xs
xsm
sm
md
lg

คำต่อคำ : ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน 25 พฤศจิกายน 2559

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน กิจกรรมรวมพลังแห่งความภักดีในวันอังคารที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมานั้น เป็นกิจกรรมแห่งชาติที่รัฐบาลร่วมกับประชาชนคนไทย ทุกภาคส่วน ทุกหมูเหล่า ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนาบนแผ่นดินไทย อันเป็นสุวรรณภูมิของเราแห่งนี้ ในการที่จะรวมพลังเพื่อแสดงออกซึ่งความจงรักภักดี และความกตัญญูกตเวทีแด่สถาบันพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ทุกพระองค์ที่ดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศอย่างสมพระเกียรติ สง่างาม และเป็นระเบียบเรียบร้อย รวมทั้งยังได้เป็นการแสดงออกถึงความรู้รักสามัคคี และความมีวินัยของคนในชาติอีกด้วย

ทั้งนี้ สถาบันพระมหากษัตริย์นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์แห่งการดำรงอยู่ของชาติไทยมาอย่างต่อเนื่อง ยาวนานกว่า 800 ปีแล้วก็ตาม ก็ยังคงเป็นสถาบันหลักในการสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่น เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งชาติ และเป็นสายน้ำแห่งความชุ่มฉ่ำ การพัฒนาความเป็นอยู่ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของปวงชนชาวไทยอย่างยั่งยืนตลอดไป ดั่งบทประพันธ์ตอนหนึ่งของ ดร.อภิชาติ ดำดี ที่ว่า "แม้ไม่มีราชาผู้สามารถ จะเป็นชาติมีชื่อหรือไฉน ที่วันนี้ยังมีประเทศไทย ใครหนอใคร ฝ่าฟัน สร้างกันมา" สิ่งนี้เป็นเครื่องยืนยันความผูกพันของสถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทยอย่างแน่นแฟ้นตลอดประวัติศาสตร์ชาติไทย

ในการนี้ผมขอให้พี่น้องประชาชนทุกคนได้ยึดมั่นในสิ่งที่ทุกท่านได้เปล่งสัจจะวาจา ถวายสัตย์ปฏิญาณเบื้องหหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่าจะซื่อตรงจงรักภักดีต่อพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าทุกพระองค์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ จนกว่าชีวิตจะหาไม่ จะปฏิบัติหน้าที่เป็นพลเมืองที่ดีด้วยการเคารพกฎหมายอย่างเคร่งครัด จะรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน ร่วมกันปฏิรูปประเทศและสนับสนุนให้มีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยปกครองประเทศด้วยหลักนิติธรรม มีธรรมาภิบาล จะเป็นคนดีมีคุณธรรมร่วมกันนำพาประเทศชาติไปสู่อนาคต และความสงบที่ยั่งยืน และรู้รักสามัคคีเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน และประพฤติปฏิบัติตนตามรอยพระยุคลบาทในแนวทางของหลักปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง โดยน้อมนำศาสตร์ของพระราชามาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตด้วยความเพียรอันบริสุทธิ์ เพื่อสืบสานพระบรมราชปณิธาน และเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของราชอาณาจักรไทยสืบไป

ผมขอขอบคุณทุกภาคส่วน รวมทั้งพี่น้องประชาชนทุกคน ทั้งที่ร่วมกิจกรรมแห่งชาติในครั้งนี้ในสถานที่ราชการ สถานประกอบการ และสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศ อันเชื่อมโยงแสดงให้เห็นถึงความผูกพันทางจิตใจของพสกนิกรชาวไทยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งเจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ระหว่างปฏิบัติงานในที่ห่างไกลทุรกันดารที่อาจจะไม่ได้ร่วมกิจกรรมในพื้นที่กำหนด ซึ่งผมเชื่อว่าทุกคนนั้นสามาารถแสดงออกถึงความจงรักภักดีแด่สถาบันพระมหากษัตริย์ได้อย่างไร้ขีดจำกัดด้านเวลา และสถานที่

สำหรับรายการนี้นั้น ผมขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในประเทศ และทั้งอยู่ในต่างประเทศ กรมประชาสัมพันธ์ สถานีวิทยุโทรทัศน์ และสื่อมวลชนทุกแขนง ที่ร่วมกันนำภาพแห่งความจงรักภักดีทั้งจากทั่วภูมิภาคของประเทศ และทั่วทุกมุมโลกปรากฏสู่สายตาของชาวไทย และชาวโลกได้อย่างงดงามและมีความหมาย

