xs
xsm
sm
md
lg

ธัมมชโย เผ่นออกนอกประเทศ 30 พ.ย.ฟ้อง-ไม่ฟ้อง ไม่มีความหมาย !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา


เชื่อว่า ภายในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ อาจจะเรียกว่า เป็น “เส้นตาย” ก็ว่าได้สำหรับความศรัทธาที่สังคมมอบไว้ให้กับกระบวนการยุติธรรมต้นทาง ซึ่งในที่นี้ตัดตอนเอามาเฉพาะ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และ สำนักงานอัยการสูงสุด ที่ร่วมกันรับผิดชอบคดีร่วมกันฟอกเงินและรับของโจรของ พระเทพญาณมหามุนี หรือ ไชยบูลย์ สุทธิผล หรือ ธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ซึ่งในวันดังกล่าวทางอัยการได้นัดหมายเอาไว้ว่าจะมีการสั่งคดีว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีดังกล่าวหรือไม่

โดยที่ผ่านมา ได้มีการเลื่อนสั่งคดีมาแล้วถึง 4 ครั้ง โดยอ้างว่า ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษยังทำสำนวนและหลักฐานไม่ครบถ้วน จึงสั่งให้รวบรวมมาใหม่ และครั้งนี้หากมีการเลื่อนการสั่งคดีออกไปอีกถือว่าเป็นครั้งที่ 5 มันก็น่าจับตาเหมือนกันว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะสังคมกำลังหันกลับมาเฝ้ามองคดีนี้กันอีกครั้ง เพราะการเลื่อนสั่งคดี 4 - 5 ครั้งแบบนี้ มันย่อมมีความผิดปกติเกิดขึ้นแน่นอน

ที่สำคัญ เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาจากในอดีต ก็พบว่า สำหรับคดีนี้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างกรมสอบสวนคดีพิเศษ กับทางสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาสำนวนร่วมกัน เพื่ออุดช่องโหว่ในกรณีที่หลักฐานสำนวนในจุดไหนบ้างที่ยังไม่สมบูรณ์ ก็สามารถประสานงานได้กันรวดเร็ว แต่ในที่สุดก็ลากยาวจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน เพื่อนัดสั่งคดีว่าจะออกไปทางไหนฟ้องหรือไม่ฟ้อง

หากผลออกมาในทางสั่งฟ้อง มันก็ยังมี “เดิมพัน” ให้ลุ้นต่อเนื่องอีกว่า จะมีการบุกเข้าจับกุม “ธัมมชโย” ในวัดพระธรรมกาย หรือไม่ เพราะล่าสุด พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่กำกับดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่รับผิดชอบการสอบสวนคดีร่วมกันรับของโจรและร่วมกันฟอกเงิน ประกาศว่า หากสั่งฟ้อง ธัมมชโย วันที่ 30 พฤศจิกายน ก็จะเร่งรัดให้ดีเอสไอจับกุมทันที เพราะไม่มีเหตุผลเป็นอย่างอื่น แต่หากสั่งไม่ฟ้องก็ยังไม่มีความจำเป็นในการจับกุม

อย่างไรก็ดี ยังมีบางคำพูดของ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่กล่าวออกมาจนเป็นข้อสังเกต นั่นคือ แม้ว่ายังเชื่อว่า ธัมมชโย น่าจะยังอยู่ในวัดพระธรรมกาย แต่ก็ไม่อาจรับประกันได้ว่าหลบหนีออกไปต่างประเทศแล้วหรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่าหลายช่องทางที่หลบหนีออกไปได้ สิ่งที่ทำได้คือ การควบคุมช่องทางการหลบหนีให้แคบที่สุดเท่านั้น

เหมือนกับก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพรามณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็กล่าวในทำนองเดียวกัน ว่า ไม่อาจรับประกันได้เต็มร้อย แถมยังพูดอีกว่า การจับกุม ธัมมชโย เป็นเรื่องละเอียดอ่อน มันก็ทำให้น่าคิดเหมือนกันว่าแท้ที่จริงแล้วในตอนนี้ ธัมมชโย ยังกบดานอยู่ในวัดพระธรรมกายหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา ก็เงียบเชียบผิดสังเกต

