xs
xsm
sm
md
lg

เดินเพลิน "คลองสาน" เปิดตำนานย่านการค้าเก่าแก่ของฝั่งธนฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระอุโบสถวัดพิชัยญาติ
กรุงเทพฯ แม้จะเป็นเมืองเล็กๆ แต่ทำไม๊...ทำไม ยิ่งเดินเที่ยวก็ยิ่งค้นพบเสน่ห์ของกรุงเทพฯ มากขึ้นทุกทีๆ อย่างคราวนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เขาก็จัดโครงการ "เดินเที่ยวกรุงเทพฯ" (Walking BKK) พาไปเดินย่านคลองสาน ฝั่งธนบุรีที่มีศาสนสถานงดงามหลายแห่ง และในอดีตยังเคยเป็นย่านการค้าริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีอู่ต่อเรือขนาดใหญ่ มีโกดังเก็บสินค้าใหญ่โตที่แสดงให้เห็นถึงความเฟื่องฟูของการค้าขาย เรียกว่าถ้าไม่ได้มาเดินเองแล้วก็ไม่รู้เลยว่าคลองสานจะมีสิ่งน่าสนใจมากมายถึงเพียงนี้

เราเริ่มต้นการเดินเท้าเที่ยวคลองสานกันที่หัวถนนสมเด็จเจ้าพระยา ฝั่งที่อยู่ติดกับสะพานพระปกเกล้า เอาฤกษ์เอาชัยด้วยการมากราบพระที่ “วัดพิชยญาติการามวรวิหาร” กันเป็นที่แรก จากริมถนนมองเข้าไปในวัดจะเห็นพระปรางค์ของวัดตั้งเด่นมาแต่ไกล
พระปรางค์สูงใหญ่
วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ทัต บุนนาค) เมื่อเข้าไปด้านในจะพบกับพระอุโบสถที่หน้าบันมีลวดลายแบบจีน ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อสมปรารถนา” หรือ “พระสิทธารถพุทธเจ้า” พระพุทธรูปองค์งามที่อัญเชิญมาจากพิษณุโลก ชื่อของท่านได้มาเพราะเล่ากันว่าหลวงพ่อจะประทานพรแก่ผู้ขอให้ได้สมปรารถนา

ความโดดเด่นของอุโบสถแห่งนี้ยังอยู่ที่ฐานรอบนอก ซึ่งมีภาพแกะสลักหินแกรนิตเป็นเรื่องราวพงศาวดารจีนเรื่องสามก๊กรายรอบอยู่ทั้งสี่ด้านรวม 22 ภาพ บางภาพลบเลือนจนดูยากว่าเป็นตอนใด บางภาพยังสมบูรณ์เห็นเรื่องราวตอนขงเบ้งดีดพิณลวงสุมาอี้ ตอนเล่าปี่ กวนอู เตียวหุยสู้รบกับลิโป้ ตอน จูล่งฝ่าทัพรับอาเต๊า เป็นต้น
พระพุทธบาท 4 รอย
ส่วนพระปรางค์ใหญ่ 3 ยอดด้านหลังพระอุโบสถก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่ห้ามพลาดชม พระปรางค์องค์กลางมีขนาดใหญ่ที่สุดคือมีขนาดสูงกว่า 40 เมตร ภายในเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทสี่รอยของพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ ได้แก่ พระกกุสัธะพระพุทธเจ้า พระโกนาคมนะพุทธเจ้า พระกัสสปะพุทธเจ้า และพระโคตมะพุทธเจ้า ส่วนพระปรางค์องค์ซ้าย ประดิษฐานพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ประทับนั่งหันพระปฤษฎางค์ชนกัน และพระปรางค์องค์ขวาประดิษฐานพระศรีอริยเมตไตรยโพธิสัตว์ หรือ พระพุทธเจ้าในอนาคต
พระประธานในพระอุโบสถวัดอนงคาราม
ข้ามถนนสมเด็จเจ้าพระยามาอีกฝั่งหนึ่ง เป็นที่ตั้งของ “วัดอนงคารามวรวิหาร” หรือ “วัดน้อยขำแถม”
พระอารามที่สร้างขึ้นคู่กับวัดพิชัยญาติฯ โดยท่านน้อย ภริยาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ส่วนคำว่าขำแถมนั้น เพิ่มเติมมาจากนามเดิมของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ) ซึ่งเป็นผู้ปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ ต่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 4 วัดนี้ได้รับพระราชทานชื่อใหม่ว่าวัดอนงคารามอย่างในปัจจุบัน

