สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา ให้เกษตรกรมีอำนาจต่อรองบริษัทยักษ์ใหญ่
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (10 พ.ย.) มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. ... ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยมี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ชี้แจงว่า ปัจจุบันมีระบบเกษตรพันธสัญญามาใช้ในกระบวนการผลิตผลิตผลหรือการบริการทางการเกษตรอย่างแพร่หลาย หากมีการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาให้มีความเป็นธรรมตามหลักสากลจะช่วยสร้างความร่วมและพัฒนาในการผลิตผลิตผลหรือการบริการทางการเกษตรอย่างยั่งยืน ส่งผลให้เกษตรกรมีความมั่นคงด้านรายได้ และได้รับการความรู้อันจำเป็น ตลอดจนเทคโนโลยีการผลิตที่มีมาตรฐาน มีการควบคุมต้นทุนในการผลิต ผลิตผลหรือการบริการทางการเกษตร และผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร สามารถประกอบธุรกิจโดยได้รับผลผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐานตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นและความเข้มแข็งทางธุรกิจของประเทศให้สามารถแข่งขันในตลาดการค้าเสรีได้อย่างต่อไป
อย่างไรก็ตาม โดยที่การทำสัญญาในระบบการเกษตรดังกล่าวมีลักษณะผสมผสานระหว่างสัญญาจ้างทำของสัญญาจ้างแรงงาน และสัญญาซื้อขาย ซึ่งมีความซับซ้อนยุ่งยากในการวิเคราะห์ถึงความคุ้มค่าและต้นทุน ส่งผลให้คู่สัญญาเป็นเกษตรกรรายย่อยซึ่งมีอำนาจต่อรองน้อยกว่าผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตร มีความเสี่ยงในการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญา สมควรที่รัฐจะกำหนดหลักเกณฑ์ในการทำสัญญาในระบบการเกษตรดังกล่าวเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม รวมทั้งกำหนดกลไกการส่งเสริมและพัฒนาด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ กำหนดบทนิยามคำว่า “ระบบเกษตรพันธสัญญา” ให้หมายถึงเฉพาะระบบการผลิตผลิตผล หรือบริการทางการเกษตรที่เกิดขึ้นจากสัญญาระหว่างผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรกับบุคคลธรรมดาซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมตั้งแต่ 10 รายขึ้นไป หรือกับองค์กรทางการเกษตรที่มีกฎหมายรองรับ โดยผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตด้วยเท่านั้น กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาขึ้น โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอแผนการพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาต่อคณะรัฐมนตรี กำหนดแนวทางให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการให้เป็นไปตามแผน กำหนดรูปแบบของสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญาหรือเลิกการประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญาต้องจดแจ้ง การประกอบธุรกิจหรือการเลิกประกอบธุรกิจต่อสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร และเปิดเผยให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ และกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรต้องทำเอกสารสำหรับการชี้ชวนให้เกษตรกรทราบเป็นการล่วงหน้าก่อนทำสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา และต้องส่งให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เก็บไว้เพื่อใช้เป็นเอกสารในการตรวจสอบ โดยเอกสารสำหรับการชี้ชวนดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาและจะต้องมีข้อมูลตามที่กำหนด
ทั้งนี้ สมาชิก สนช.ได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยเห็นด้วยในหลักการสำคัญ แต่ก็มีข้อคิดเห็นเรื่องโครงสร้างของคณะกรรมการ และการมีส่วนร่วมของเกษตรกรที่ควรมีส่วนร่วมมากขึ้น โดย นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ อภิปรายว่าร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่เพิ่มอำนาจต่อรองให้กับเกษตรกรให้เท่าเทียมกับบริษัทยักษ์ใหญ่ โดยจะมีคณะกรรมการของทางรัฐบาลที่จะดูแลในเรื่องเกี่ยวกับการทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรม แต่สิ่งที่ตนกังวลก็เหมือนกับสมาชิกคนอื่นๆ คือ เรื่องการรวมกลุ่มเกษตรที่จะฟ้องร้องต่อบริษัทที่ประกอบกิจการดังกล่าวว่าควรที่จะให้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีแบบกลุ่ม มีผลบังคับใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อกรณีนี้ และฝากให้ทาง กมธ.วิสามัญฯ ฝากพิจารณาร่างกฎหมายนี้ในทุกแง่มุม เพื่อที่จะให้เป็นกฎหมายที่จะก่อประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่าย
จากนั้นสมาชิกได้ลงมติเห็นด้วย 202 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง และมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว 22 คน โดยมีเวลาแปรญัตติ 15 วัน และระยะเวลาการทำงานทั้งหมด 60 วัน