เปิดคำพิพากษาศาลปกครองสูง พิพากษาเพิกถอนประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อ 26 ปีที่แล้ว เหตุเป็นประกาศไม่ผ่านมติ ครม. กำหนดท้องที่บ้านโพนไพล อําเภอพระทองคํา จ.นครราชสีมา อนุญาตให้ตั้ง “โรงงานทําเกลือสินเธาว์ และโรงงานสูบหรือนําน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน” เผยชาวบ้านฟ้องศาลปกครองนครราชสีมา เมื่อปี 2548 โดยมีสั่งเพิกถอนประกาศแล้วเมื่อปี 2550 แต่กรมโรงงานอ้าง เป็นแค่คำพิพากษาขั้นต้น คาดโรงงานเกลือพื้นที่โคราชกระทบเพียบ
วันนี้ (13 พ.ย.) มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา ราชกิจนุเบกษาเผยแพร่ประกาศสํานักงานศาลปกครอง เรื่องศาลปกครองพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนกฎ มีใจความว่า
“ด้วยศาลปกครองสูงสุดได้มีคําพิพากษาในคดีหมายเลขแดง ที่ อ.๑๑๘๘/๒๕๕๙ ระหว่าง นายถาวร เพชรขุนทด ที่ ๑ นายรอด ถึกขุนทด ที่ ๒ นายรักชัย จันทเชิต ที่ ๓ นายสุเชาว์ ขานนาม ที่ ๔ นายสงวน นาคา ที่ ๕ นางเจียง ถึกขุนทด ที่ ๖ นางวิภาวรรณ ขานนาม ที่ ๗ นางสมมุ่ง ชัยสันเทียะ ที่ ๘ นางละม่อม นรารักษ์ ที่ ๙ นางสาย บ้ำสันเทียะ ที่ ๑๐ นางสุณีพร เพชรขุนทด ที่ ๑๑ นางสาวน้อย จันทเชิต ที่ ๑๒ นางนกเขา สารโชติ ที่ ๑๓ นางสําลี บ้ำสันเทียะ ที่ ๑๔ นายฉาย กลมกล่อม ที่ ๑๕ นางแมว รสสูงเนิน ที่ ๑๖ นางลอ สุวรรณ ที่ ๑๗ นางสํารวย กอสันเทียะ ที่ ๑๘ นางสาย บ้ำสันเทียะ ที่ ๑๙ นายจ้อน จันทเชิต ที่ ๒๐ นางสมพร บ้ำสันเทียะ ที่ ๒๑ นางบุญสม จันทเชิต ที่ ๒๒ ผู้ฟ้องคดี
ฟ้องคดี กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ ๑ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่ ๒ กรมควบคุมมลพิษ ที่ ๓ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ที่ ๔ ผู้ว่าราชการจังหวัด นครราชสีมา ที่ ๕ อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ที่ ๖ องค์การบริหารส่วนตําบลพังเทียม ที่ ๗ ผู้ถูกฟ้องคดี
โดยพิพากษาเพิกถอนประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กําหนดท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทําเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนําน้ําเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน ลงวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๓๔ เฉพาะข้อ ๒.๓ ที่กําหนดให้บ้านโพนไพล ตําบลพังเทียม อําเภอโนนไทย (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นอําเภอพระทองคํา) จังหวัดนครราชสีมา เป็นท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทําเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนําน้ําเกลือ ขึ้นมาจากใต้ดิน ตั้งแต่วันที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๓๔ จึงประกาศให้ทราบทั่วกัน
ประกาศ ณ วันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๙
ไกรรัช เงยวิจิตร เลขาธิการสํานักงานศาลปกครอง”
สำหรับประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับดังกล่าว เกิดขึ้นสมัยนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี มีนายสิปปนนท์ เกตุทัต (ถึงแก่อนิจกรรม) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ส่วนนายดำรง รัตนพานิช เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด โดยประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องกำหนดท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และสูบน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน ลงวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2534 ตามคำฟ้องของ นายถาวร เพชรขุนทด แกนนำชาวบ้านโพนไพล ตำบลพังเทียม อำเภอพระทองคำ จังหวัดนครราชสีมา ระบุว่า ทำให้ในพื้นที่ดังกล่าว มีการตั้งโรงงานทำเกลือเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาดินเค็มในพื้นที่ จากการประเมินในเบื้องต้น เฉพาะที่หมู่บ้านโพนไพล พบว่ามีพื้นที่เกษตรของชาวบ้านได้รับความเสียหายไม่ต่ำกว่า 200 ไร่ “เมื่อก่อนปีหนึ่งเราทำนาได้ข้าวร้อยกว่ากระสอบ แต่ผลผลิตเราลดลงเรื่อยๆ เมื่อปี 2551 ได้ข้าวแค่ 60 กระสอบ พอปีที่แล้วเหลือเพียง 40 กระสอบ”
