xs
xsm
sm
md
lg

บรรยากาศเปลี่ยน-สถานการณ์ก็เปลี่ยน แผนปลุกม็อบชาวนาเหลว!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาต้องยอมรับบรรยากาศทางการเมืองเกือบจะร้อนแรงโดยฉับพลันทันใด กับความพยายามในการสร้างความปั่นป่วนกับราคาข้าว ส่วนใครเป็นคนปั่น ฝ่ายไหนต้องการจุดชนวน ฝ่ายไหนอยู่เบื้องหลัง เชื่อว่าแทบทุกคนย่อมมองออกได้ไม่ยาก เพียงแค่ใช้สติปัญญาไม่มากนัก ก็คงอ่านเกมได้ขาดอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี เรื่องข้าว เรื่องปัญหาราคาข้าวและชาวนาอยู่คู่กับประเทศไทยมาช้านาน และที่สำคัญอยู่คู่กับการเมืองไทยมานานแล้วเช่นเดียวกัน หลายครั้งที่เกิดม็อบชาวนาจนเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมือง

คราวนี้ก็เช่นเดียวกัน การออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับราคาข้าวของเครือข่ายพรรคเพื่อไทย ที่นำโดย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มองในมุมไหนก็ไม่มีทางพลาดว่านี่คือ “การเมือง” แบบเต็มๆ เป้าหมายเพื่อ “สะกิดชาวนา” ในเรื่องโครงการรับจำนำข้าว ที่ตัวเองคือยิ่งลักษณ์กับพวกกำลังโดนเช็กบิลกันแบบหนักหนาสาหัสขึ้นเรื่อยๆ

แน่นอนว่า การลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ย่อมถูกมองว่าต้องการหวังผลทางการเมืองแบบเนื้อๆ เน้นๆ กันเลยทีเดียว ส่วนรายละเอียดและวิธีการเคลื่อนไหวจะเป็นการ “จัดฉาก” หรือไม่ เชื่อว่าระดับคอการเมืองย่อมพิจารณาได้ดีและมีคำตอบอยู่แล้ว

หากพิจารณาตามความเป็นจริงในเวลานี้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับพวกกำลังถูกดำเนินคดีจากโครงการรับจำนำข้าวตัวเธอกำลังถูกดำเนินคดีอาญาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีกำลังงวดเข้ามา เชื่อว่าราวปีหน้าก็คงจะทราบผลแล้วว่า “คุก” หรือไม่

ขณะเดียวกัน ในส่วนที่เกี่ยวกับคดีทางแพ่งอย่างที่รับรู้กันไปแล้ว รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ มีการออกคำสั่งทางปกครองเรียกค่าเสียหายจากยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไปแล้วกว่า 3 หมื่นล้านบาท ส่วนนักการเมืองและข้าราชการอื่นๆ กำลังจะทยอยตามมาอีกไม่นานนี้ ซึ่งก่อนหน้านั้นอย่างที่รู้กัน คือ บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, ภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวกถูกศาลตัดสินจำคุก และถูกเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากกรณีขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) แบบปลอมๆ กันจนอ่วมไปแล้ว

ทั้งสองกรณีนั่นคือทั้งกรณีของบุญทรง และยิ่งลักษณ์ ล้วนมาจากเรื่องข้าวที่เกี่ยวเนื่องกัน นั่นคือต้นเหตุมาจากเรื่องหลักคือนโยบายจำนำข้าว หรือความหมายตรงๆ คือการใช้เงินงบประมาณ หรือเงินหลวงไปรับซื้อข้าวทุกเมล็ดในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด จนสร้างความเสียหายด้านกลไกตลาด เพราะบิดเบือนราคา เกิดความเสียหายด้านงบประมาณจำนวนมหาศาล เกิดช่องโหว่ทำให้เกิดการทุจริตตามมา

ดังนั้น หากให้สรุปแบบรวบยอดในเวลานี้ก็ต้องบอกว่า สำหรับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเครือข่ายในพรรคเพื่อไทย กำลังลำบากอย่างหนัก อย่างแรกก็คือคดีที่เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวที่ตัวเองกำลังโดนทั้งอาญา และแพ่ง อาญานั่นคือต้องลุ้นว่าจะต้องติดคุกหรือไม่ อีกไม่นานนักก็จะรู้ผลแล้ว ส่วนคดีทางแพ่งที่มีการเรียกค่าเสียหายกันนับหมื่นล้านบาท แม้ว่าตามขั้นมีการคัดค้าน มีการยื่นเรื่องอุทธรณ์ไปทางศาลปกครอง จนถึงศาลปกครองสูงสุดที่ต้องใช้อีกนานนับปี แต่ถ้าพลาดพลั้งขึ้นมามันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

ขณะเดียวกัน หากปล่อยไปแบบเรื่อยๆ เรียงๆ แบบนี้ สำหรับอนาคตทางการเมืองนั้นไม่ต้องพูดถึง มันจบเห่ไปนานแล้ว จากเงื่อนไขเรื่องคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมไปถึงสมาชิกพรรคเพื่อไทยอีกเป็นพรวน ทุกอย่างล้วนมาจากเหตุการกระทำผิดจนนำไปสู่คำพิพากษาของศาล ถูกถอดถอนโดยสภา ซึ่งคนพวกนี้หมดอนาคตทางการเมือง

