ผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ สตช. เผย นำตำรวจภูธรร่วมงาน บช.น. อำนวยความสะดวกพื้นที่ พร้อมเตรียมรถบัสขนนักท่องเที่ยวเข้าวัดพระแก้ว แยกจุดให้ชัด จัดตำรวจสืบอาชญากรรม พบมีคดีเล็ก 5 คดีในท้องถิ่น ส่วนพวกบิดเบือน มี 295 เพจ 76 เว็บ ส่งข้อมูลรวบรวมหลักฐานแล้ว ด้านโฆษกกรุงเทพมหานคร วอนผู้นำอาหาร หรือสิ่งของแจก ติดต่อ กทม. หรือศูนย์อาสาสมัครก่อน พบเด็กหลงแล้ว 151 คน วอนเขียนชื่อ เบอร์โทร.ติดไว้ให้บุตรหลาน เผยใครสนใจนำดอกไม้เหี่ยวไปใช้สามารถติดต่อมาได้
วันนี้่ (30 ต.ค.) พล.ต.ต.ไกรบุญ ทรวดทรง ผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แถลงว่า ทาง สตช. ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบเรื่องความปลอดภัยให้กับประชาชนที่เข้ามาแสดงความอาลัย โดยในภาพรวมได้มีการแบ่งภารกิจเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก คือ การถวายความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกด้านการจราจรทั้งหมด ในการปฏิบัติได้มีการประชุมแลกเปลี่ยนข่าวสารอย่างต่อเนื่อง โดยนอกเหนือจากกองกำลังของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่ดูแลความปลอดภัยอำนวยความสะดวกในพื้นที่แล้ว เราได้สนับสนุนกำลังเพิ่มเติมจากตำรวจภูธรในจังหวัดใกล้เคียงเข้ามาสนับสนุน เพื่อให้การอำนวยการเป็นไปอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะในวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งได้มีการวางแผนในเรื่องการจัดเตรียมพื้นที่ตั้งแต่รถบัสที่ขนย้ายนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นคนละส่วนกับประชาชนที่จะเข้ามาถวายสักการะพระบรมศพ และแยกพื้นที่ให้ชัดเจน โดยมีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักพระราชวัง ที่จะจัดกองกำลังอารักขาเข้าไปดูแลในพื้นที่พระบรมมหาราชวัง
พล.ต.ต.ไกรบุญ กล่าวว่า ส่วนที่สอง คือ การดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะอาชญากรรมในพื้นที่บริเวณสนามหลวง และใกล้เคียง เราได้แบ่งพื้นที่ดูแลเป็นสามชั้น พื้นที่ชั้นในที่เราให้ความเข้มงวดสูงสุด คือ พระบรมมหาราชวัง และท้องสนามหลวง ตรงนี้เราจัดกำลังทั้งฝ่ายสืบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล และ ของตำรวจสันติบาล ที่จะเป็นกำลังนอกเครื่องแบบสังเกตการณ์ในมุมสูง และร่วมเดินปะปนไปกับประชาชน เพื่อป้องกัน เข้าระงับเหตุร้ายได้ทันท่วงที โดยตั้งแต่เริ่มภารกิจจนถึงปัจจุบันนั้น ยังไม่มีคดีร้ายแรง หรือส่งผลกระทบความรู้สึกของประชาชนเกิดขึ้นเลย มีเพียงคดีเล็ก ๆ น้อย ๆ เกิดขึ้นแค่ 5 คดี เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชาชนในพื้นที่ถือว่าเราสามารถจะดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พล.ต.ต.ไกรบุญ กล่าวต่อว่า และส่วนของความมั่นคง ทั้งในเรื่องของการบิดเบือนข้อเท็จจริง เว็บไซต์หมิ่นสถาบัน โดย พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. เป็นผู้รับผิดชอบ สำหรับเว็บหมิ่นสถาบัน ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม ผบ.