โดยเมื่อปี 2548 นายถาวรและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบรวม 22 คน ได้ร่วมกันฟ้องร้องต่อศาลปกครองจังหวัดนครราชสีมา เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม โดยได้รับช่วยเหลือด้านการดำเนินคดีจากสภาทนายความ
ประเด็นสำคัญที่ชาวบ้านร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง คือ ขอให้ยกเลิกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับลงวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2534 นั้นเสีย รวมทั้งเพิกถอนประทานเหมืองแร่และใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานจำนวนทั้งสิ้น 10 ราย และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินคดีทางแพ่งและทางอาญากับผู้ที่ก่อให้เกิดผลกระทบ ตลอดจนฟื้นฟูพื้นที่ให้มีสภาพความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติดังเดิม
โดยคำฟ้องระบุว่า ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมิได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 นอกจากนี้ ตามเงื่อนไขของประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม การจะก่อสร้างโรงงานจะต้องมีการติดประกาศแจ้งชาวบ้านล่วงหน้า และหากมีชาวบ้านคัดค้าน ก็ต้องมีการชะลอการออกใบอนุญาตไปก่อน แต่ที่ผ่านมาชาวบ้านได้มีการร้องเรียนปัญหา ทว่าจำนวนโรงงานในพื้นที่ยังคงเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็มีบางโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตหากแต่อยู่นอกเขตพื้นที่ที่มีการอนุญาตตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมดังกล่าวด้วย
เดิมการทำนาเกลือในพื้นที่ตำบลพังเทียมนั้นเริ่มมีมาตั้งแต่ประมาณปี 2532 แต่ขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายออกมาควบคุมการทำนาเกลือแต่อย่างใด จนกระทั่งเมื่อปี 2534 ได้มีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมออกมาว่ามีพื้นที่ใดบ้างที่สามารถจะทำนาเกลือได้ และตำบลพังเทียมก็เข้าหลักเกณฑ์เช่นกัน
เหตุผลในการกำหนดให้พื้นที่บ้านโพนไพลเป็นพื้นที่ในประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และสูบน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน ลงวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2534 เนื่องจากว่า 1. ตำบลพังเทียมเป็นพื้นที่ที่มีการทำเกลือสินเธาว์อยู่ก่อนแล้ว 2. ตำบลพังเทียมตั้งอยู่ในแหล่งดินเค็ม ไม่เหมาะแก่การทำการเกษตร เนื่องจากมีพื้นที่ดินเค็มทั้งอำเภอ คิดเป็นร้อยละ 100 ของพื้นที่ 3. ตำบลพังเทียมมีความเหมาะสมในด้านแหล่งน้ำใต้ดินและผิวดิน เหมาะแก่การทำเกลือมากกว่าการทำเกษตร 4. ตำบลพังเทียมไม่เป็นพื้นที่ป่าไม้ตามข้อมูลของทางราชการ พื้นที่ดังกล่าวไม่เป็นพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ และไม่เป็นพื้นที่ป่าเพื่อเศรษฐกิจ รวมทั้งไม่เป็นเขตพื้นที่ป่าที่เหมาะสมต่อการเกษตร ตลอดจนพื้นที่บริเวณนี้ได้ตั้งอยู่นอกเขตควบคุมของกรมป่าไม้
ในพื้นที่บริเวณนี้ 4 อำเภอ คือ โนนไทย โนนสูง ด่านขุนทด และพระทองคำนั้น ได้เกิดเหตุการณ์หลุมยุบ มาแล้วหลายครั้ง ชาวบ้านกังวลว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นอีกและรุนแรงมากขึ้นด้วย เริ่มตั้งแต่ประมาณปี 2530 ชาวบ้านก็ได้รับผลกระทบจากฝุ่นควันอันเนื่องมาจากแกลบซึ่งใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานต้มเกลือ ปี 2538 ชาวบ้านในพื้นที่บ้านวัง อำเภอโนนไทยต้องหวาดผวากับหลุมยุบขนาดใหญ่กว่า 1 กิโลเมตร และเมื่อ 3-4 ปีก่อนชาวบ้านในพื้นที่ตำบลสำโรง อำเภอโนนไทย ก็ได้รับผลกระทบจากหลุมยุบมาแล้ว 4 หลุมเช่นกัน
ส่วนคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนี้ ๑. ยกเลิกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับลงวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๓๔ ข้อ ๒.๓ เรื่องอนุญาตให้พื้นที่บ้านโนนไพล ตำบลพังเทียม อำเภอพระทองคำ จังหวัดนครราชสีมา เป็นพื้นที่ที่อนุญาตให้ทำเกลือสินเธาว์ และโรงงานสูบน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน
“๒. เพิกถอนประทานบัตรเหมืองแร่และใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ประกอบด้วย โรงงานศรีเอเชียเคมีคอล บจก. ทะเบียนโรงงาน ๓-๑๐๓(๑)-๒๑๓๖ นม โรงงานของนายสมาน สมันเลาะห์ ทะเบียนโรงงาน จ๓-๑๐๓(๑)-๖๑๓๘ นมโรงงานของนายแอ คล้ายคำดี ทะเบียนโรงงาน จ๓-๑๐๓(๑)-๑/๔๐ นม โรงงานของนายแอ คล้ายคำดี ทะเบียนโรงงาน จ๓-๑๐๓(๑)-๒/๔๐ นม โรงงานของนายไพโรจน์ ยิ้นสุขไพทูรฑ์ ทะเบียนโรงงาน ๓-๑๐๓(๑)-๑/๓๖ นม โรงงานศรีเอเชียเคมีคอล บจก. ทะเบียนโรงงาน ๓-๑๐๓(๑)-๑๐๓/๕/๓๖ นม โรงงานของนายสำราญ คำเปรม ทะเบียนโรงงาน ๓-๑๐๓(๑)-๑/๔๐ นม โรงงานของนายอาดำ รอฮีม ทะเบียนโรงงาน ๓-๑๐๓(๑)-๒/๔๐ นม โรงงานของบริษัท สยามทรัพย์มณี จำกัด ทะเบียนโรงงาน ๓-๑๐๓(๑)-๑/๔๒ นม และโรงงานของนายไกรสร โชติชาครพันธุ์ ทะเบียนโรงงาน ๓-๑๐๓(๑)-๑/๓๙ นม
๓. ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งเจ็ด คือ ๑).กระทรวงอุตสาหกรรม ๒).กรมโรงงานอุตสาหกรรม ๓).กรมควบคุมมลพิษ ๔).กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ๕).ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ๖).อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา และ ๗).องค์การบริหารส่วนตำบลพังเทียม ร่วมกันหรือแทนกันดำเนินคดีทางแพ่งและอาญาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบริษัท เกลือโคราช จำกัด นางยุภาภรณ์ วุฒิวณิชย์พิมล นายชัยวัฒน์ ปักเข็ม นายฮานาฟี นริทร นายโพด จักรแก้ว นายอดุลย์ หาญสงคราม
โรงงานของนายไพโรจน์ ยิ้มสุขไพโรจน์ ทะเบียนโรงงาน ๓-๑๐๓(๑)-๑/๓๖ นม โรงงานศรีเอเชียเคมีคอล บจก. ทะเบียนโรงงาน ๓-๑๐๓(๑)-๑๐๓/๕/๓๖ นม โรงงานของนายสำราญ คำเปรม ทะเบียนโรงงาน ๓-๑๐๓(๑)-๑/๔๐ นม โรงงานของนายอาดำ รอฮีม ทะเบียนโรงงาน ๓-๑๐๓(๑)-๒/๔๐ นม โรงงานของบริษัท สยามทรัพย์มณีจำกัด ทะเบียนโรงงาน ๓-๑๐๓(๔)-๑/๔๒ นม โรงงานของนายไกรสร โชติชาครพันธุ์ ทะเบียนโรงงาน ๓-๑๐๓(๑)-๑/๓๙ นม
๔. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๗ (กรมควบคุมมลพิษและองค์การบริหารส่วนตำบลพังเทียม) ดำเนินการฟื้นฟูบริเวณลำห้วยโนนเผาผี สระเก็บน้ำโนนเผาผี พื้นที่หมู่ ๖ และบริเวณลำห้วยด่าน พื้นที่หมู่ ๑๙ ตำบลพังเทียม อำเภอพระทองทอง จังหวัดนครราชสีมา ให้มีสภาพความอุดมสมาบูรณ์ตามธรรมชาติดั้งเดิม ก่อนจะมีประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรมฯ ให้ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสองคนสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติดังเดิมได้ตามปกติ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อพืชพันธุ์และผลิตของผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสองคน
ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (กรมอุตสาหกรรม) ให้การรับฟังได้ว่า ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมนั้นได้มีมติเห็นชอบให้กำหนดพื้นที่ทำเกลือสินเธาว์ และให้สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ความเห็นประกอบการอนุญาตด้วย เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและควบคุมผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในขอบเขตจำกัดตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ นร ๐๒๐๒/๑๑๔๐๙ ลงวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๓๔ จากนั้นกระทรวงอุตสาหกรรมได้นำมตินั้นไปออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และสูบน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน ลงวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๓๔ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๓๓ (๑) แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๑๒ โดยประกาศดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว และมีผลบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบันตามาตรา ๖๘ แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕ (๑)
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ (กรมโรงงานอุตสาหกรรม) ให้การรับฟังได้ว่า สำหรับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๓๔ นั้น เป็นกรณีที่กระทรวงอุตสาหกรรมขอความเห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับการกำหนดพื้นที่ และกำหนดมาตราการควบคุมกิจการทำเกลือจากน้ำเกลือใต้ดิน ซึ่งคณะรัฐมตรีได้ประชุมปรึกษากันเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๓๔ ลงมติเห็นชอบเกี่ยวกับหลักการในการกำหนดพื้นที่และกำหนดมาตรการควบคุมในการทำเกลือจากน้ำเกลือใต้ดิน ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการพลังงานเสนอเพิ่มเติม
มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวก็เป็นเพียงหลักการที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้นำมาประกอบการพิจารณาจัดทำประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน โดยได้นำร่างกฏหมายฉบับนี้เข้าสู่การขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งได้นำเฉพาะหลักการที่สำคัญเท่านั้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๓๔ มายกร่างประกาศเสนอคณะรัฐมนตรีและมีบางส่วนไม่ได้นำมากำหนดในประกาศดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่จะกำหนดไว้ในประกาศ
เมื่อคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาให้ความเห็นชอบตามร่างประกาศนี้แล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้นำมาออกประกาศ ลงวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๓๔ ซึ่งเป็นประกาศที่มีศักดิ์ตามกฎหมายออกตามความในมาตรา ๓๓ (๑) แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๑๒ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับดังกล่าวจึงเป็นการออกประกาศโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยผ่านการให้ความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี จึงเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการพิจารณาอนุญาตตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์ที่ทุกฝ่ายตั้งถือปฏิบัติ
ซึ่งหลักการที่ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสองคนอ้างถึงนั้น คือ การให้สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ความเห็นประกอบการอนุญาต ก็มิได้นำมากำหนดไว้ในประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับดังกล่าวด้วย
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ ถึงที่ ๗ (กรมควบคุมมลพิษ, กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่, ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, อุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา และองค์การบริหารส่วนตำบลพังเทียม) ให้การรับฟังโดยชี้แจ้งถึงขั้นตอนการอนุญาตโรงงาน
เริ่มจากการยื่นคำขอต่อเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กำหนดไว้ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบสถานที่ประกอบการ โดยพิจารณาให้ความชัดเจนว่าโรงงานที่ยื่นคำขอดั่งกล่าวได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ทางราชการกำหนดไว้ตามระเบียบข้อบังคับและคำสั่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อย่างครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ เป็นเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาต แล้วแจ้งผลการพิจารณาอนุญาต หรือไม่อนุญาตให้ผู้ขอทราบ
และเมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๕ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาได้ออกคำลั่งจังหวัดนครราชสีมาที่ ๓๖๘๑/๒๕๔๕ ตั้งคณะทำงานตรวจสอบสถานที่ประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมทำเกลือสินเธาว์ ณ ตำบลพังเทียม อำเภอพระทองคำ จังหวัดนครราชสีมา คณะทำงานได้ทำการตรวจสอบแนวเขตพื้นที่บ้านโพนไพล หมู่ที่ ๒ แล้ว การกำหนดแนวเขตหมู่บ้านโพนไพลหมู่ที่ ๒ ดังกล่าวไม่ตรงตามแนวเขตประกาศจังหวัดนครราชสีมาที่ประกาศไว้เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๓๒ มีโรงงานบางโรงอยู่นอกเขตพื้นที่กำหนด จึงได้แจ้งต่ออุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมาว่าให้โรงงานที่ได้รับอนุญาตไปแล้วแต่ไม่ถูกต้อง (เพราะตั้งอยู่นอกเขตดังกล่าว) ให้ยื่นอุทธรณ์ต่อตน เพื่อรายงานให้ส่วนการที่เกี่ยวข้องพิจารณาสั่งการต่อไป
ผู้ประกอบการซึ่งถูกพิจารณาว่าอยู่นอกเขตพื้นที่ดังกล่าว คือ ๑. คำขออนุญาตตั้งโรงงานของนายอดุลย์ หาญสงคราม ๒. โรงงานเลขที่ จ ๓-๑๐๓(๑)-๑/๓๙ นม ของนายไกรสร โชติชาครพันธุ์ ได้ยื่นอุทธรณ์ว่าพวกตนได้ประกอบกิจการโรงงานอยู่ในเขตพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตโดยชอบ มิได้มีเจตนาทำผิดกฎหมายแต่อย่างใด ขอให้ผ่อนผันการประกอบกิจการได้ต่อไป
สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมาได้ดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องโรงงานทำเกลือสินเธาว์ ที่ตั้งอยู่นอกเขตประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับลงวันทื่ ๙ ตุลาคม ๒๕๓๔ เรีบยร้อยแล้วด้วยการไม่ต่ออายุใบอนุญาต และส่งเรื่องไม่อนุญาตคำขอในรายที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ตรวจสอบแล้วพบว่าอยู่นอกเขตประกาศ
และยังมีข้อเท็จจริงที่ว่าโรงงานไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาตำบลและไม่ต้องขอความเห็นชอบจากจังหวัดแต่อย่างใด เนื่องจากไม่จัดอยู่ในประเภทโรงงานที่การประกอบกิจการก่อมลพิษส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างรุ่นแรง รวมถึงไม่จัดอยู่ในประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการที่ต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศของกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม
เห็นว่าพิจารณาที่จะอนุญาตให้ทำเกลือสินเธาว์ และเขตที่จะอนุญาตให้ทำการสูบน้ำเกลือใต้ดินของคณะทำงานตามคำสั่งที่ ๔/๒๕๓๓ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์หรือวัตถุประสงค์ของมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๓๔ กล่าวคือ การกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาเงื่อนไขการขออนุญาตตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน ฉบับปรับปรุงแก้ไข ครั้งที่ ๑ ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม และการอนุญาตกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงาน ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๓๕ ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่นั้น มิได้มีความเห็นชอบของสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกอบ ก่อนที่จะกำหนดหลักเกณฑ์พิจารณาเงื่อนไขการอนุญาตและการออกใบอนุญาตซึ่งโรงงานทำเกลือสินเธาว์หรือสูบน้ำเกลือใต้ดินนั้น ทั้งยังต้องผ่านการพิจารณาขององค์การบริหารส่วนตำบล โดยให้ความเห็นชอบในการพิจารณานุญาตประกอบกิจการโรงงานที่ก่อมลพิษซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๔๕ นายถาวร ตัวแทนชาวบ้าน และผู้ปกครองท้องที่ได้ร้องคัดค้านการอนุญาตทำนาเกลือ และร้องให้หน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบการทำนาเกลือถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม และตรวจสอบการกระทำของโรงงานทำเกลือ ซึ่งผลการตรวจสอบได้กล่าวมาแล้วข้างต้นตามคำให้การของผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา
ทั้งนี้ ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้ถ้อยคำรับฟังได้ว่า ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน ลงวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๓๔ ก่อนการประกาศใช้ไม่ได้ส่งไปให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่ระบุไว้ในประกาศดังกล่าว
ศาลมีคำพิพากษา เห็นว่า ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน ลงวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๓๔ เป็นการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อกำหนดท้องที่ที่จะอนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์ และโรงงานสูบน้ำเกลือหรือน้ำนำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน มิใช่เป็นการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อกำหนดจำนวนโรงงานแต่ละประเภท หรือชนิดตามที่ได้กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๑๒) และบัญชีแนบท้ายกฎกระทรวงดังกล่าว ที่จะอนุญาตให้ตั้งหรือขยาย หรือที่จะไม่อนุญาตให้ตั้งหรือขยายในท้องที่ใดท้องที่หนึ่ง จึงไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของบทบัญญัติในมาตรา ๓๓ (๑) แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๑๒ และเป็นประกาศที่ออกโดยไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด
เนื่องจากไม่ได้นำประกาศดังกล่าวไปให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ก่อนที่จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๓๔ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่มาตรา ๓๓ (๑) แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๑๒ ได้กำหนดไว้ จึงทำให้ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหนือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน ลงวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๓๔ ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีลักษณะที่ผิดพลาดอย่างชัดแจ้งและร้ายแรง ซึ่งในทางกฎหมายถือเสมือนว่าไม่มีการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทำเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนำน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน ลงวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๓๔ ศาลจึงไม่จำเป็นต้องมีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับดังกล่าว เพราะประกาศฉบับดังกล่าวย่อมไม่มีผลบังคับตามกฎหมายอยู่ในตัว ทั้งนี้ โดยเทียบคียงตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดงที่ อ.๔๗/๒๕๔๖
ฉะนั้น การออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานของโรงงานดังกล่าวตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้ง ๒๒ คนในข้อ ๒. จึงเป็นการออกใบอนุญาตไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะเพิกถอนได้ ศาลพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานของทั้งสิบโรงงานตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้ง ๒๒ คนในข้อ ๒. ตั้งแต่วันที่อนุญาต
โรงงานสิบโรงตามคำฟ้องข้อที่ ๒. ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการให้ประทานบัตรเหมืองแร่ เพียงแต่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเท่านั้น ศาลจึงไม่อาจมีคำพิพากษาตามคำขอในส่วนนี้ได้
คำฟ้องข้อที่ ๓. ศาลเห็นว่าเป็นการกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสองคนอย่างลอยๆ โดยไม่มีเอกสารหลักฐานหรือพยานหลักฐานอื่นใดที่จะพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าโรงงานทำเกลือในพื้นที่บ้านโพนไพล หมู่ที่ ๒ ตำบลพังเทียม อำเภอพระทองคำ จังหวัดนครราชสีมา มิได้ปฏิบัติตามข้อบังคับท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน และพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. ๒๕๑๒
คำขอที่ ๔ เป็นดุลยพินิจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๗ ที่จะพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ ศาลมิใช่ผู้บังคับบัญชาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๗ ที่จะพิพากษาสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๗ ร่วมกันหรือแทนกันดำเนินคดีทางแพ่งและอาญาตามที่ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสองคนมีคำขอได้ (๒)”
โดยนายถาวรเห็นว่า คำพิพากษาของศาลปกครองนครราชสีมา ในเรื่องประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฯ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2552 เป็นคำพิพากษาที่มีผลดีกับอีกหลายพื้นที่อย่างมาก เพราะล้วนแล้วแต่ใช้ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฯ ฉบับนี้กันทั้งสิ้น แต่ก็ยังมีเหตุว่าทำไมมีคำพิพากษาออกมา แต่ในพื้นที่หมู่ 2 บ้านโพนไพล ตำบลพังเทียม อำเภอพระทองคำ ก็ยังคงมีโรงงานเปิดดำเนินกิจการอยู่ และอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ได้ตอบข้อสงสัยว่า คดียังไม่สิ้นสุด เนื่องด้วยว่าคำพิพากษานี้เป็นคำพิพากษาของศาลปกครองขั้นต้นเท่านั้น ผู้ถูกฟ้องยังมีสิทธิอุทธณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้อีก
ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดได้มีคําพิพากษาในคดีหมายเลขแดง ที่ อ.1188/2559 ให้เพิกถอนประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับนี้ ในข้อ 2.3 ที่กําหนดให้บ้านโพนไพล ตําบลพังเทียม อําเภอโนนไทย (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นอําเภอพระทองคํา) จังหวัดนครราชสีมา เป็นท้องที่ที่อนุญาตให้ตั้งโรงงานทําเกลือสินเธาว์และโรงงานสูบหรือนําน้ำเกลือขึ้นมาจากใต้ดิน