ที่วัดอนงคารามเรามีโอกาสได้เข้าไปกราบพระประธานในพระอุโบสถซึ่งจะเปิดเฉพาะวันสำคัญหรือเมื่อขออนุญาตล่วงหน้าเท่านั้น ภายในประดิษฐานพระประธานองค์เล็กในบุษบก ส่วนในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ 2 องค์ องค์ใหญ่ด้านหลังคือพระพุทธจุลนาค พระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะสมัยสุโขทัย และส่วนองค์เล็กด้านหน้าคือพระพุทธมังคโล พระพุทธรูปทรงเครื่องปางสมาธิ
ซุ้มประตูวิหารที่งดงามของวัดอนงคาราม
ศาลเจ้าพ่อเสือ
จากวัดอนงคารามเราต้องเดินลัดเลาะตรอกซอกซอยออกไปด้านข้างวัดเพื่อมุ่งหน้าไปยังศาลเจ้าพ่อเสือที่อยู่ในย่านตลาดเก่า ถ้าใครอยากตามรอยแต่กลัวเดินไม่ถูก ขอให้เดินตามสัญลักษณ์จักรยาน ซึ่งหมายถึงเส้นทางขี่จักรยานเที่ยวย่านคลองสานแห่งนี้ หรือจะสอบถามจากคนแถวนั้นดูก็ได้

“ศาลเจ้าพ่อเสือ” เป็นศาลเจ้าของชุมชนในย่านตลาดเก่า ขนาดไม่ใหญ่นัก พวกเราสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาลเจ้าแล้ว มาดูสิ่งที่น่าสนใจอย่างปืนใหญ่โบราณที่มีสัญลักษณ์แสดงว่ามาจากฮอลันดาที่ตั้งอยู่ภายใน สันนิษฐานว่าเป็นปืนใหญ่ติดเรือรบเพราะมีขนาดไม่ใหญ่นัก
ศาลเจ้าพ่อกวนอู
กราบศาลเจ้าพ่อเสือแล้วคราวนี้จะพาไปอีกหนึ่งศาลเจ้าที่อยู่ไม่ไกลกันคือ “ศาลเจ้าพ่อกวนอู” ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานเทพเจ้ากวนอูที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพฯ มีความเป็นมายาวนานถึง 280 ปี เพราะบริเวณนี้เป็นแหล่งที่เรือสำเภาจีนแทบทุกลำต้องมาจอดเทียบท่า ตรงนี้จึงเป็นจุดกำเนิดของศาลเจ้าพ่อกวนอู

ภายในศาลมีเจ้าพ่อกวนอูประดิษฐานอยู่ด้วยกันถึง 3 องค์ โดยมีอายุต่างกัน องค์แรกเป็นองค์ที่เล็กที่สุดได้ถูกอัญเชิญเข้ามาในรัชสมัยเฉียนหลงฮ่องเต้ แห่งราชวงศ์ชิง ซึ่งตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ส่วนองค์ที่สองอัญเชิญมาในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และองค์ที่ 3 อัญเชิญเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 2
บ้านจีนโบราณทั่งง่วนฮะ
ที่อยู่ติดๆ กันกับศาลเจ้าก็คือโรงน้ำปลาทั่งง่วนฮะ อาคารเก่าแก่ที่มีความงดงามเป็นอย่างมาก สร้างขึ้นในราวปลายสมัยรัชกาลที่ 2 ด้วยสถาปัตยกรรมแบบจีนตอนใต้ อาคารหลังนี้เปลี่ยนเจ้าของและเปลี่ยนแปลงการใช้งานมาหลายครั้ง ก่อนที่นายทั่งไต้ซิงได้มาบุกเบิกกิจการใหม่คือการผลิตน้ำปลา จึงได้มาซื้ออาคารหลังนี้เพื่อประกอบกิจการ และตกเป็นมรดกของลูกหลาน