สำหรับวันนี้ผมขอยกครอบครัวของ ร.ต.อ.หญิง วิภารัตน์ กากแก้ว เป็นตัวอย่างครอบครัวข้าราชการชั้นผู้น้อยที่น้อมนำศาสตร์พระราชาหลายแขนงมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และในชีวิตรับราชการ รวมทั้งสอนลูกๆ ให้รู้จักการใช้ชีวิตในวิถีพอเพียงบนพื้นที่ 20 ไร่ของครอบครัว ดำเนินการตามเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยแบ่งพื้นที่สำหรับปลูกบ้าน 1 หลัง ทำนา 13 ไร่ ขุดบ่อเลี้ยงปลา 4 บ่อ และพื้นที่ที่เหลือทำยุ้งฉางเลี้ยงสัตว์ และทำสวนเกษตรแบบผสมผสาน ในการปลูกพืชผักสวนครัวทั้งกินเอง ทั้งขายเป็นรายได้เสริม ทั้งทำบุญและแจกญาติพี่น้อง แลกเปลี่ยนพืชผลกันในตลาดชุมชนตามวิถีไทยที่ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันทั้งหมดนั้นเป็นการเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจรในครัวเรือน โดยใช้ปุ๋ยคอกจากมูลไก่ ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ดำนาเอง เก็บเกี่ยวเอง และสีข้าวสารเก็บไว้ในยุ้งฉางสำหรับกินเองได้ตลอดทั้งปี

นอกจากนั้น มีการทำบัญชีครัวเรือนทำให้รู้ และลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นที่ฟุ่มเฟือย และหารายได้เสริมให้เพียงพอต่อรายจ่ายที่จำเป็น ได้มีการเก็บออมไว้ 25% สำหรับไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉิน หรือเจ็บป่วย หรือในยามชรา ทั้งนี้ครอบครัวของ ร.ต.อ.หญิง วิภารัตน์ ได้ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวทางพระราชดำริจนประสบความสำเร็จ ทำให้สามารถทุ่มเทกับงานในเวลาราชการ และใช้นอกเวลาราชการทำไร่นาสวนผสม ใช้ชีวิตแบบพอเพียง ไม่ยึดติดลาภยศ ชีวิตก็มีความสุขทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ผมเห็นว่าเป็นแนวทางที่จะสร้างความเข้มแข็งในระดับครัวเรือนของสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน หากเราได้น้อมนำศาสตร์พระราชาไปสู่การปฏิบัติอย่างเข้าใจ ที่สำคัญผมเห็นว่าเป็นการเอาชนะกิเลสที่เป็นสนิมในจิตใจ และเอาชนะการทุจริตที่จะเป็นสนิทในสังคมไทยได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย

ผมขอเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องประชาชน และข้าราชการ ที่ได้น้อมนำแนวทางของพ่อไปสู่การปฏิบัติด้วยความเพียรอันบริสุทธิ์ให้ประสบความสำเร็จ และเป็นครรลองที่ถูกที่ควร สำหรับข้าราชการบางส่วนที่ยังหลงผิด ใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ เรียกรับผลประโยชน์ มีอิทธิพลเหล่านั้นที่ยังจมอยู่ในกองกิเลสเช่น กลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองในเมืองท่องเที่ยวในบริเวณ เช่น หาดใหญ่ พัทยา หัวหิน และพื้นที่เศรษฐกิจอื่นทั่วประเทศ ทุกครั้งเมื่อผมได้รับรายงาน แม้ว่าจะเป็นเพียงส่วนน้อยบางคนเท่านั้นก็รู้สึกไม่สบายใจ ผมคิดว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ไม่สบายใจนะครับ เราก็ต้องช่วยกันรักษาศักดิ์ศรีของกฎหมาย ผู้ที่กระทำผิดก็ต้องถูกลงโทษ ขอให้ปรับปรุงตัว และยึดมั่นในสัจจะวาจาที่ตนได้ถวายคำสัตย์ปฏิญาณเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ด้วย

