xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” หวั่น จนท.รัฐฟอกผิดเอกชน คดียึดน้ำมันเถื่อนบนเรือเชฟรอนที่สงขลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางสาวรสนา โตสิตระกูล(ภาพจากแฟ้ม)
อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ จับตาคดียึดน้ำมันส่งออก แต่ลอบนำกลับเข้ามาใช้ในไทยโดยเรือเชฟรอนที่สงขลา มูลค่า 48 ล้านบาท 2 ปีกว่า คดีจบไม่ลง ระบุ ศุลกากรตีความฐานขุดเจาะอยู่นอกราชอาณาจักร เอื้อเอกชน ลือสะพัดบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่เตรียมสู้คดีอ้างน้ำมันติดเรือมา

วานนี้ (14 พ.ย.) เวลาประมาณ 21.53 น. นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร และ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจรสนา โตสิตระกูล หัวข้อ “จับตาการสอบเพื่อไม่ให้มีการฟอกความผิด กรณีการยึดน้ำมันเถื่อนที่ด่านสงขลา” โดยมีรายละเอียดดังนี้

กรณีเรือบริการ (supply boat) ของบริษัท เชฟรอนสำรวจและผลิต (สผ.) จำกัด ซื้อน้ำมันจากบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ที่อ้างว่า ส่งออก และได้ยกเว้นภาษีขาออกตั้งแต่ออกจากโรงกลั่นน้ำมัน แต่กลับนำไปขายให้บริษัทในเครือเดียวกัน และนำมาวิ่งเข้าออกน่านน้ำไทย ซึ่งเป็นน้ำมันที่ใส่สารมาร์กเกอร์เขียวให้เห็นว่าเป็นน้ำมันส่งออก แต่กลับนำมาใช้ในประเทศ ซึ่งถือเป็นน้ำมันเถื่อน เพราะน้ำมันที่มีมาร์กเกอร์สีเขียว ทำไว้เพื่อป้องกันการอ้างส่งออกแต่ลักลอบเอากลับมาใช้ในประเทศ เรือของเชฟรอน สผ. ถูกจับได้ที่ด่านสงขลาจำนวน 8 ลำ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 บริษัท เชฟรอน สผ.จำกัด ขอทำเรื่องระงับคดีกับด่านสงขลา โดยยอมให้ยึดน้ำมันกว่า 1 ล้าน 6 แสนลิตร ซึ่งด่านสงขลาขายไปได้เงินมา 48 ล้านบาท แต่มูลค่าของที่ยึดได้เกิน 5 แสนบาท จึงไม่สามารถอนุมัติการระงับคดีที่ด่านสงขลา ต้องส่งมาให้คณะกรรมการเปรียบเทียบระงับคดีตาม พ.ร.บ. ศุลกากรอนุมัติ

เรื่องการอนุมัติการระงับคดีเพื่อจะได้ส่งเงิน 48 ล้านบาท เข้าเป็นรายได้แผ่นดินยังค้างคามาเกิน 2 ปีครึ่ง ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ มีคำถามว่าเหตุใดจึงปล่อยเรื่องค้างคาไว้นานเช่นนี้ ซึ่งหากมิใช่เพราะความหย่อนยานของระบบตรวจสอบภายใน ก็อาจจะกำลังหาทางช่วยบริษัทเอกชนให้พ้นผิด ใช่หรือไม่?

เวลานี้มีข่าวว่ากำลังสอบกันวงในเงียบๆ ในกระทรวงการคลัง และมีข่าวแว่วมาว่า จะมีการยกข้อต่อสู้ว่า เป็น “น้ำมันติดเรือมา” ซึ่งหากเป็นเช่นข่าวร่ำลือจริง ก็ต้องบอกว่าเป็นข้อต่อสู้ที่ขัดหลักกฎหมายและข้อเท็จจริง หากผู้สอบในกระทรวงคลังยอมให้มีข้อต่อสู้แบบนี้ ก็อาจจะถูกตั้งข้อสงสัยได้ว่ากำลังใช้หลักเกณฑ์ที่บิดเบี้ยว เพื่อช่วยบริษัทเอกชนหรือไม่ ? และอาจจะทำให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์ของประเทศในอนาคต ซึ่งความเสียหายจะเกิดด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1 ) เมื่อบริษัท เชฟรอน ถูกจับที่ด่านสงขลา ไม่ได้ต่อสู้ว่าเป็นน้ำมันติดเรือ หากจะอ้างว่าเป็นน้ำมันติดเรือ ต้องเป็นเรือที่มาจากต่างประเทศ และต้องมีใบแจ้งว่ามีของติดเรืออะไรมาบ้าง และต้องส่งให้ด่านศุลกากรภายใน 24 ชั่วโมง โดยคนแจ้งต้องเป็นกัปตันเรือ เมื่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรขึ้นตรวจเรือ หากพบว่ามีของที่ไม่ได้แจ้งในใบรายงานเรือเข้า เจ้าหน้าที่สามารถยึดได้หมด เพราะถือว่าเป็นการลักลอบเอาของเถื่อนเข้าประเทศ

