกันในตลาดชุมชน ตามวิถีไทย ที่ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ทั้งหมดเป็นการทำ “เกษตรอินทรีย์” แบบครบวงจร ในครัวเรือน โดยใช้ปุ๋ยคอกจากมูลไก่ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี, ดำนาเอง, เก็บเกี่ยวเอง และสีเป็นข้าวสาร เก็บไว้ในยุ้งฉาง สำหรับกินเองได้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ มีการทำ “บัญชีครัวเรือน” ทำให้รู้และลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ที่ฟุ่มเฟือย และหารายได้เสริมให้เพียงพอต่อรายจ่ายที่จำเป็น โดยมีการเก็บออมไว้ 25% สำหรับใช้จ่าย ยามฉุกเฉิน เจ็บป่วย หรือในยามชรา
ทั้งนี้ ครอบครัวของ ร.ต.อ.หญิง วิภารัตน์ ได้ยึด “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ตามแนวทางพระราชดำริ จนประสบความสำเร็จ ทำให้สามารถทุ่มเทกับงานในเวลาราชการ และใช้นอกเวลาราชการทำ “ไร่นาสวนผสม” ใช้ชีวิตแบบพอเพียง ไม่ยึดติดลาภยศ ชีวิตก็มีความสุข ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ผมเห็นว่า เป็นแนวทางที่สร้างความเข้มแข็ง ในระดับ “ครัวเรือน” ของสังคมไทย ได้อย่างยั่งยืนนะครับ หากเราได้น้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ไปสู่การปฏิบัติอย่างเข้าใจ ที่สำคัญ ผมเห็นว่าเป็นการเอาชนะ “กิเลส” ที่เป็นสนิมในจิตใจ และเอาชนะการทุจริตที่เป็นสนิมในสังคมไทยได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย
ผมขอเป็นกำลังใจให้แก่พี่น้องประชาชน และข้าราชการ ที่ได้น้อมนำ “แนวทางของพ่อ” ไปสู่การปฏิบัติ ด้วยความเพียรอันบริสุทธิ์ ให้ประสบความสำเร็จ เพราะเป็นครรลองที่ถูกที่ควร สำหรับข้าราชการ “บางส่วน” ที่ยังหลงผิด ใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ เรียกรับผลประโยชน์ มีอิทธิพลเหล่านั้น ที่ยังจมอยู่ในกองกิเลส เช่น กลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ในหัวเมืองท่องเที่ยว ในบริเวณเช่น หาดใหญ่ พัทยา หัวหิน และพื้นที่เศรษฐกิจอื่นๆ ทั่วประเทศนะครับ
ทุกครั้งที่ผมได้รับรายงาน แม้ว่าจะเป็นเพียงส่วนน้อย บางคนเท่านั้น ก็รู้สึกไม่สบายใจ ผมคิดว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ไม่สบายใจนะครับ เราก็ต้องช่วยกันรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ผู้ที่กระทำผิดก็ต้องถูกลงโทษขอให้ปรับปรุงตัว และยึดมั่นในสัจวาจา ที่ตนได้ถวายคำสัตย์ปฏิญาณ เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ด้วยนะครับ
พี่น้องประชาชนครับ ในระดับรัฐบาลนั้น เราได้มีแนวทางในการน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” มาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้เกิดผลจากการทำงานที่เป็นรูปธรรม มีผลสัมฤทธิ์ เป็นเครื่องประกันความสุขของทุกคนได้ เพียงแต่ขอสร้างความเข้าใจ และขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนทุกคนในเรื่องต่างๆ ดังนี้