พี่น้องประชาชนครับ ในระดับรัฐบาลนั้น เราได้มีแนวทางในการน้อมนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้เกิดผลจากการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม มีผลสัมฤทธิ์ เป็นเครื่องประกันความสุขของทุกคนได้ เพียงแต่ขอให้ช่วยกันสร้างความเข้าใจ ขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนทุกคนในเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้ เรื่องที่ 1 ขอให้มีการปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ โดยมีการลดอัตราของตัวเองลงไปมองให้เห็นถึงความสัมพันธ์ ความเชื่อมโยงกันให้มากขึ้น เป็นการสร้างเหมือนภาษาอังกฤษที่เรียกว่า Mindset ใหม่ ในการกระบวนการคิดของคนไทย เพราะทุกกิจกรรม ทุกมิติในโลก นับตั้งแต่นี้ต่อไปเราไม่สามารถจะอยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่ต้องการการเชื่อมโยง การสร้างเครือข่าย การรวมตัวกัน เราจึงจะเดินหน้าขับเคลื่อนไปได้ตลอดรอดฝั่ง เช่น การที่เราสร้างกลไกประชารัฐ การรวมกลุ่มสหกรณ์ การสร้างห่วงโซ่คุณค่า ทั้งต้นทาง กลางทาง ปลายทาง และตลาดชุมชน ที่ต่อไปนั้นจะต้องใช้เป็นสถานที่จับคู่ทางธุรกิจ เป็นวงจรธุรกิจระดับฐานราก เป็นต้น ต้องให้ความสำคัญกับทักษะ การทำงานเป็นทีม ซึ่งต้องปลูกฝังเยาวชนของเราในสถานศึกษาทุกระดับตั้งแต่วันนี้

เรื่องที่ 2 ขอให้ทำความเข้าใจพินิจพิเคราะห์อย่างลึกซึ้งถึงผลกระทบจากทุกกิจกรรม ที่มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน ว่าย่อมจะมีผู้ได้ประโยชน์ ผู้เสียประโยชน์ เพราะการที่เราจะปรับเปลี่ยนการปฏิรูป หรือการสร้างสิ่งใหม่ๆให้เกิดขึ้นนั้น ย่อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระยะต่างๆ แต่จุดหมายปลายทางแล้ว ก็ย่อมจะนำพาไปสู่สิ่งที่ดีกว่า และการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น ในการดำเนินการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กกว่า 15,000 แห่ง ทั่วประเทศของกระทรวงศึกษาธิการนั้น ในระยะแรกอาจจะส่งผลกระทบเป็นรายบุคคล รายครอบครัว เพราะต้องปรับตัวในเรื่องของการใช้ชีวิตและค่าใช้จ่าย เพื่อแลกกับสิ่งที่ได้มาก็คือคุณภาพการศึกษา และสุขภาพจิตของนักเรียนที่ดีขึ้น โดยในระยะ 2 เมื่อโรงเรียนดี ใกล้บ้าน ซึ่งถูกตั้งให้เห็นโรงเรียนแม่เหล็ก ได้รับการส่งเสริมความเข้มแข็ง ทั้งจากชุมชนเอง และจากรัฐบาลได้อย่างเหมาะสม โดยใช้งบประมาณที่ดีอย่างคุ้มค่ากว่าเดิม เช่น ประเทศชาติจะสามารถประหยัดงบประมาณมากกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี จากงบลงทุนก่อสร้าง ปรับปรุงซ่อมแซมและคุรุภัณฑ์ต่างๆ ที่เดิมต้องจ่ายให้โรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งมีนักเรียนน้อยกว่า 60 คน จำนวนกว่า 7,000 โรงเรียน และได้นำไปเพิ่มเติมให้กับโรงเรียนแม่เหล็กที่อยู่ในโครงการในภาพรวม เป็นงบประมาณสำหรับการจัดการเรียนการสอนเพิ่มขึ้นกว่า 500 ล้านบาทต่อปี

ดังนั้น ในระยะที่ 3 ในอนาคต เมื่อเราสามารถเชื่อมโยงกลไกประชารัฐ และประชาคมใกล้เคียงกับโรงเรียนเป้าหมายเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ รวมทั้งการเข้าถึงโครงสร้างขั้นพื้นฐานด้านไอซีที ซึ่งมีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศในวันข้างหน้าได้แล้ว ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก และครูไม่ครบชั้น ซึ่งอยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนานก็จะหมดไป และประเทศไทยก็จะได้ทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสูงขึ้น ประเทศไทยก็จะเจริญก้าวหน้าอย่างสมบูรณ์ในทุกมิติ