เราชมกันแต่เพียงด้านนอกเพราะที่นี่ยังใช้เป็นสถานที่อยู่อาศัยของเจ้าของ แต่ใครอยากซื้อน้ำปลาตรารวงข้าวที่เป็นผลิตภัณฑ์ของทั่งง่วนฮะก็สามารถหาซื้อกันได้บริเวณร้านค้าข้างๆ ตัวบ้าน เพียงแต่ย้ายการผลิตไปที่อื่น
บรรยากาศของโรงเกลือแหลมทอง
ดูโรงน้ำปลาไปแล้ว ทีนี้ไปดูโรงเกลือกันบ้าง เดินลัดเลาะเข้าตรอกซอกซอย ผ่านอุทยานสมเด็จย่าฯ ซึ่งเป็นสวนสาธารณะโดยยังไม่มีโอกาสได้แวะชม เดินต่อมาที่ “โรงเกลือแหลมทอง” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เรียกได้ว่าเป็นแหล่งค้าขายเกลือแหล่งสุดท้ายของคลองสานก็ว่าได้

ที่นี่เราได้เจอเฮียกิตติเจ้าของโรงเกลือแหลมทองที่ก่อตั้งมากว่า 70 ปี ซึ่งได้เล่าความเป็นมาให้เราฟังว่า เมื่อก่อนย่านนี้มีโรงเกลือหลายโรงด้วยกัน รับเกลือเม็ดมาจากสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ผ่านทางคลองด่าน หรือคลองดาวคะนอง เข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ล่องเรือมาขึ้นที่โรงเกลือแหลมทอง ก่อนจะถูกทำความสะอาดด้วยการล้าง โดยมีภูมิปัญญาในการล้างเกลือไม่ให้ละลายไปกับน้ำด้วยการใช้น้ำเกลือมาล้างเกลือนั่นเอง จากนั้นเกลือเหล่านี้จะถูกส่งออกไปขายต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ แต่ปัจจุบันนี้เกลือเม็ดแพงขึ้นมากจึงไม่ได้ส่งออกมากๆ อีกแล้ว แต่จะส่งออกในรูปของน้ำเกลือ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเสียมากกว่า
ฟังเรื่องเล่าของโรงงานเกลือที่น่าสนใจ
ส่วนโรงเกลือแหลมทองที่คลองสานก็ไม่ได้ใช้เป็นโรงเกลืออีกแล้ว แต่ยังคงรักษาสภาพความคลาสสิคของโรงเกลือเก่าไว้ให้พวกเราได้ชมอย่างทึ่งกันต่อไป
บริเวณด้านหน้ามัสยิดเซฟี
ทีนี้เราเดินบนทางเดินเลียบเจ้าพระยา ผ่านโกดังเก่าแก่ที่ถูกทิ้งร้างหลายแห่ง เพื่อมายัง “มัสยิดตึกขาว” หรือ “มัสยิดเซฟี” ของกลุ่มมุสลิมดาวูดีโบราห์ มุสลิมสายชีอะห์ ซึ่งเป็นกลุ่มพ่อค้าอินเดียที่เข้ามาค้าขายกับสยามที่มีอัตลักษณ์ทางเครื่องแต่งกายจนได้รับการกล่าวขานว่า แขกสะระบั่นทอง โดยมีอาคารมัสยิดที่งดงามตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามท่าราชวงศ์

เหตุที่เรียกว่ามัสยิดตึกขาวก็เพราะสีอาคารในย่านนี้ทาสีขาวเป็นส่วนใหญ่ ตัวอาคารมีลายฉลุไม้อย่างอ่อนช้อยสวยงาม แม้จะมีอายุเก่าแก่นับร้อยปีแต่ยังมีสภาพใหม่อยู่เสมอเพราะได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมต่อเนื่อง
ฟังเรื่องเล่าของมัสยิดเซฟี หรือมัสยิดตึกขาว
ภายในอุโบสถวัดทองธรรมชาติ
ทางเข้าของมัสยิดตึกขาวในปัจจุบันสามารถเข้ามาในซอยสมเด็จเจ้าพระยา 5 (ซอยช่างนาค) และต้องผ่านพื้นที่โกดังเก็บของส่วนบุคคล และตรอกทางเดินเข้าอาจจะดูลึกลับไปสักนิด ต่างจากเมื่อก่อนที่สามารถเข้ามาทางแม่น้ำเจ้าพระยาได้เลย แต่เหล่าสัปบุรุษแห่งมัสยิดเซฟีก็ยินดีต้อนรับผู้ที่ต้องการมาหาความรู้ที่มัสยิดแห่งนี้