การที่บริษัท เชฟรอน สผ. ยอมให้ยึดน้ำมันเท่ากับยอมรับว่า เป็นของผิดกฎหมาย ผ่านมากว่า 2 ปีครึ่ง จึงไม่สามารถต่อสู้ว่าเป็นน้ำมันติดเรือ หากยอมให้มาต่อสู้ย้อนหลังเช่นนี้ ก็จะเป็นบรรทัดฐานต่อไปหรือไม่ว่า ใครๆ ก็สามารถนำของเข้าประเทศโดยไม่แจ้ง เมื่อถูกจับและยึดของแล้วค่อยมาขอต่อสู้ย้อนหลัง เพื่อไม่ให้ถูกยึดของ หากกรณีนี้ทำได้ ต้องตั้งคำถามว่าเจ้าหน้าที่ที่ตรวจสอบ กำลังช่วยปกป้องบริษัทเอกชนที่ทำผิด ใช่หรือไม่?

2) เรือซัปพลายของเชฟรอน สผ. เป็นเรือที่ใช้ขนอุปกรณ์เพื่อการขุดเจาะ เรือเหล่านี้วิ่งอยู่ระหว่างแท่นขุดเจาะกับท่าเรือในประเทศ เป็นเรือที่วิ่งภายในราชอาณาจักร ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 2899/2557 จึงไม่ใช่เรือสินค้าจากต่างประเทศที่อ้างว่ามีของติดเรือจากนอกราชอาณาจักร คือ มาจากแท่นขุดเจาะในพื้นที่ไหล่ทวีป

การที่กรมศุลกากรไปยอมรับว่าฐานขุดเจาะในพื้นที่ไหล่ทวีป เป็นพื้นที่นอกราชอาณาจักร คือ การกลัดกระดุมเม็ดแรกที่ผิด เป็นการตีความโดยไม่ดูกฎหมาย เพราะนิติกรศุลกากรในอดีตเข้าใจกันดีว่า หากมีกฎหมายเฉพาะและกฎหมายทั่วไปเกี่ยวกับคำนิยามเรื่องราชอาณาจักร ศุลกากรต้องใช้กฎหมายเฉพาะก่อนตามประเภทของ “ของ” ซึ่งกฎหมายเฉพาะระบุนิยามไว้ ดังนั้น “ของ” ที่เป็น “น้ำมันเชื้อเพลิง” จึงต้องขึ้นอยู่กับนิยามตามกฎหมายเฉพาะ คือ พ.ร.บ. ปิโตรเลียม 2514 ที่ระบุชัดเจนว่าคำว่า “ราชอาณาจักร” หมายรวมพื้นที่ในไหล่ทวีปด้วย

การตีความแบบไม่ดูเจตนารมณ์ว่าเหตุใด พ.ร.บ. ศุลกากร จึงไม่มีคำนิยามของคำว่า ราชอาณาจักร ทั้งนี้ ก็เพื่อให้กฎหมายศุลกากรมีความยืดหยุ่นไปตามนิยามของ “ของ” ที่มีกฎหมายเฉพาะบัญญัติไว้เพื่อการเก็บภาษี กฎหมายศุลกากรต้องใช้ควบคู่กับกฎหมายอื่นเป็นร้อยฉบับ การตีความโดยหาช่องโหว่แบบนี้ ทำให้เกิดปัญหาจนบัดนี้ น่าสงสัยว่า เป็นการพยายามหาช่องว่างของกฎหมายมาตีความเพื่อเอื้อประโยชน์เอกชนหรือไม่? เพราะการตีความเช่นนี้เพิ่งเกิดขึ้นในปี 2554 ก่อนหน้านี้ ทุกบริษัทที่นำน้ำมันเชื้อเพลิงไปใช้ที่แท่นขุดเจาะ ก็จ่ายภาษีให้รัฐถือเป็นการใช้ในประเทศ เพิ่งจะเกิดเหตุตีความแบบนี้เพื่อให้บริษัทเดียวมาใช้เลี่ยงภาษี ใช่หรือไม่?