เรื่องนี้ 3 ขอให้เข้าใจว่า เราไม่สามารถจะปรับเปลี่ยนอะไรก็ตามได้ในเวลาเดียวกันในคราวเดียวกัน แบบพลิกฝ่ามือ โดยเฉพาะในเชิงโครงสร้างระบบ วิธีการ และการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ หรือแม้กระทั่งภาคธุรกิจเอกชนก็ตาม แต่สิ่งที่สำคัญ และจำเป็นที่สุดก็คือการกำหนดผลสัมฤทธิ์ ตามห้วงระยะเวลาให้มีผลเป็นรูปธรรมชัดเจน จับต้องได้ เช่น การกำหนดเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ ตั้งแต่ปี 2557- 2569 เดิมเราทำไว้ 13 ปี ที่จะต้องสามารถประเมินผลความสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การขุดสระในไร่นา มีเป้าหมาย 300,000 กว่าสระ ภายในปี 2569 ปัจจุบันแล้วเสร็จ 100,000 กว่าสระ คิดเป็นร้อยละ 40 ประปาหมู่บ้านมีเป้าหหมาย 7,500 แห่ง ภายในปี 2560 ปัจจุบันแล้วเสร็จ 5,700 กว่าแห่ง คิดเป็นร้อยละ 77 และเป้าหมายการจัดหาน้ำเพื่อการเกษตร ให้เพียงพอต่อความต้องการในภาพรวมทั้งหมดกว่า 8,300 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันดำเนินการจัดหาน้ำเพื่อการเกษตรเพิ่มเติมในระบบได้แล้วกว่า 1,700 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 21 เป็นต้นคือระยะยาว ซึ่งปัจจุบันห้วงระยะเวลาของแผนดังกล่าวนั้น จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตารางการปฏิบัติ แผนงานโครงการต่างๆให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จากเดิมที่ทำไว้ปี 2557-2569 เป็นเวลา 13 ปี เราต้องขยายเป็นปี 2560-2579 เป็น 20 ปี ที่ผ่านมานั้นมีเป้าหมายระยะยาว วันนี้ที่แนะนำให้ฟังเมื่อสักครู่ เป็นสิ่งที่เราทำสำเร็จแล้วถึงชั่วระยะเวลานี้ คงต้องทำต่อไปให้มันครบ

เรื่องที่ 4 พึงระลึกเสมอว่า การพัฒนาและการสร้างความเจริญเติบโตของประเทศนั้น เราต้องรักษาสมดุลให้ได้ทั้งภายในและภายนอกประเทศให้ได้ โดยเริ่มต้นจากการรวมกลุ่มในอาชีพเดียวกัน และมีการเชื่อมโยงไปสู่อาชีพอื่น หรือกลุ่มอื่นที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น การรวมกลุ่มของเกษตรกร การตั้งสหกรณ์การเกษตร จากนั้นก็เชื่อมโยงไปสู่โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูป สถาบันวิจัยทางการเกษตรฯ เข้ามาช่วยเหลือ และตลาดชุมชน ตลาดส่งออก เป็นต้น

ทั้งนี้ การรวมกลุ่มกันนั้นจะส่งผลดีในการรวมตัวเพื่อที่จะแก้ปัญหาเดียวกันเพื่อตอบสนองความต้องการที่มีความคล้ายคลึงกัน แบบเป็นกลุ่มเป็นก้อน มีอำนาจในการต่อรองสูงขึ้น มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเพิ่มขึ้น ที่สำคัญก็คือการยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือของรัฐบาล จะสามารถดำเนินการได้โดยง่าย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในเรื่องการจัดสรรงบประมาณ และการใช้ทรัพยากรในการเข้าไปดำเนินการจัดการกับปัญหาได้อย่างคุ้มค่า สามารถลดต้นทุนในการดำเนินการได้ ไม่เป็นการใช้งบประมาณแผ่นดินแบบเบี้ยหัวแตก

ทั้งนี้ นอกจากจะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนในระยะเร่งด่วนได้อย่างรวดเร็วแล้ว ยังเป็นการสร้างความเข้มแข็ง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวใยคราวเดียวกันด้วย อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างต้องอาศัยเวลา ต้องอดทน และทุกอย่างต้องเดินหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่งั้นจะเกิดผลกระทบหลายส่วนด้วยกัน

