xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลดันร่างกม.เกษตรพันธสัญญา กันทุนใหญ่สูบเลือดเกษตรกร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (10 พ.ย.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ได้พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.บัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. ... ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยมีพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ชี้แจงว่าปัจจุบันมีการระบบเกษตรพันธสัญญามาใช้ในกระบวนการผลิต หรือการบริการ
ทางการเกษตรอย่างแพร่หลาย ซึ่งหากมีการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาให้มีความเป็นธรรมตามหลักสากล จะช่วยสร้างความร่วมมือ และพัฒนาด้านการเกษตรอย่างยั่งยืน ส่งผลให้เกษตรกร มีความมั่นคงด้านรายได้ และได้รับการความรู้ที่จำเป็น มีการควบคุมต้นทุน ตลอดจนเทคโนโลยีการผลิตที่มีมาตรฐาน ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรได้รับผลผลิต ที่มีคุณภาพ สามารถแข่งขันในตลาดการค้าเสรีได้
อย่างไรก็ตาม การทำสัญญาในระบบการเกษตรดังกล่าว มีลักษณะผสมผสาน ระหว่างสัญญาจ้างทำของ สัญญาจ้างแรงงาน และสัญญาซื้อขาย ซึ่งมีความซับซ้อนยุ่งยาก ในการวิเคราะห์ถึงความคุ้มค่า และต้นทุน ส่งผลให้คู่สัญญาที่เป็นเกษตรกรรายย่อย มีอำนาจต่อรองน้อยกว่าผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตร มีความเสี่ยงในการปฏิบัติตามเงื่อนไข ที่กำหนดไว้ในสัญญา สมควรที่รัฐจะกำหนดหลักเกณฑ์ในการทำสัญญาในระบบการเกษตรดังกล่าว เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้คือ กำหนดบทนิยามคำว่า“ระบบเกษตรพันธสัญญา”ให้หมายถึงเฉพาะระบบการผลิต ผลิตผลหรือบริการทางการเกษตร ที่เกิดขึ้นจากสัญญาระหว่างผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร กับบุคคลธรรมดา ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม ตั้งแต่10 รายขึ้นไป หรือกับองค์กรทางการเกษตร ที่มีกฎหมายรองรับ โดยผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตด้วยเท่านั้น กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาขึ้น โดยมีรมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอแผนการพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา ต่อครม. กำหนดแนวทางให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการให้เป็นไปตามแผน กำหนดรูปแบบของสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญา หรือเลิกการประกอบธุรกิจในระบบเกษตรพันธสัญญา ต้องจดแจ้งการประกอบธุรกิจ หรือการเลิกประกอบธุรกิจ ต่อสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ จัดทำทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร และเปิดเผยให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ และกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตร ต้องทำเอกสารสำหรับการชี้ชวนให้เกษตรกรทราบเป็นการล่วงหน้า ก่อนทำสัญญาในระบบเกษตรพันธสัญญา และต้องส่งให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ เก็บไว้เพื่อใช้เป็นเอกสารในการตรวจสอบ โดยเอกสารสำหรับการชี้ชวนดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา และจะต้องมีข้อมูลตามที่กำหนด
ทั้งนี้ สมาชิกสนช. ได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยเห็นด้วยในหลักการสำคัญ แต่ก็มีข้อคิดเห็นเรื่องโครงสร้างของคณะกรรมการ และการมีส่วนร่วมของเกษตรกร ที่ควรมีส่วนร่วมมากขึ้น
น.พ.เจตน์ ศิรธรานนท์ อภิปรายว่า ร่างกม.ดังกล่าว เป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับเกษตรกร ให้เท่าเทียมกับบริษัทยักษ์ใหญ่ โดยจะมีคณะกรรมการของทางรัฐบาล ดูแลในเรื่องเกี่ยวกับการทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรม แต่สิ่งที่ตนกังวลก็คือ เรื่องการรวมกลุ่มเกษตรกร ที่จะฟ้องร้องต่อบริษัทที่ประกอบกิจการดังกล่าว ว่า ควรที่จะให้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีแบบกลุ่ม มีผลบังคับใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อกรณีนี้ และฝากให้ทางกมธ. วิสามัญฯ ฝากพิจารณาร่างกฎหมายนี้ ในทุกแง่มุม เพื่อที่จะให้เป็นกฎหมายที่จะก่อประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่าย
จากนั้น สมาชิกได้ลงมติเห็นด้วย 202 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง และมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว 22 คน โดยมีเวลาแปรญัตติ 15 วัน และระยะเวลาการทำงานทั้งหมด 60 วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น