เรื่องที่ 1 นะครับ ขอให้มีการปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ โดยมีการลดอัตตาลงไปนะครับ มองให้เห็นถึงความสัมพันธ์ ความเชื่อมโยงให้มากขึ้น เป็นการสร้าง เหมือนภาษาอังกฤษที่เรียกว่า Mindset ใหม่นะครับ ในกระบวนการคิดของคนไทย เพราะทุกกิจกรรม ทุกมิติในโลกนับจากนี้ต่อไป เราไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่ต้องการการเชื่อมโยง การสร้างเครือข่าย การรวมตัวกัน เราจึงจะเดินหน้า ขับเคลื่อน ไปได้ ตลอดรอดฝั่ง อาทิ การที่เราสร้างกลไก “ประชารัฐ”, การรวมกลุ่มสหกรณ์, การสร้างห่วงโซ่คุณค่า ทั้งต้นทาง กลางทาง ปลายทาง และตลาดชุมชน ที่ต่อไปนั้นจะต้องใช้เป็นสถานที่จับคู่ทางธุรกิจ เป็นวงจรธุรกิจระดับฐานราก เป็นต้น ต้องให้ความสำคัญกับทักษะการทำงานเป็นทีม ซึ่งต้องปลูกฝังเยาวชนของเรา ตั้งแต่ในสถานศึกษาทุกระดับตั้งแต่วันนี้นะครับ
เรื่องที่ 2 ขอให้ทำความเข้าใจ พินิจพิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง ถึงผลกระทบจากทุกกิจกรรมที่มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน ว่าย่อมจะมีผู้ได้ประโยชน์ ผู้เสียประโยชน์ เพราะการที่เราจะปรับเปลี่ยน, การปฏิรูป หรือการสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นนั้น ย่อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ในระยะต่างๆ แต่จุดหมายปลายทางแล้ว ย่อมจะนำพาไปสู่สิ่งที่ดีกว่า และการพัฒนาที่ยั่งยืน อาทิเช่น ในการดำเนินการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กกว่า 15,000 แห่ง ทั่วประเทศ ของกระทรวงศึกษาธิการนั้น
ในระยะแรกอาจส่งผลกระทบ เป็นรายบุคคล รายครอบครัว เพราะต้องปรับตัว ในเรื่องการใช้ชีวิตและค่าใช้จ่าย เพื่อแลกกับสิ่งที่ได้มา ก็คือ คุณภาพการศึกษาและสุขภาพจิตของนักเรียนที่ดีขึ้น
โดยในระยะที่ 2 เมื่อ “โรงเรียนดีใกล้บ้าน” ซึ่งถูกตั้งให้เป็น “โรงเรียนแม่เหล็ก” ได้รับการส่งเสริมความเข้มแข็ง ทั้งจากชุมชนเอง และจากรัฐบาลได้อย่างเหมาะสม โดยใช้งบประมาณที่คุ้มค่ากว่าเดิม อาทิเช่น ประเทศชาติสามารถประหยัดงบประมาณ มากกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี
จากงบลงทุน, ก่อสร้าง, ปรับปรุงซ่อมแซมและครุภัณฑ์ ที่เดิมต้องจ่ายให้โรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งมีนักเรียนน้อยกว่า 60 คน จำนวนกว่า 7,000 โรงเรียน แล้วได้นำไปเพิ่มเติมให้กับโรงเรียนแม่เหล็กที่อยู่ในโครงการ ในภาพรวมเป็นงบประมาณสำหรับจัดการเรียนการสอนเพิ่มขึ้นกว่า 500 ล้านบาทต่อปี
ดังนั้น ในระยะที่ 3 ในอนาคต เมื่อสามารถเชื่อมโยงกลไกประชารัฐ และประชาคมใกล้เคียงกับโรงเรียนเป้าหมายเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ รวมทั้งสามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT ที่มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ ในวันข้างหน้าได้แล้ว ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กและครูไม่ครบชั้น ที่อยู่คู่สังคมไทยมายาวนาน ก็จะหมดไป และประเทศไทยก็จะได้ทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสูงขึ้น ประเทศไทยก็จะเจริญก้าวหน้าอย่างสมดุล ในทุกมิติ นะครับ