เรื่องที่ 5 เราทุกคนควรติดตามข่าวสาร และทำความเข้าใจว่า การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกกับอาเซียน และประเทศไทยนั้น มีผลสืบเนื่องกันในทุกมิติ ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงที่หลากหลาย ในระดับประชาคมโลก และหลายประเทศ ซึ่งมีความแตกต่างกันออกไปตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ รวมทั้งมีความแตกต่างกันอย่างมากมาย ในด้านพื้นฐานของทรัพยากรมนุษย์ ระดับการศึกษา ความมีอัตลักษณ์ และวัฒนธรรมประเพณี ซึ่งอย่างไรก็ตาม เรามีความจำเป็นจะต้องแสวงหาความร่วมมือในรูปแบบต่างๆ ทั้งภายในประเทศของเราเอง และระหว่างประเทศให้ได้ บนความแตกต่าง โดยเราจะแสวงหาจุดร่วม จุดต่าง แล้วหาจุดเชื่อมโยงให้ได้ต่อกันให้ติด ให้ได้โดยเร็ว เช่น กลไกประชารัฐของรัฐบาลนี้เป็นตัวอย่างของการเชื่อมโยงภายในประเทศ ในเชิงโครงสร้าง เชิงหน้าที่ และเชิงความรับผิดชอบ ที่เราจะมุ่งสู่เป้าหมายอันเดียวกันคือ ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศชาติและประชาชน และการที่รัฐบาลนี้ ทำยุทธศาสตร์ของประเทศให้เป็นสะพานเชื่อมโยงกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจรายใหญ่ของโลก เช่น จี20 หรือกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา ทั้งนี้ เพื่อจะรักษาความสมดุลในการพัฒนาของโลก ในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ โดยเราจะต้องเข้มแข็งไปด้วยกันและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เหล่านี้เป็นต้น

ทั้งนี้ ไม่ว่าเศรษฐกิจของโลกจะมั่งคั่ง อย่างไรก็ตาม หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นศาสตร์พระราชาที่ได้รับการยอมรับและยกย่องจากประชาคมโลกจะช่วยย้ำเตือนเราถึงการพัฒนาที่สมดุล ทั้งในวิถีสังคมคือ การดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพอย่างพอเพียง และในมิติสิ่งแวดล้อมที่จะนำไปสู่การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน

เรื่องที่ 6 อย่างที่เป็นปัญหา รัฐบาลแก้ไขได้ไม่มากนักคือ ความเข้าใจ ความร่วมมือของประชาชน และการทำงานของข้าราชการในพื้นที่อยู่ใกล้ชิดกัน ทั้งข้าราชการและประชาชนระดับล่าง เราต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง มีการพัฒนาตนเองให้รวดเร็ว และเรียนรู้ไปพร้อมกัน ทั้งข้าราชการและประชาชน เข้าใจกัน ให้สามารถทำงานร่วมกันได้

ทั้งนี้ การที่จะสามารถปรับเปลี่ยนคนไม่สนใจ ไม่ร่วมมือ ต่อต้านได้นั้น เราจำเป็นต้องน้อมนำศาสตร์พระราชา คือการเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ซึ่งต้องคำนึงถึงความเป็นมาเป็นไปในอดีตที่ผ่านมา และต้องมองอนาคตร่วมกัน เป้าหมายเดียวกันด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งจะทำให้สังคมเราดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ ดำรงความเป็นธรรมได้ในที่สุด

ทั้งนี้ โดยหลักการของประชาธิปไตยนั้น ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์คนส่วนรวม คนกลุ่มใหญ่ เสียงส่วนใหญ่ก่อน จากนั้น ผลพวงต่างๆ จะเกิดขึ้นเชื่อมโยงไปยังชนกลุ่มน้อย เสียงส่วนน้อยเช่นกัน ต้องดูแลซึ่งกันและกันในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หากมันเกิดไม่ได้เลยก็ไม่ได้ซักส่วน แม้ที่ผ่านมานั้น คนบางส่วนอาจไม่เห็นด้วยกับนโยบาย แผนงาน โครงการ ที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงก็ตาม แต่ก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่จะรับผิดชอบดำเนินการ สร้างแรงจูงใจ ให้กำลังใจ ไม่ให้เกิดการต่อต้าน ไม่ตำหนิติเตียน โดยต้องให้เวลากับทุกคน รับฟัง มีสติใช้สติปัญญาอย่างใคร่ครวญ สิ่งสำคัญของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน ในการทำงานร่วมกันแบบประชารัฐนั้นคือ ทำในสิ่งที่เป็นกิจกรรมตัวอย่าง ซึ่งประสบความสำเร็จแล้ว