คราวนี้มาชมวัดงามคู่แฝดแห่งคลองสานกันบ้าง คือ “วัดทองบน-วัดทองล่าง” หรือ “วัดทองธรรมชาติ-วัดทองนพคุณ” 2 วัดทองแห่งคลองสานที่ตั้งอยู่ใกล้กันและมีความน่าสนใจไม่แพ้กัน
ภาพจิตรกรรมฝาผนังในวัดทองธรรมชาติ
สำหรับวัดทองบน หรือวัดทองธรรมชาติ เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ก่อนจะได้รับการสถาปนาเป็นพระอารามหลวงในสมัยรัชกาลที่ 1 ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธชินชาติมาศธรรมคุณ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานนามให้ อีกทั้งยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังงดงามตามแบบประเพณีนิยมในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ให้ชมกัน

ก่อนจะไปยังวัดทองล่าง ระหว่างทางเราเดินไปตามถนนเชียงใหม่ ที่ทำเอาหลายคนงงว่านี่เชียงใหม่หรือกรุงเทพฯ บนถนนเชียงใหม่นี้มีสิ่งที่น่าสนใจอยู่ในซอยเล็กๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ของตระกูลหวั่งหลี ที่เคยเป็นท่าเรือสินค้าอันคึกคักในอดีต ทำธุรกิจค้าข้าวค้าขายข้ามทะเล กิจการเรือเมล์ โดยบริเวณที่เราได้เข้ามาชมนี้เป็นส่วนของที่ทำการบริษัท บ้านพักคนงาน โกดังเก็บสินค้า รวมถึงที่ตั้งของศาลเจ้าแม่หม่าโจ้วหรือเจ้าแม่ทับทิม
ตึกที่ทำการเก่าแก่สไตล์จีน พื้นที่ส่วนบุคคลของบ้านหวั่งหลี
เมื่อเข้าไปด้านในจะพบลานกว้างตรงกลาง ขนาบด้วยอาคารที่ทอดยาวเป็นรูปตัว U อาคารตรงกลางเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าแม่ทับทิม ส่วนอาคารที่ขนาบซ้ายขวา ด้านหนึ่งเป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 ชั้นแบบจีนมีบันไดไม้ทอดยาวขึ้นสู่ชั้นสองทางด้านหน้าสวยงามคลาสสิคเป็นที่สุด ปัจจุบันไม่ได้ใช้งานแล้วและอยู่ระหว่างปรับปรุง

และเมื่อเดินไปถึงริมแม่น้ำเจ้าพระยาเราก็จะได้เห็นโกดังสินค้าขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นของตระกูลหวั่งหลีเช่นกัน นอกจากนั้นทางขวามือยังมองเห็นสวนหย่อมเขียวขจีริมแม่น้ำเจ้าพระยา นั่นก็คือสวนส่วนตัวของบ้านหวั่งหลี บ้านเก่าแก่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยาม มีรั้วกั้นแยกส่วนจากโซนที่ทำการบริษัท ปัจจุบันบ้านหวั่งหลีไม่ได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัย แต่ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสำคัญของตระกูลเท่านั้น
พระประธานในพระอุโบสถวัดทองนพคุณ และจิตรกรรมฝาผนังลวดลายพระวิสูตร
ต้องขอบอกว่าทั้งที่ทำการและศาลเจ้าแม่ทับทิมของบ้านหวั่งหลีนั้นตั้งอยู่ในพื้นที่ส่วนบุคคล จึงควรติดต่อไปล่วงหน้าสำหรับผู้ที่มาเป็นคณะใหญ่ ส่วนนักท่องเที่ยวกลุ่มเล็กๆ ก็ควรขออนุญาตกับผู้ดูแลสถานที่เสียก่อน