เรื่องที่ 3 คือ ขอให้เข้าใจว่า เราไม่สามารถปรับเปลี่ยนอะไรก็ตามได้ ในเวลาเดียวกัน ในคราวเดียวกัน แบบ “พลิกฝ่ามือ” โดยเฉพาะในเชิงโครงสร้าง - ระบบ - วิธีการ และ การใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ หรือแม้กระทั่ง ภาคธุรกิจเอกชนเองก็ตาม แต่สิ่งที่สำคัญและจำเป็นที่สุด ก็คือ การกำหนดผลสัมฤทธิ์ ตามห้วงระยะเวลา ให้มีผลเป็นรูปธรรม ชัดเจน จับต้องได้
อาทิเช่น การกำหนดเป้าหมาย ตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 - 2569 เดิมเราทำไว้ 13 ปีนะครับ ที่จะต้องสามารถประเมินผลความสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การขุดสระในไร่นา มีเป้าหมาย 3 แสนกว่าสระ ภายในปี 2569 ปัจจุบันแล้วเสร็จ 1 แสนกว่าสระ คิดเป็นร้อยละ 40 ประปาหมู่บ้าน มีเป้าหมาย 7,500 แห่ง ภายในปี 2560 ปัจจุบันแล้วเสร็จ 5,700 กว่าแห่ง คิดเป็นร้อยละ 77 และเป้าหมายการจัดหาน้ำเพื่อการเกษตร ให้เพียงพอต่อความต้องการ ในภาพรวม ทั้งหมดกว่า 8,300 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันดำเนินการจัดหาน้ำเพื่อการเกษตรเพิ่มเติมในระบบได้แล้ว กว่า 1,700 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 21 เป็นต้น นะครับ คือ ระยะยาวนะครับ
ซึ่งปัจจุบันนั้น ห้วงระยะเวลาของแผนดังกล่าว จำเป็นต้องปรับเปลี่ยน ตารางการปฏิบัติ แผนงาน - โครงการต่างๆ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จากเดิมที่ทำไว้ ปี 2557-2569 (13 ปี) นะครับ เราต้อง “ขยาย” เป็นปี 2560-2579 (20 ปี) นะครับ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติของเรานะครับ
ที่ผ่านมานั้น มีเป้าหมายระยะยาว วันนี้ที่รายงานให้ทราบเมื่อสักครู่ เป็นสิ่งที่เราทำสำเร็จแล้วถึงช่วงระยะเวลานี้ ก็คงต้องทำต่อไปให้มันครบนะครับ
เรื่องที่ 4 นะครับ พึงระลึกเสมอว่าการพัฒนาและการสร้างความเจริญเติบโตของประเทศนั้น เราต้องสามารถรักษาสมดุล ให้ได้ทั้งภายในและภายนอกประเทศให้ได้ โดยเริ่มต้นจากการรวมกลุ่มในอาชีพเดียวกันแล้วมีการเชื่อมโยงไปสู่อาชีพอื่น หรือกลุ่มอื่นที่เกี่ยวเนื่องกัน อาทิ การรวมกลุ่มของเกษตรกร การตั้งสหกรณ์การเกษตร จากนั้นก็เชื่อมโยงไปสู่โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูป สถาบันวิจัยทางการการเกษตร เข้ามาช่วยเหลือ และตลาดชุมชุน-ตลาดส่งออก เป็นต้น นะครับ