ทั้งนี้ เพื่อจะได้นำทางผู้ที่ยังไม่เข้าใจ ได้ปรับเปลี่ยนตัวเอง เพราะการทำสิ่งใดนั้นหากไม่มีการเริ่มต้นจะไม่มีความสำเร็จ บางอย่างต้องใช้เวลาน้อย บางอย่างอาจใช้เวลามาก เหมือนกับการปลูกพืชระยะสั้น ระยะยาว ดังนั้น ทุกคนต้องรู้จักอดทน ต้องรอคอยถึงผลประโยชน์ในอนาคตที่แตกต่างกันในเวลานี้ ไปสู่สิ่งที่ดีกว่าในเวลาอนาคต

เรื่องที่ 7 นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นปัญหากับประเทศไทย คนไทยในอดีตที่ผ่านมา คือเราสนใจงานเชิงโครงสร้างน้อยเกินไป ทำให้มุ่งแก้ปัญหาเล็กๆ ไม่ตรงจุด เน้นมาตรการบรรเทาความเดือดร้อน แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างเดียว โดยไม่ได้เสริมสร้างความเข้มแข็งไปพร้อมกันด้วย ไม่ได้มากบ้างน้อยบ้างในเวลาเดียวกัน ด้วยขีดความสามารถที่เรามีอยู่ เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำแบบเดิมๆ ให้ได้ก่อน แล้วเราจึงสามารถจัดการกับปัญหาต่างๆ ของประเทศในแนวทางที่เกิดความยั่งยืนได้ รวมทั้งต้องมีกระบวนการรวบรวมข้อมูลข่าวสารที่รอบด้านและทันสมัย เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลกลางให้ได้โดยเร็ว สำหรับให้ทุกหน่วยงานใช้ประโยชน์ร่วมกันวิเคราะห์ในมุมมองที่ตนเองรับผิดชอบ และกำหนดแนวทาง วิธีการ ในการดำเนินงานอย่างบูรณาการกัน

เรื่องที่ 8 ประเทศไทยของเรานั้นเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางการเกษตรสูง โดยสามารถเพาะปลูกพืชเพื่อเป็นสินค้าส่งออกได้ จริงอยู่ ในอดีตเรามีผลผลิตที่เพียงพอ ที่ดิน และทรัพยากร ต่างก็เพียงพอ ราคาสูงอยู่ แต่เมื่อประเทศของเราเติบโตขึ้น โลกเจริญเติบโตขึ้น ประชากรมากขึ้น การบริโภคก็มีปริมาณสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่พื้นที่เพาะปลูกของเราหรือของโลกนั้น กลับมีแนวโน้มลดลง เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชใหม่ จากเดิมเกษตรแบบธรรมชาติ เป็นการใช้เทคโนโลยี การใช้เครื่องมือ เช่น ระบบการปลูกพืชน้ำหยด การทำไร่นาสวนผสม แทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการ ที่เรียกว่า demand - supply ทั้งนี้ จะได้มาช่วยเสริมศักยภาพทางการเกษตรที่เคยอาศัยธรรมชาติแต่เพียงอย่างเดียวเป็นตัวกำหนด อีกทั้งเราต้องปรับรูปแบบการเกษตรของเรา จากเกษตรครัวเรือน เป็นเกษตรแปลงใหญ่ หรือการรวมตัวเป็นกลุ่มเกษตรกร เป็นสหกรณ์การเกษตรที่เข้มแข็ง เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงในเรื่องของการเพาะปลูก การผลิต การแปรรูป การตลาด โดยเกษตรกรนั้นจะต้องรู้จักการบริหารจัดการตนเองทั้งระบบ เป็นทางเลือกให้เกษตรกรไทยในยุคใหม่ ที่เรียกว่า Smart Farmer เราต้องการให้เกิดความสมดุลระหว่างภาคประชาชน พ่อค้าคนกลาง และการส่งออกโดยภาคธุรกิจเอกชน พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

ปัจจุบันรัฐบาลกำลังดำเนินมาตรการหลายมาตรการด้วยกัน เช่น การเตรียมมาตรการในเรื่องสนับสนุนให้มียุ้งฉางขนาดใหญ่ หรือไซโล เพิ่มเติมขึ้น ให้กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ อย่างเหมาะสม ในอนาคตอันใกล้นี้