แต่เอาเป็นหากพิจารณากันทีละขั้นตอน ก็ต้องรอดูว่า ในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ ทางอัยการสูงสุดจะสั่งฟ้องคดีหรือไม่ เพราะหากสั่งฟ้อง ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ก็จะบุกเข้าจับกุม หลังจากนั้น ตามที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ประกาศเอาไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งก็จะได้รู้กันด้วยว่า ธัมมชโย ยังอยู่หลบอยู่ในวัดพระธรรมกาย หรือว่าหลบหนีออกไปแล้ว

ขณะเดียวกัน หากในวันดังกล่าวทางอัยการเลื่อนสั่งคดีออกไปเป็นครั้งที่ 5 อีกทีนี้แหละน่าจะยุ่งเหมือนกัน ที่ว่ายุ่งนี่น่าจะมีความหมายในทางความเสื่อมศรัทธาที่ขาดผึงลงไป เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านเฝ้ามองด้วยสายตาที่หวาดระแวงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะองค์กรใดองค์กรหนึ่งเท่านั้นแต่จะเหมารวม นั่นคือ ทั้งอัยการ และดีเอสใอ ความรู้สึกเก่าๆ ตัวละครเก่าจะตามกลับมาหลอกหลอนอีก โดยเฉพาะปรากฏการณ์พิลึก เช่น กรณีที่อดีตอัยการสูงสุดคนหนึ่งสั่งถอนฟ้อง ธัมมชโย เมื่อปี 2549 ในคดียักยอกทรัพย์ของวัดพระธรรมกาย ก่อนที่ศาลฎีกาจะตัดสินคดีเพียงไม่กี่วันเท่านั้น

ส่วนกรมสอบสวนคดีพิเศษก็มีเรื่องอื้อฉาวมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในเวลานี้จะมีภาพลักษณ์เริ่มดีขึ้นมาบ้าง แต่ก็มีเรื่องชวนให้ระแวงอีกเมื่อมีการตรวจสอบพบว่ามีข้าราชการสองรายมีเงินงอกในบัญชีประมาณ 40 ล้านบาท และกำลังถูกสอบสวนกันอยู่ รวมไปถึงระดับรองอธิบดีสองคนถูกย้ายไปประจำสำนักปลัดสำนักนายกฯ โดยถูกระบุว่า เป็นเพราะพยายามเตะถ่วงคดีของธัมมชโย และแม้ว่าเรื่องอื้อฉาวดังกล่าวเป็นเรื่องต่อเนื่องมาจากยุคก่อน และถือเป็นเรื่องดีที่มีการตรวจสอบกันขึ้น แต่ถึงอย่างไรมันก็ทำให้องค์กรมัวหมองวันยังค่ำ

ดังนั้น ในวันที่ 30 พฤศจิกายน นอกจากต้องลุ้นให้ได้ว่า อัยการจะสั่งฟ้อง ธัมมชโย หรือไม่แล้ว เพราะถ้าสั่งฟ้อง ก็ต้องมาลุ้นต่อว่าจะบุกเข้าจับตัวในวัดหรือไม่ แต่ขณะเดียวกัน เมื่อถึงวันนั้นก็ต้องมาจับตาดู ว่า “เขา” ยังอยู่หรือไม่ หรือว่าเผ่นหนีไปตั้งนานแล้ว เพราะถ้าหนีไปแล้วถึงจะสั่งฟ้องหรือไม่ก็ไม่มีความหมาย แต่ความหมายก็จะตกไปที่ อัยการและกรมสอบสวนคดีพิเศษทันที เนื่องจากความศรัทธาจะขาดผึงทันทีเหมือนกัน !!
กำลังโหลดความคิดเห็น