ทั้งนี้ การรวมกลุ่มกันนั้นจะส่งผลดีในการรวมตัว เพื่อที่จะแก้ปัญหาอันเดียวกัน เพื่อตอบสนองความต้องการที่มีความคล้ายคลึงกันแบบเป็นกลุ่มเป็นก้อน มีอำนาจในการต่อรองสูงขึ้น มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเพิ่มขึ้น ที่สำคัญคือ การยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือของรัฐบาล สามารถดำเนินการได้โดยง่ายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งในเรื่องของการจัดสรรงบประมาณ และการใช้ทรัพยากร ในการเข้าไปดำเนินการจัดการกับปัญหาได้อย่างคุ้มค่า สามารถลดต้นทุนในการดำเนินการได้ไม่เป็นการใช้งบประมาณแผ่นดิน แบบเบี้ยหัวแตก
ทั้งนี้ นอกจากจะสามารถบรรเทาความเดือดร้อน ในระยะเร่งด่วนได้อย่างรวดเร็วแล้วยังเป็นการสร้างความเข้มแข็ง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ในระยะยาว ในคราวเดียวกันด้วย อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างต้องอาศัยเวลา ต้องอดทน และทุกต้องเดินหน้าค่อยเป็นค่อยไปนะครับ ไม่งั้นจะเกิดผลกระทบหลายส่วนด้วยกัน
เรื่องที่ 5 เราทุกคน ควรติดตามข่าวสาร และทำความเข้าใจว่า การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก กับ อาเซียนและประเทศไทยนั้น มีผลสืบเนื่องกันใน “ทุกมิติ” ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงที่หลากหลาย ในระดับประชาคมโลก และรายประเทศ ซึ่งมีความแตกต่างกันออกไปตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ รวมทั้งมีความแตกต่างกันอย่างมากมาย ในด้านพื้นฐานของทรัพยากรมนุษย์ - ระดับการศึกษา - ความมีอัตลักษณ์ และวัฒนธรรมประเพณี ซึ่งจะอย่างไรก็ตามเราก็มีความจำเป็นต้องแสวงหาความร่วมมือ ในรูปแบบต่างๆ ทั้งภายในประเทศของเราเอง และระหว่างประเทศให้ได้นะครับ “บนความแตกต่าง”
โดยเราควรที่จะ “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” แล้วหาจุดเชื่อมโยงให้ได้ ต่อกันให้ติดนะครับให้ได้โดยเร็ว อาทิ กลไก “ประชารัฐ” ของรัฐบาลนี้ เป็นตัวอย่างการเชื่อมโยงภายในประเทศในเชิงโครงสร้าง เชิงหน้าที่และความรับผิดชอบ ที่มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ของประเทศชาติ และประชาชน และการที่รัฐบาลนี้ ได้วางยุทธศาสตร์ของประเทศ เป็นสะพานเชื่อมโยงกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก อาทิเช่น G20 หรือกับกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา (G77) ทั้งนี้ก็พื่อจะรักษาความสมดุล ในการพัฒนาของโลก ในฐานะที่เป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” โดยเราจะต้องเข้มแข็งไปด้วยกัน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เหล่านี้เป็นต้นนะครับ
ทั้งนี้ ไม่ว่ามิติเศรษฐกิจของโลก จะมั่งคั่งเท่าไหร่ก็ตาม หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็น “ศาสตร์พระราชา” ที่ได้รับการยอมรับและยกย่องจากประชาคมโลก จะช่วยย้ำเตือนเรา ถึงการพัฒนาที่สมดุล ทั้งในมิติสังคม คือ การดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ “อย่างพอเพียง” และในมิติสิ่งแวดล้อม ที่จะนำไปสู่การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน
เรื่องที่ 6 สิ่งที่เป็นปัญหา รัฐบาลยังแก้ไขไม่ได้มากนัก คือ ความเข้าใจ ความร่วมมือของประชาชน และการทำงานของข้าราชการในพื้นที่ที่อยู่ใกล้ชิดกันนะครับระหว่างข้าราชการกับประชาชนระดับล่าง เราจะต้องปรับตัวให้ทัน กับการเปลี่ยนแปลง มีการพัฒนาตนเองให้รวดเร็วนะครับ เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ทั้งข้าราชการและประชาชน ทำความเข้าใจซึ่งกันและกันให้สามารถทำงานร่วมกันได้
ทั้งนี้ การที่จะสามารถปรับเปลี่ยนคนที่ไม่เข้าใจ ไม่ร่วมมือ ต่อต้านได้นั้น เราจำเป็นต้องน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” คือ “การเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” ซึ่งควรต้องคำนึงถึงความเป็นมาเป็นไปในอดีตที่ผ่านมา และต้องมองอนาคตร่วมกันเป้าหมายเดียวกันด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งจะช่วยให้สังคมของเราดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำธำรงความเป็นธรรมได้ในที่สุด
ทั้งนี้ โดยหลักการของประชาธิปไตยนั้นต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ แก่ส่วนรวม คนกลุ่มใหญ่ เสียงส่วนใหญ่ก่อน นะครับ จากนั้นผลพวงต่างๆ ก็จะเกิดขึ้น เชื่อมโยงไปถึงคนกลุ่มน้อย เสียงส่วนน้อยด้วยเช่นกัน ก็ต้องดูแลซึ่งกันและกันนะครับในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ถ้ามันเกิดไม่ได้เลย มันก็ไม่ได้ซักส่วนหนึ่งนะครับ
แม้ว่าที่ผ่านมานั้น คนบางส่วนนั้นอาจไม่เห็นด้วยกับนโยบาย แผนงาน โครงการที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงก็ตาม แต่ก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในการดำเนินการสร้างแรงจูงใจ-ให้กำลังใจ ไม่ให้เกิดการต่อต้าน ไม่ตำหนิติเตียน
โดยต้องให้เวลากับทุกคน รับฟัง มีสติ ใช้สติปัญญาอย่างใคร่ครวญ สิ่งสำคัญที่สุดของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคธุรกิจเอกชน ในการทำงานร่วมกันแบบ “ประชารัฐ” นั้นก็คือ จัดทำในสิ่งที่เป็นกิจกรรมตัวอย่าง ซึ่งประสบความสำเร็จแล้ว ให้มองเห็นผลเป็นรูปธรรม และประชาชนได้รับผลดีขึ้น หากให้ความร่วมมือกับทางราชการ
ทั้งนี้ เพื่อจะได้นำทางผู้ที่ยังไม่เข้าใจ ได้ปรับเปลี่ยนตัวเอง เพราะว่าการทำสิ่งใดก็ตามนั้น หากไม่มีการเริ่มต้น ก็จะไม่มีความสำเร็จ บางอย่างอาจใช้เวลาน้อย บางอย่างใช้เวลามาก เหมือนกับการปลูกพืช มีระยะสั้น ระยะยาว ดังนั้น ทุกคนต้องรู้จัดอดทน ต้องรอคอย ถึงผลประโยชน์ในอนาคต ที่แตกต่างกัน ในเวลานี้ไปสู่สิ่งที่ดีกว่าในอนาคต