เรื่องที่ 9 ศักยภาพของประเทศไทยในโลกใบนี้นั้น ไม่น้อยไปกว่าใคร เราอาจนเรื่องนี้น้อยเกิน หรืออาจจะมองข้ามไป เราอาจจะไม่มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ มีการบูรณาการที่ชัดเจน ก็คือการจัดสรรและใช้ประโยชน์จากที่ดิน ซึ่งเรามีค่อนข้างสมบูรณ์ มากกว่าประเทศอื่นๆ แต่ในห้วงที่ผ่านมานั้น แม่น้ำ ที่ดิน ป่าเขาของเรา ถูกจำกัดการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์ ที่มีอยู่เฉพาะในประชาชนจำนวนหนึ่งเท่านั้น เราไม่ได้ใช้เทคนิคการควบคุม การบริหารจัดการ และการใช้สอยจากสิ่งที่เรามีอยู่อย่างคุ้มค่า และรักษาสมดุลได้ จนทำให้เกิดปัญหากันอยู่อย่างเช่นในปัจจุบันนี้ ทั้งน้ำท่วม ฝนแล้ง ป่าถูกทำลายเสื่อมโทรม ถึงเวลาแล้วหรือยังครับ ที่เราควรจะช่วยกันคิด ช่วยกันร่วมมือแก้ไขปัญหาเหล่านั้น ป้องกันไม่ให้เกิดสภาวะที่เสื่อมโทรมมากไปกว่านี้ เราต้องหยุดให้ได้ เราต้องใช้ศักยภาพการเป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยในอาเซียนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งการเชื่อมโยง การค้าการลงทุน การไปมาหาสู่ของประชาชนในอาเซียน การลงทุนร่วม การค้าต่างตอบแทนในกลุ่มอาเซียน ในลักษณะที่ไทยมีศักยภาพ ในการเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคได้ ในหลายกิจกรรม เช่น การท่องเที่ยว การสาธารณสุข การรักษาพยาบาล ยา ดิจิตอล การคมนาคมระหว่างประเทศ การเชื่อมโยงตลาด การค้า การลงทุน ทั้งในส่วนของ SME สินค้าประชารัฐ และการสร้างแบรนด์ของประเทศไทย เช่น ข้าวอินทรีย์ เกษตรอินทรีย์ที่มีราคาสูง ปรับปรุงคุณภาพการผลิต การแปรรูป ให้เป็นศูนย์กลางด้านอาหาร มีการลงทุนแนวใหม่ที่เรียกว่า New S-Curve ซึ่งสนองตอบต่อความต้องการของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน เราต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ให้มาก รวมทั้ง เราต้องไม่ลืมให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมโยงทางกายภาพ เช่น ถนน รถไฟ รถไฟฟ้าความเร็วสูง ท่าเรือขนส่งสินค้า การท่องเที่ยว ซึ่งเป็นทั้งการเชื่อมโยงกันเอง ระหว่างภูมิภาคต่างๆ, ระหว่างเมือง และระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษ ภายในประเทศ ตลอดจนเป็นการเชื่อมโยงไปสู่ต่างประเทศ เช่น ประเทศเพื่อนบ้าน CLMV อาเซียน และภูมิภาคอื่นของโลก เราต้องคิดให้ไกลอีกนะครับ

ทั้งนี้ ถ้าเราไม่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นในวันนี้ได้แล้ว รายได้ก็จะไม่เกิดขึ้นทั้งกับประชาชนและประเทศชาติ แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร วันหน้าคนเรามากขึ้น รายได้เราลดลง เศรษฐกิจประเทศก็แย่ลง เราอยู่กันไม่ได้แน่นอน

พี่น้องประชาชนที่รักครับ ผมรับรู้ได้ถึงความสมัครสนามสามัคคีของคนในชาติ เป็นบรรยากาศของความเห็นอกเห็นใจ และการให้อภัยซึ่งกันและกัน ก็อยากให้พี่น้องประชาชนชาวไทยได้รักษาสิ่งที่ดีงาม มีความเอื้ออาทรต่อกัน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของคนไทย และสยามเมืองยิ้ม ซึ่งถึงแม้ว่าจะห่างหายไปนานจากสังคม ผมคิดว่ายังอยู่ แต่หลายอย่างมันทำให้เป็นไปแบบนั้น วันนี้สิ่งเหล่านี้กำลังกลับคืนมาสู่บ้านเมืองของเรา ผมก็อยากให้รักษากันไว้ให้ได้นานที่สุด ให้ลูกหลานได้ซึมซับ เราจะได้รู้ว่าความมีน้ำใจ คือไทยแท้