เมื่อรูปการณ์ออกมาแบบนี้มันก็ช่วยไม่ได้ที่พวกเขาจะต้องดิ้นรนเพื่อให้รอดจากหายนะที่รออยู่ข้างหน้า และก็ไม่มีอะไรที่น่าจะมีพลังเท่ากับพลังของชาวนาซึ่งเคยเป็นฐานเสียงเก่า ดังนั้น การลงพื้นที่ในภาคอีสาน โฟกัสไปที่จังหวัดอุบลราชธานีของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่หน้าฉากเพื่อไปแสดงความเห็นอกเห็นใจชาวนา ไปกันแบบ “น้ำตาท่วมจอ” มันก็ย่อมอธิบายภาพทั้งหลายได้ด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว รวมไปถึงข้อสังเกตเรื่องการ “จัดฉาก” ตามมา

แต่นั่นไม่เท่ากับคำพูดของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่กล่าวกับชาวนาคนกันเองว่า “วันนี้หากยังเป็นรัฐบาล จะรับซื้อข้าวทั้งหมด (ทุกเมล็ด)” ความหมายก็คือ จะเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าว (รับซื้อข้าว) ต่อไป

แน่นอนว่า คำพูดแบบนี้ย่อมมีความหมาย เหมือนกับต้องการสะกิดความจำของชาวนา ที่ยังชื่นชมยินดีกับนโยบายจำนำข้าวที่ตันละหมื่นห้าพันบาท ซึ่งแม้ว่าชาวนาจะได้จริงแค่ ตันละ 11,000-13,000 บาทก็ตาม ก็แฮปปี้ ซึ่งจะว่าไปแล้วที่จริงน่าจะกำหนดให้สูงกว่านี้แบบเอาให้สุดๆ ไปเลย สักตันละ 2 หมื่น หรือ 3 หมื่นก็ได้ เพราะใช้เงินงบประมาณ ไม่ใช่เงินในกระเป๋าของ ยิ่งลักษณ์ แต่เอาเป็นว่า คำพูดจากวรรคทองดังกล่าวย่อมมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากหวังผลทางการเมือง ต้องการสร้างกระแสเปรียบเทียบด้านนโยบายว่า โครงการรับจำนำข้าวนั้นได้ราคาดีกว่าในยุคปัจจุบัน และคำว่า “หากยังเป็นรัฐบาลก็จะช่วยได้ดีกว่านี้” ก็ยิ่งมีความหมาย ทำนองว่าตอนนี้เมื่อไม่ได้เป็น ก็ทำไมไม่ช่วยให้กลับมาได้เป็นรัฐบาลอีกล่ะ

ด้านหนึ่งเป็นการ “ดิสเครดิต” รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขณะเดียวกันความเคลื่อนไหวดังกล่าวบังเอิญว่ามาในเวลาไล่เลี่ยกับข่าวราคาข้าวต่ำมากจนผิดสังเกต จากการกดราคารับซื้อของโรงสีบางแห่ง ซึ่งน่าจะปลุกกระแสความไม่พอใจของชาวนาจนกลายเป็น “ม็อบชาวนา” ลุกฮือได้ในที่สุด

อย่างไรก็ดี บางอย่างมันไม่เป็นไปตามคาดหมาย เป็นเพราะสถานการณ์เปลี่ยน บรรยากาศก็เปลี่ยนที่สำคัญชาวบ้านส่วนใหญ่ “รู้ทัน” และมองเห็นว่าเป็น “เรื่องการเมือง” ตั้งแต่ต้น มันจึงขาดพลัง อีกทั้งในยุคสมัยที่สื่อโซเชียลฯ มีบทบาทกระแสช่วยเหลือชาวนาขายตรงจึงสร้างความตื่นตัวจนบทบังความเคลื่อนไหวของพวกนักการเมืองเสียมิด เพราะกระแสไปอีกทาง กลายเป็นว่าภาพของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อาจจะไม่ถึงขั้นติดลบทั้งหมด เพราะยังมีแฟนคลับตามแห่อยู่บ้าง แต่ก็ถือว่า “หลุดเป้า” ไปเลย ไม่คุ้มกับที่หวังเอาไว้ว่าต้องได้มากกว่านี้

ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งมันก็เป็นการส่งสัญญาณเตือนไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลว่า ต้องเตรียมตั้งรับให้แน่น รวมไปถึงเตรียมการรับมือกับปัญหาข้าวนาปี และนาปรังในภาคกลางที่กำลังจะทะลักเข้ามา โดยเฉพาะการเปิดช่องทางการขายให้ชาวนาได้ขายข้าวได้สะดวกและรวดเร็วมากกว่าเดิม เพราะหากราคายังตกต่ำไม่กระเตื้องมันก็เป็นเงื่อนไขให้ฝ่ายตรงข้ามปลุกปั่นได้อย่างสะดวก ซึ่งประมาทไม่ได้เป็นอันขาด!!
กำลังโหลดความคิดเห็น