เรื่องที่ 7 นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นปัญหากับประเทศไทย คนไทยในอดีตที่ผ่านมาก็คือ เราสนใจงานในเชิงโครงสร้าง “น้อยเกินไป” ทำให้ มุ่งแต่การแก้ปัญหาเล็กๆ ไม่ตรงจุด หรือเน้นมาตรการบรรเทาความเดือดร้อน ซึ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเดียว โดยไม่ทำในเรื่องการเสริมสร้างความเข้มแข็งไปพร้อมด้วย ให้ได้มากบ้าง น้อยบ้างในเวลาเดียวกัน ด้วยขีดความสามารถที่มีอยู่ เราต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำแบบเดิมๆ ให้ได้เสียก่อน แล้วจึงจะสามารถจัดการกับปัญหาต่างๆ ของประเทศ ในแนวทางที่เกิดความยั่งยืนได้ รวมทั้ง ต้องมีกระบวนการรวบรวมข้อมูลข่าวสาร ที่รอบด้าน และทันสมัย เพื่อจัดทำเป็น “ฐานข้อมูลกลาง” ให้ได้โดยเร็ว สำหรับให้ทุกหน่วยงานใช้ร่วมกัน วิเคราะห์ในมุมมองที่ตนรับผิดชอบ และกำหนดแนวทาง วิธีการในการดำเนินงานอย่างบูรณาการกันครับ
เรื่องที่ 8 ประเทศไทยของเรานั้น จัดเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางการเกษตรสูงโดยสามารถเพาะปลูกพืช เพื่อส่งเป็นสินค้าออกได้ จริงอยู่ที่ในอดีต เรามีผลผลิตที่เพียงพอ ที่ดินและทรัพยากรต่างๆ ก็เพียงพอ ราคาสูง แต่เมื่อประเทศของเราเติบโตขึ้น โลกเจริญเติบโตขึ้นประชากรมากขึ้น การบริโภคก็มีปริมาณสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่พื้นที่เพาะปลูกของเราหรือของโลกนั้นกลับมีแนวโน้มลดลง เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชใหม่ จากเดิม “เกษตรแบบธรรมชาติ” เป็นการใช้เทคโนโลยี การใช้เครื่องมือ เช่น ระบบการปลูกพืชน้ำหยด การทำไร่นาสวนผสมแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพื่อให้สอดคล้องกับการต้องการที่เรียกว่า Demand Supply
ทั้งนี้ จะได้มาช่วยเสริมที่เพื่อมาช่วยเสริมศักยภาพทางการเกษตรที่เคยอาศัยธรรมชาติแต่เพียงอย่างเดียวเป็นตัวกำหนด อีกทั้งต้องปรับรูปแบบการเกษตรของเรา จากเกษตรครัวเรือนเป็นเกษตรแปลงใหญ่ หรือการรวมตัวเป็นกลุ่มเกษตรกร เป็นสหกรณ์การเกษตร ที่เข้มแข็ง เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยง ในเรื่องของการเพาะปลูก การผลิต การแปรรูป การตลาด โดยเกษตรกรนั้นจะต้องรู้จักการบริหารจัดการตนเอง ทั้งระบบ เป็นทางเลือกให้เกษตรกรไทยยุคใหม่ ที่เรียกว่า “Smart Farmer”
เราต้องการให้เกิดความสมดุล ระหว่างภาคประชาชน พ่อค้าคนกลาง และการส่งออกโดยภาคธุรกิจเอกชน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ปัจจุบันนั้น รัฐบาลกำลังกำลังดำเนินมาตรการหลายมาตรการด้วยกัน อาทิ ในการเตรียมมาตรการสนับสนุนให้มียุ้งฉางขนาดใหญ่ หรือไซโล เพิ่มเติมขึ้น ให้กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ อย่างเหมาะสม ในอนาคตอันใกล้ ครับ
เรื่องที่ 9 ศักยภาพของประเทศไทยในโลกใบนี้นั้นไม่น้อยไปกว่าใคร เราอาจนเรื่องนี้ “น้อยไป” เกินไปหรืออาจจะมองข้ามไป เราอาจจะไม่มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ มีการบูรณาการที่ชัดเจน ก็คือการจัดสรรและใช้ประโยชน์จากที่ดิน ซึ่งเรามีค่อนข้างสมบูรณ์ มากกว่าประเทศอื่นๆ แต่ในห้วงที่ผ่านมา แม่น้ำ ที่ดิน ป่าเขาของเราถูกจำกัดการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์ ที่มีอยู่เฉพาะในประชาชนจำนวนหนึ่งเท่านั้น