สิ่งสำคัญที่เห็นประการหนึ่งก็คือในการเข้าแถวในการเข้าถวายความอาลัยพระบรมศพ ก็ขอให้เป็นไปในลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัยกันก อย่าแบ่งแยกกันเลยทั้งข้าราชการ ประชาชน ก็คือญาติพี่น้องกันทั้งสิ้น ก็คือคนไทยด้วยกัน เพราะฉะนั้นต่างคนก็ต้องต่างดูแลซึ่งกันและกัน อย่าแบ่งแยกกัน ในส่วนของการปรองดองของคนในชาตินั้น ผมคิดว่าวันนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมที่ทุกคนจะปรับตัวเข้าหากัน พูดจาถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน แล้วก็ไม่นำเรื่องที่เป็นความขัดแย้งเล็กๆ น้อยๆ เช่น ความคิด หรือคำพูดบางคำ ซึ่งมันอาจจะมีผลกระทบกับคนบางคน หรือคนบางส่วน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องดูเจตนาด้วย ก็ขอให้ทุกคนรู้จักการให้อภัยซึ่งกันและกัน ไม่งั้นทุกอย่างมันก็จะเป็นความขัดแย้ง มันก็จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่ไม่หวังดีในการที่จะขยายความขัดแย้งเหล่านั้นต่อไป

สำหรับในเรื่องการปรองดองหรือความรักความสามัคคีนั้น เราบังคับกันไม่ได้ ทุกอย่างเกิดขึ้นด้วยใจ เราไม่สามารถจะให้กฎหมาย ใช้การบังคับกันทำให้เกิดขึ้นได้

สำหรับวันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็น "วันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล" ก็มีมาทุกปีนะครับ เพราะฉะนั้นประเทศไทยก็ได้กำหนดไว้เช่นกันให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ผมขอให้ทุกคนได้ตระหนักร่วมกันป้องกัน และขจัดการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี คนชรา และผู้ไร้ความสามารถ ผู้พิการ ที่อ่อนแอกว่า เพื่อให้สิ่งเลวร้ายเหล่านี้ หมดสิ้นไปทั้งจากสังคมไทย และจากจิตใจคนไทยบางคน ที่นิยมความรุนแรงต่อผู้อื่น บางครั้งก็ดื่มสุราอาละวาดทำร้ายคนในครอบครัว ทำร้ายคนอื่น ไร้สติ เหล่านี้จะต้องไม่เกิดขึ้นอีกในสังคมไทยต่อไป

สุดท้ายนี้ ผมขอฝากเป็นข้อคิดเล็กๆ น้อยๆ แต่อาจจะสิ่งผลดีที่ยิ่งใหญ่ หลายคนอาจจะยังไม่ได้คิด หรือคิดแล้ว ทั้งนี้ ก็เนื่องจากใกล้เทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ หลายคน หลายหน่วยงาน เตรียมมองหาของขวัญ ของฝาก พ่อแม่ ลุงป้า น้าอา ญาติผู้ใหญ่ที่บ้าน หรือลูกน้อง เจ้านาย ที่ทำงาน ก็ขอฝากให้พิจารณาเลือกสรร เลือกซื้อเลือกหา สินค้าพื้นบ้าน ที่เรียกว่าสินค้า OTOP ประชารัฐ ผลไม้ - พืชผลทางการเกษตร และข้าวสารบรรจุห่อจากชาวนาโดยตรง หรือสินค้าแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และอื่นๆ ของ SMEs และธุรกิจ Start-up ของไทย ทั้งในตลาดคลองผดุงฯ ข้างทำเนียบรัฐบาล ตลาดชุมชุน ใกล้บ้านท่าน หรือจากตลาดออนไลน์ ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการอุดหนุนชาวนาและเกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้ผลิตสินค้าภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นโมเดลสร้างการเชื่อมโยง ตลอดห่วงโซ่คุณค่า อันจะเป็นทางรอดของเกษตรกร และทางออกของผู้ประกอบการไทยอย่างยั่งยืน ขอบคุณครับ ขอให้มีความสุขในวันหยุดสุดสัปดาห์ สวัสดีครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น