ข้าราชการที่ดี ต้องไม่ตีความกฎหมายให้รัฐเสียประโยชน์เรื่องภาษี และหากยังยืดเยื้อซื้อเวลาไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องนั้น ควรถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นเรื่องสุจริตหรือไม่?

3) น้ำมันเขียวที่อ้างว่าติดเรือนั้น เป็นน้ำมันที่ไม่มีภาษี มีไว้ส่งออก และเพื่อช่วยเหลือชาวประมงที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องให้ไปจับปลานอกน่านน้ำไทยเท่านั้น เรือประมงที่ใช้น้ำมันเขียวจะนำกลับมาใช้ในประเทศไม่ได้

การที่เรือซัปพลายของบริษัทเชฟรอน สผ. ซื้อน้ำมันจากบริษัทในเครือเดียวกัน คือ จากบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ที่อ้างว่า ส่งออก จึงเป็นกระบวนการเลี่ยงภาษีที่ออกแบบซับซ้อนแบบ 2 ชั้น เพื่อตบตาใช่หรือไม่? การที่เรือบริการของเชฟรอน สผ. ถูกจับที่ด่านสงขลาจึงเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญว่าบริษัท เชฟรอนไทย ไม่ได้ส่งออกน้ำมันจริง การตีความว่าแท่นขุดเจาะที่ไหล่ทวีปเป็นนอกราชอาณาจักร จึงเป็นการจงใจเปิดช่องให้เอกชนเลี่ยงภาษีได้ใช่หรือไม่?

การนำน้ำมันที่อ้างว่าส่งออกไปขายให้เชฟรอน สผ. ใช้ที่แท่นขุดเจาะและนำมาวิ่งในน่านน้ำอ่าวไทย จึงเป็นการหลีกเลี่ยงภาษี โดยมีข้าราชการร่วมสมคบคิดออกแบบการตีความผิดๆแบบนี้ใช่หรือไม่?

เมื่อถูกด่านสงขลาจับได้ เชฟรอน สผ. จึงยอมระงับคดีโดยให้ยึดน้ำมันเรือไว้

สิ่งที่กระทรวงการคลังควรทำโดยรีบด่วนคือ อนุมัติการระงับคดี และส่งเงิน 48 ล้านบาท เข้าเป็นรายได้แผ่นดิน อย่าให้ข่าวร่ำลือเป็นจริงว่ากำลังหาทางพลิกคดีว่าน้ำมันเขียวที่ถูกยึดและขายไปแล้วกลายเป็นน้ำมันติดเรือ หากมีการย้อนหลังไปตีความแบบนั้น ผลกระทบที่ตามมาจะเสียหายมากกว่านี้เท่ากับหน่วยงานรัฐสมยอมให้เกิดบรรทัดฐานให้นำน้ำมันเขียวย้อนกลับมาใช้ในประเทศได้ จะกลายเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้น้ำมันเถื่อนภายในประเทศโดยถูกกฎหมายอย่างกว้างขวาง

การสอบเรื่องนี้ ไม่ควรปล่อยให้เป็นการสอบเงียบๆ ภายในกระทรวง แต่ควรตั้งกรรมการสอบโดยเชิญอดีตนายด่านสงขลาที่จับและยึดน้ำมันของบริษัท เชฟรอน มาสอบถามข้อมูลและเหตุผล เพื่อจะได้สรุปปิดคดีนี้และส่งเงินที่ยึดไว้ 48 ล้านบาท เข้าเป็นรายได้ของแผ่นดินโดยเร็ว

หากการสอบกรณียึดน้ำมันเถื่อนที่ด่านสงขลา กลายเป็นมวยล้มต้มคนดู ข้าราชการทั้งหลายที่รับผิดชอบ ต้องระวังการกระทำที่จะเข้าข่ายไปฟอกสิ่งที่ผิดให้กลายเป็นสิ่งที่ถูก ผู้บริหารตั้งแต่ระดับรัฐมนตรีลงมาที่ไม่เข้ามากำกับสั่งการให้มีการปฏิบัติให้ถูกต้อง อาจเข้าข่ายการละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 และต้องรับผิดทางแพ่งที่ทำให้รัฐเสียหาย ส่วนข้าราชการนอกจากจะมีความผิดทั้งทางอาญา ทางแพ่งแล้ว ยังมีความผิดวินัยทางราชการอีกด้วย ขอให้ดูอดีตที่ปรึกษาฯกรมสรรพากรที่ใช้อำนาจตอบข้อหารือเอื้อเอกชนให้เลี่ยงภาษี และถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกไว้เป็นอนุสติเตือนใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น