เราไม่ได้ใช้เทคนิคการควบคุม, การบริหารจัดการ และการใช้สอยจากสิ่งที่เรามีอยู่ อย่างคุ้มค่า และรักษาสมดุลได้ จนทำให้เกิดปัญหากันอยู่ อย่างในปัจจุบันนี้ ทั้งน้ำท่วม ฝนแล้ง ป่าถูกทำลายเสื่อมโทรม ถึงเวลาแล้วหรือยังครับ ที่เราควรจะช่วยกันคิด, ช่วยกันร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเหล่านั้น, ป้องกันไม่ให้เกิดสภาวะที่เสื่อมโทรม “มากไปกว่านี้” เราต้องหยุดให้ได้ เราต้องใช้ศักยภาพการเป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยในอาเซียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งการเชื่อมโยง การค้าการลงทุน, การไปมาหาสู่ของประชาชนในอาเซียน
การลงทุนร่วม - การค้าต่างตอบแทนในกลุ่มอาเซียน ในลักษณะที่ไทยมีศักยภาพ ในการเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคได้ในหลายกิจกรรม อาทิเช่น การท่องเที่ยว, การสาธารณสุข รักษาพยาบาล ยา, ดิจิตอล, การคมนาคมระหว่างประเทศ, การเชื่อมโยงตลาด, การค้าการลงทุน ทั้งในส่วนของ SME, สินค้าประชารัฐ และการสร้างแบรนด์ของประเทศไทย เช่น ข้าวอินทรีย์, เกษตรอินทรีย์ ที่มีราคาสูง, ปรับปรุงคุณภาพการผลิต - การแปรรูป, ให้เป็นศูนย์กลางด้านอาหาร, มีการลงทุนแนวใหม่ที่เรียกว่า New S-Curve ซึ่งสนองตอบต่อความต้องการของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน เราต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ให้มากนะครับ
รวมทั้ง เราต้องไม่ลืมให้ความสำคัญกับ การสร้างความเชื่อมโยง “ทางกายภาพ” เช่น ถนน รถไฟ รถไฟฟ้าความเร็วสูง ท่าเรือขนส่งสินค้า การท่องเที่ยว ซึ่งเป็นทั้งการเชื่อมโยงกันเอง ระหว่างภูมิภาคต่างๆ, ระหว่างเมือง และระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษ ภายในประเทศ ตลอดจนเป็นการเชื่อมโยงไปสู่ต่างประเทศ เช่น ประเทศเพื่อนบ้าน, CLMV, อาเซียน และภูมิภาคอื่นของโลก เราต้องคิดให้ไกลอีกนะครับ ทั้งนี้ ถ้าไม่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้แล้ว รายได้ก็จะไม่เกิดขึ้นทั้งกับประชาชนและประเทศชาติ แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร วันหน้าคนเรามากขึ้น รายได้เราลดลง เศรษฐกิจประเทศก็แย่ลง เราอยู่กันไม่ได้แน่นอนนะครับ
พี่น้องประชาชนที่รัก ครับ ผมรับรู้ได้ถึงความสมัครสนามสามัคคีของคนในชาติ เป็นบรรยากาศของความเห็นอกเห็นใจ และการให้อภัยซึ่งกันและกัน ก็อยากให้พี่น้องประชาชนชาวไทย ได้รักษาสิ่งดีงาม มีความเอื้ออาทรต่อกัน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของคนไทย และสยามเมืองยิ้ม ซึ่งถึงแม้ว่าจะห่างหายไปนานจากสังคม ผมคิดว่ายังอยู่แต่หลายอย่างมันทำให้เป็นไปแบบนั้น วันนี้สิ่งนี้กำลังกลับคืนมาสู่บ้านเมืองของเรา ผมก็อยากให้รักษากันไว้ให้ได้นานที่สุด ให้ลูกหลานได้ซึมซับ เราจะได้รู้ว่าความมีน้ำใจ คือไทยแท้ นะครับ
