xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะใส” ชี้ประท้วงไม่เอา “ทรัมป์” สะท้อนวิกฤตเลือกตั้งแบบตัวแทน แนะไทยดูเพื่อปฏิรูป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (แฟ้มภาพ)
รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต ชี้ชาวอเมริกันประท้วงผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีมีนัยสำคัญ ชาวบ้านไม่เอา “ทรัมป์” เป็นวิกฤตระบอบตัวแทน สะท้อนขีดจำกัดระบบเลือกตั้ง ต่างจากบ้านเราที่ยังให้ “ยิ่งลักษณ์” บริหารไปก่อน แนะสังคมเอามาเป็นโอกาสปฏิรูป อุดช่องโหว่ นำไปสู่ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม หรือทางตรง

วันนี้ (13 พ.ย.) นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า ตนเห็นว่าวิกฤตการเมืองในสหรัฐอเมริกาภายหลังผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี และมีการประท้วงใหญ่ในหลายๆ เมืองและมีทีท่าจะขยายวงยื้ดเยื้อนั้น มีนัยสำคัญที่โลกและสังคมไทยต้องเรียนรู้จากปรากฏการณ์นี้หลายมิติด้วยกัน

นายสุริยะใสกล่าวว่า การประท้วงของคนอเมริกันครั้งนี้เป้าหมายไม่ใช่การประท้วงการเลือกตั้ง หรือกล่าวหาว่ามีการทุจริตเลือกตั้ง และผู้แพ้คือนางฮิลลารี คลินตัน ก็ออกมายอมรับผลการเลือกตั้งและไม่ได้ร้องคัดค้านผลการเลือกตั้งแต่อย่างใด เป้าหมายของกลุ่มผู้ประท้วงกลับไปอยู่ที่การไม่ยอมรับในตัวผู้ชนะเลือกตั้ง แม้ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ชนะจะออกมากล่าวว่าเขาจะเป็นประธานาธิบดีของอเมริกันชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายก็ตาม

“ผมว่านี่เป็นวิกฤตระบอบตัวแทนและสะท้อนขีดจำกัดของระบบเลือกตั้งทั่วโลก แม้แต่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นตัวแบบและผู้ส่งออกประชาธิปไตยก็กำลังตกที่นั่งลำบาก เมื่อผู้ชนะเลือกตั้งไม่เป็นที่ยอมรับของผู้แพ้ กรณีนี้เป็นวิกฤตที่ลึกกว่าวิกฤตเลือกตั้งในไทย เพราะประเทศไทยแม้มีเลือกตั้งในช่วงยามความแตกแยกแบ่งขั้วข้างก็ยังให้ผู้ชนะบริหารประเทศไปได้ระยะหนึ่ง การประท้วงจึงเกิดขึ้นอันเนื่องจากนโยบายที่ผิดพลาด เช่น กรณีของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็บริหารได้อยู่ 2 ปี 4 เดือน ถึงถูกขับไล่จากประชาชน เพราะเตรียมออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้พี่ชายตัวเอง” นายสุริยะใสกล่าว

นายสุริยะใสกล่าวว่า การประท้วงนายโดนัลด์ ทรัมป์ครั้งนี้ จึงบอกเราว่าระบอบประชาธิปไตยมีขีดจำกัด หากยังเอาชะตากรรมของประชาชนไปชี้แพ้ชี้ชนะกันด้วยบัตรเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว สังคมไทยก็ควรใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาสในการปฏิรูประบอบประชาธิปไตย สร้างกลไกเพื่อเติมเต็มหรืออุดช่องโหว่ข้อบกพร่องของประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่ทำให้ผู้ชนะกินรวบ หรือที่เรียกว่า winner take all จนไม่มีที่ยืนให้เสียงข้างน้อย เอาเข้าจริงเวลาเราพูดคำว่าเปลี่ยนผ่านมันควรรวมความหมายถึงการเปลี่ยนผ่านจากประชาธิปไตยแบบตัวแทนไปสู่ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม หรือประชาธิปไตยทางตรงที่เพิ่มพื้นที่ให้แก่ประชาชนได้ตัดสินใจด้วยตัวเองมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น