รองนายกฯ เผยแจงเรื่องใช้ รธน.-เลือกตั้งต่อทูต ก่อนส่งต่อประเทศต้นทางชี้แจงเพิ่ม ประชดไม่ต้องย้ำเรื่องโรดแมป เหตุ ตปท.รู้ดีกว่าไทย ติงรับสารด้านเดียวแต่ไทยรับหลายด้าน แจงทูลเกล้าฯ ถวายร่าง รธน.แล้ว ตามกรอบเวลา ไม่กังวลเรื่องคำปรารภ เพิ่มเติมภายหลังได้ โยนบัวแก้วตอบปมเลือกตั้งสหรัฐฯ
วันนี้ (9 พ.ย.) เวลา 14.00 น. ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนบรรยายสรุปเกี่ยวกับแนวทางดำเนินงานหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่และแนวทางการปฏิรูประบบราชการและการบริหารราชการแผ่นดินให้รองรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีแก่เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ประเทศต่างๆ ที่ประจำการในประเทศไทยว่า วันนี้เป็นการอธิบายและให้เกร็ดความรู้แก่เอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ ที่จะต้องไปตอบและไปชี้แจงยังต่างประเทศ เรื่องการใช้รัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง โรดแมป และการปฏิรูปยุทธศาสตร์ 20 ปี ของไทย คงอธิบายคร่าวๆ นอกจากนี้จะพูดคุยถึงการปฏิรูปกระทรวงการต่างประเทศและงานราชการต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องภายในไม่ต้องไปชี้แจงยังต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลจะมีคำถามถึงกระทรวงการต่างประเทศ แต่จะเอาด้วยหรือไม่ขึ้นกับกระทรวงการต่างประเทศจะพิจารณา
นายวิษณุกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ในการประชุมคงไม่ต้องย้ำเรื่องโรดแมปต่อเอกอัครราชทูตเพราะต่างประเทศคงรู้อะไรมากกว่าเรา เพราะไทยฟังมาหลายกระแส แต่ต่างประเทศรับข่าวที่มาจากทางราชการ และคงจะอธิบายให้ทูตประเทศต่างๆ ได้รับทราบคร่าวๆ ถึงขั้นตอนหลังร่างรัฐธรรมนูญทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว รวมถึงการเลือกตั้ง แต่คงไม่ละเอียดมากนัก อธิบายเพียงให้เอกอัครราชทูตในฐานะข้าราชการกระทรวงต่างประเทศนำไปชี้แจงยังต่างประเทศได้ และหากถามคำถามเพิ่มเติมก็จะชี้แจงให้ฟัง
นายวิษณุยังกล่าวถึงการทูลเกล้าฯ ถวายร่างรัฐธรรมนูญตามกรอบเวลาว่า ได้นำทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว โดยส่งไปยังสำนักราชเลขาธิการภายในกรอบ 30 วันตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ระบุไว้ จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการที่อยู่ในพระราชอำนาจ 90 วัน สิ้นสุดต้นเดือน ก.พ. ส่วนจะโปรดเกล้าฯ เมื่อใดนั้นแล้วแต่พระราชวินิจฉัย
“ผมไม่แน่ใจว่ายื่นไปเมื่อวานตอนเย็นหรือเมื่อเช้าที่ผ่านมา แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าได้ส่งรัฐธรรมนูญไปเรียบร้อยแล้ว และเวลาส่งไปไม่ได้มีพิธีอะไร เหมือนการส่งกฎหมายต่างๆ เท่านั้น” นายวิษณุกล่าว
นายวิษณุกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ไม่ได้กังวลเรื่องคำปรารภเพราะได้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้ว แต่ส่วนที่ต้องเว้นไว้เติมนั้นมี 2 เรื่อง คือ 1. เรื่องศุภมัสดุ หรือคำเริ่มต้นของเวลา โดยเรื่องนี้เว้นไว้ 2 บรรทัด 2. การเว้นสำหรับพระปรมาภิไธย หรือพระนาม ประมาณ 1 บรรทัดจะโปรดให้ใช้อย่างไร สองเรื่องที่เว้นเอาไว้เพราะต้องรอพระราชวินิจฉัยซึ่งเป็นเรื่องของแบบรัฐธรรมนูญทุกฉบับ รวมถึงพระราชบัญญัติหลังผ่านสภาฯ ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหา และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่าทำได้ โดยให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นำส่วนที่เหลือไปเติมทีหลัง
นายวิษณุกล่าวถึงผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาว่า ขอให้ถามความเห็นจากนายดอน ปรมัถต์วินัย รมว.การต่างประเทศจะดีกว่า