สิ่งสำคัญที่เห็นประการหนึ่งก็คือ ในการเข้าแถวในการเข้าถวายความอาลัยพระบรมศพก็ขอให้เป็นไปในลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัยกันนะครับ อย่าแบ่งแยกกันเลย ทั้งข้าราชการ ประชาชน ก็คือญาติพี่น้องกันทั้งสิ้น ก็คือ คนไทยด้วยกัน เพราะฉะนั้นต่างคนก็ต้องต่างดูแลซึ่งกันและกัน อย่าแบ่งแยกกัน ในส่วนของการปรองดองของคนในชาตินั้น คิดว่าวันนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมที่ทุกคนจะปรับตัวเข้าหากัน พูดจาถ้อยทีถ้อยอาศัยกันแล้วก็ไม่นำเรื่องที่เป็นความขัดแย้งเล็กๆ น้อยๆ เช่น ความคิดหรือคำพูดบางคำ ซึ่งมันอาจจะมีผลกระทบกับคนบางคนหรือคนบางส่วน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องดูเจตนาด้วยนะครับ ก็ขอให้ทุกคนรู้จักการให้อภัยซึ่งกันและกันไม่งั้นทุกอย่างมันก็จะเป็นความขัดแย้งมันก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ไม่หวังดีในการที่จะขยายความขัดแย้งนั้นต่อไป สำหรับในเรื่องการปรองดอง หรือความรักความสามัคคีนั้น เราบังคับกันไม่ได้ทุกอย่างเกิดขึ้นด้วยใจ เราไม่สามารถจะให้กฎหมายใช้การบังคับกันให้เกิดขึ้นได้ สำหรับวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็น “วันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล”
ก็มีมาทุกปีนะครับ เพราะฉะนั้นประเทศไทยได้กำหนดไว้เช่นกันให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ผมขอให้ทุกคนได้ตระหนักร่วมกันป้องกัน และขจัดการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก, สตรี, คนชรา และผู้ไร้ความสามารถ ผู้พิการ ผู้ที่อ่อนแอกว่า เพื่อให้สิ่งเลวร้ายนี้หมดสิ้นไป ทั้งจากสังคมไทย และจากจิตใจคนไทยบางคนที่นิยมความรุนแรงต่อผู้อื่น บางครั้งก็ดื่มสุราอาละวาดทำร้ายคนในครอบครัว ทำร้ายคนอื่น ไร้สติ เหล่านี้จะต้องไม่เกิดขึ้นอีกในสังคมไทยต่อไป
สุดท้ายนี้ ผมขอฝากเป็นข้อคิดเล็กๆ น้อยๆ แต่อาจจะสิ่งผลดีที่ยิ่งใหญ่ หลายคนอาจจะยังไม่ได้คิดหรือคิดแล้ว ทั้งนี้ก็เนื่องจากใกล้เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หลายคนหลายหน่วยงานเตรียมมองหาของขวัญของฝากพ่อแม่ ลุงป้า น้าอา ญาติผู้ใหญ่ที่บ้านหรือลูกน้อง เจ้านาย ที่ทำงาน ก็ขอฝากให้พิจารณาเลือกสรร เลือกซื้อเลือกหา สินค้าพื้นบ้าน, ที่เรียกว่าสินค้า OTOP ประชารัฐ, ผลไม้-พืชผลทางการเกษตร และข้าวสารบรรจุห่อจากชาวนาโดยตรง หรือสินค้าแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และอื่นๆ ของ SME และธุรกิจ Start-up ของไทย ทั้งในตลาดคลองผดุงฯ ข้างทำเนียบรัฐบาล, ตลาดชุมชุน ใกล้บ้านท่าน หรือจากตลาด Online
ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการอุดหนุนชาวนาและเกษตรกร, ผู้ประกอบการ และผู้ผลิตสินค้าภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นโมเดลสร้างการเชื่อมโยง ตลอดห่วงโซ่คุณค่า อันจะเป็นทางรอดของเกษตรกร และทางออกของผู้ประกอบการไทยอย่างยั่งยืนนะครับ ขอบคุณครับ ขอให้มีความสุขในวันสุดสัปดาห์ สวัสดีครับ”