ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อ้างนัดสมาชิกจ่อประชุม สนช.1-2 ธ.ค.เหตุรัฐบาลส่งสัญญาณอาจมีวาระด่วนต้องนำเข้า แต่ไม่รู้อะไร คาดเรื่องสนธิสัญญา รับอาจเชิญองค์กรอิสระร่วมพิจารณากฎหมายลูกที่เกี่ยวข้อง ชี้เห็นต่างเรื่องปกติอย่ามองเป็นปมขัดแย้ง ย้ำไม่มีใบสั่ง มีแค่คำแนะนำ
วันนี้ (21 พ.ย.) ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการประชุม สนช.ในวันที่ 1-2 ธ.ค. ว่า ไม่ได้มีการนัดพิเศษอะไร แต่ที่ประสานสมาชิกให้เตรียมพร้อมนั้นเพราะช่วงเดือนธันวาคมมีวันหยุดยาวติดกัน จึงเกรงว่าจะมีปัญหาเรื่ององค์ประชุม ประกอบกับได้รับสัญญาณจากรัฐบาลว่าอาจจะมีวาระเร่งด่วนที่จะต้องนำเข้าที่ประชุม สนช. แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นวาระอะไร คาดว่าจะเกี่ยวกับวาระการให้ความเห็นชอบสนธิสัญญาต่างๆ ซึ่งเกรงว่าองค์ประชุมจะไม่ครบ เพราะไปได้ยินสมาชิกคนหนึ่งบอกว่าจะมีการจองตั๋วไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ มีเพียงแค่นี้ไม่ได้มีคำสั่งอะไรเป็นทางการอย่างที่หนังสือพิมพ์ลงข่าว
นายพรเพชรได้กล่าวถึงการพิจารณาข้อคิดเห็นของกรรมาธิการ (กมธ.) การเมือง สนช.เกี่ยวกับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทาง สนช.จะพิจารณาเองและสิ่งที่พิจารณาก็เตรียมไว้เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งเท่านั้น คงมีข้อมูลส่วนอื่นๆ ด้วย เพราะ กมธ.ได้คุยในหลักการว่าผู้ที่จะร่วมพิจารณาจะประกอบไปด้วยผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และรัฐบาล แต่อย่าลืมว่ารัฐบาลมีส่วนสำคัญในการที่จะพิจารณากฎหมาย ปกติกฎหมายจะถูกเสนอโดยรัฐบาล แต่ตามรัฐธรรมนูญฉบับประชามติกฎหมายเสนอโดย กรธ. และหากจะทำกฎหมายเกี่ยวกับองค์กรอิสระก็ต้องเชิญ องค์กรอิสระมาเป็นกรรมการด้วย ซึ่งสิ่งที่ กมธ.ไปศึกษาเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความเห็นของประชาชน นักวิชาการ ศึกษาในเรื่องต่างๆ ในเชิงเปรียบเทียบทั้งของต่างประเทศและสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต เพื่อจะไม่ให้สิ่งเหล่านั้นมากระทบต่อการทำกฎมายให้ดีขึ้น และการทำกฎหมายที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระทั้งทีก็ไม่ควรถอยหลังเข้าคลอง แต่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญย่อมถูกรัฐธรรมนูญกำกับอยู่ ดังนั้นสัดส่วนของ กรธ.จะต้องมีอยู่ในกรรมการ เมื่อพิจาณาทั้งหมดแล้วจะเห็นได้ว่า สนช.ฟังทุกฝ่าย
“ยืนยันว่าเราไม่ความขัดแย้งกัน แต่เป็นเรื่องปกติที่จะมีความเห็นแตกต่างกัน ขออย่ามองว่าเป็นความขัดแย้ง เพราะ ทุกฝ่ายต่างยึดถือความยุติธรรม และประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก และขอย้ำไม่มีใบสั่งในการพิจารณามีเพียงคำแนะจากทุกหน่วยงานที่ สนช.จะต้องรับฟัง ผมเคยผ่านประสบการณ์สิ่งเหล่านี้มามาก ผมเป็นผู้พิพากษาถ้าผมบอกว่าผู้บังคับบัญชาหรือผู้ที่มีอาวุโสกว่าสั่งมา แล้วผมบอกว่าโอเค แล้วอย่างนี้คำพิพากษาจะอย่างไร อย่าไปมองในสิ่งเหล่านั้น เพียงแต่ทุกฝ่ายยึดถือความเป็นธรรม ดังนั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องโต้เถียงกัน ถ้านำไปเป็นประเด็นโต้แย้งโดยไม่มีมูลฐานของข้อเท็จจริงอย่างนั้นเคยมาว่ากัน แต่ถ้าเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่บนพื้นฐานของแต่องค์กร ก็จะทำให้เมืองราบรื่น ยืนยันว่าในการพิจารณากฎหมาย สนช.ไม่มีใบสั่ง แต่ใบแนะนำมี ซึ่ง สนช.ก็ต้องฟังไม่ใช่ฟังเฉพาะอันใดอันหนึ่ง แต่ สนช.คำนึงถึงประโยชน์สุขของประชาชนและบ้านเมือง” นายพรเพชรกล่าว