คราวนี้ก็ถึงเวลามาชม “วัดทองนพคุณ” หรือวัดทองล่าง ที่อยู่คู่กันกับวัดทองบน ได้รับการบูรณะโดยพระยาโชฎึกราชเศรษฐี (ทองจีน) และถวายเป็นพระอารามหลวงในสมัยรัชกาลที่ 3 ชมพระอุโบสถที่ออกแบบบานประตูและหน้าต่างเป็นรูปแบบของพัดยศสำหรับพระราชาคณะดูงดงามแปลกตาไปจากวัดอื่นๆ

เมื่อเข้ามาในพระอุโบสถยิ่งต้องทึ่งในความงาม มีพระประธานองค์ใหญ่งามสง่า ส่วนด้านหลังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นรูปพระวิสูตร หรือผ้าม่าน และมีเหล่าทวยเทพคลี่พระวิสูตรออกมาทั้งด้านซ้ายและขวา ภาพเหล่านี้เป็นผลงานชิ้นเยี่ยมของพระครูกสินสังวร ไม่ควรพลาดชมกัน
พระมหาธาตุเจดีย์พระจอมชาตรีไทยจีนเฉลิม ที่สมาคมเต๊กก่าจีจินเกาะ
ยังไม่หมดความน่าสนใจที่คลองสาน เดินกันต่อไปที่ “สมาคมเต๊กก่าจีจินเกาะ” สมาคมการกุศลที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากจากเหตุการณ์ต่างๆ พร้อมชมความงดงามและมาสักการะเทพองค์สำคัญ อาทิ ไต้ฮงกง อรหันจี้กง เง็กเซียนฮ้องเต้ ตามความเชื่อของเต๋าและพุทธมหายาน อีกทั้งยังสามารถขึ้นไปชม “พระมหาธาตุเจดีย์พระจอมชาตรีไทยจีนเฉลิม” เจดีย์ศิลปะแบบจีนสูง 8 ชั้น มองภาพมุมกว้างริมแม่น้ำเจ้าพระยาของฝั่งพระนคร
ป้อมป้องปัจจามิตรปัจจุบัน
ที่คลองสานในฝั่งธนบุรีนี้ยังคงมีป้อมปราการที่เคยสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวคือ “ป้อมป้องปัจจามิตร” (ตรงข้ามสถานีตำรวจคลองสาน) ที่สร้างจากแนวคิดการขยายพระนครในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยเป็นผลการเชื่อมต่อจากการขุดคลองผดุงกรุงเกษม เพื่อเป็นการรักษาพระนครในฝั่งทางด้านทิศใต้ ขึ้นเป็นป้อมแบบปีกกาที่หาชมยาก และยังคงเหลือให้ศึกษา เพียง 1 ใน 4 ของป้อมเดิม นอกจากนั้นยังมีเสาธงสัญญาณที่แต่เดิมใช้ชักธงสัญญาณอนุญาตให้นำเรือเดินสมุทรขนสินค้าจากต่างชาติเข้ามาในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ น่าทึ่งไม่น้อย
โกดังเก่าที่กลายมาเป็นคาเฟ่ที่ The Jam Factory
เดินกันจนเหนื่อยหมดแรง มาแวะพักจุดสุดท้ายของรายการเส้นทางคลองสานที่ The Jam Factory
โครงการติดพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เคยเป็นโกดังถ่านไฟฉายตรากบ โรงน้ำแข็ง และโรงงานผลิตยา ที่นี่ยังเก็บโครงสร้างอาคารเดิมเอาไว้ แต่เปลี่ยนการใช้พื้นที่ให้เป็นร้านหนังสือ แกลอรี่ ร้านอาหาร และร้านกาแฟ เป็นแหล่งพักผ่อนในกรุงเทพฯ อีกแห่งที่น่าชื่นชมในแนวคิดไม่น้อย เป็นอันจบเส้นทางเดินเที่ยวคลองสานที่ขอบอกว่ามีแต่สิ่งน่าสนใจเพียบบบ จนอยากให้มาลองเดินด้วยกัน
* * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น