ตร. สั่งให้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบข้อมูลที่มีลักษณะบิดเบือน ก่อให้เกิดความแตกแยก ซึ่งจนถึงปัจจุบันเราตรวจสอบข้อมูลในโซเชียลมีเดีย พบเพจที่มีลักษณะบิดเบือนหรือเข้าข่ายทั้งหมด 295 เพจ มีเรื่องราวที่เกียวข้องกับพฤติการณ์ดังกล่าวประมาณ 680 เรื่อง และยังตรวจเว็บไซต์ 76 เพจ มีเรื่องราวที่มีพฤติการณ์อีก 120 เรื่อง รวมทั้งหมดประมาณ 800 เรื่อง โดยทั้งหมดเราได้ส่งข้อมูลให้กับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องปิดกั้นโดยทันที และอีกส่วนได้มีการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานไว้ใช้ในการดำเนินคดี ไม่ว่าการกระทำผิดนั้นจะเกิดขึ้นข้างในหรือนอกประเทศ เราจะพยายามสืบค้นหาข้อมูลข้อเท็จจริงมาประกอบการพิจารณาดำเนินคดี ซึ่งเรามีช่องทางในการดำเนินการตามกฎหมายได้อยู่แล้ว ขอประชาชนอย่าเป็นห่วงในเรื่องนี้ ทาง สตช. และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญ และดำเนินการเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดและจริงจัง
ด้าน น.ส.ตรีดาว อภัยวงศ์ โฆษกกรุงเทพมหานคร แถลงว่า สำหรับความประสงค์จะเข้ามาใช้พื้นที่ในบริเวณสนามหลวง ว่า เบื้องตนอยากทำความเข้าใจ และประชาสัมพันธ์กับทุกภาคส่วน ถึงการจัดระเบียบ และการประสานงานกับ กทม. เพื่อขอใช้พื้นที่ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานเข้ามาใช้พื้นที่ในสนามหลวงเป็นจำนวนมาก ซึ่งบางหน่วยงานไม่ได้ประสาน กทม. ก่อน จึงอยากขอให้ประสานเข้ามาเพื่อจะได้บริการจัดการได้ อาทิ เรื่องอาหาร ของใช้ที่ต้องการนำมาให้บริการประชาชน หรือ สามารถติดต่อที่ศูนย์วอลันเทีย ฟอร์ แดด ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ ทั้งนี้ หากไม่ประสานกับ กทม. อาจจะทำให้เกิดอุปสรรคในการบริหารจัดการ และทำให้พื้นที่ไม่มีความเป็นระเบียบ โดยสามารถติดต่อที่วอลันเทีย ฟอร์ แดด 091-814-2076 หรือสามารถประสานมาที่กองอำนวยการร่วม กทม. เพื่อขอเบอร์ติดต่อในส่วนที่ต้องการทราบหมายเลข 1899 หรือสายด่วน กทม. 1555
น.ส.ตรีดาว กล่าวว่า ส่วนสถิติการพลัดหลงของเด็กและผู้สูงอายุที่ กทม. เก็บสะสมตั้งแต่วันที่ 18 - 29 ตุลาคม พบว่า จำนวนเด็กที่พลัดหลงยอดรวม 151 คน และผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุมีจำนวน 72 คน ทั้งนี้ ทางกองทัพภาคที่ 1 และ กทม. ได้ตกลงร่วมกันว่า อยากให้ประชาชนที่เข้ามาในพื้นที่สนามหลวง มีบัตรประจำตัว โดยเฉพาะเด็กโดยผู้ปกครองเขียนชื่อ - สกุล ชื่อผู้ปกครอง หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมเบอร์โทรศัพท์ติดตัวเด็กไว้เสมอ เมื่อเกิดเหตุการณ์เด็กพลัดหลง เจ้าหน้าที่จะสามารถตามหาผู้ปกครองได้ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่มีการทำบัตรลักษณะดังกล่าวแจกตามจุดคัดกรองต่าง ๆ แต่หากประชาชนสามารถทำมาจากที่บ้านเองได้ จะสามารถช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ง่ายมากขึ้น ทั้งนี้ รวมถึงผู้สูงอายุที่ไม่สามารถดูแลตนเองได้ดีนัก
“การบริหารจัดการขยะในพื้นที่ กทม. ร่วมกับศูนย์วอลันเทีย ฟอร์ แดด มีอาสาสมัครที่เป็นเยาวชนและประชาชนทั่วไป เข้ามาแนะนำประชาชนในเรื่องการแยกขยะ ซึ่งทำให้ระบบการจัดการขยะเรียบร้อยดีขึ้น และส่วนของการบริหารจัดการดอกไม้ ที่มีประชาชนนำมาถวายสักการะพระบรมศพเป็นจำนวนมากในบริเวณรอบพระบรมมหาราชวัง จึงมีการนำดอกไม้ดังกล่าวมาจัดใหม่ และรวมไว้ที่สวนสราญรมย์ โดยจะทำการคัดแยกประเภทตามสี เพื่อนำไปตกแต่งยังบริเวณต่าง ๆ เมื่อดอกไม้เหี่ยวหมดสภาพการใช้งานจะนำไปหมักเป็นน้ำหมักชีวภาพ ทั้งนี้ กทม. ฝากถึงหน่วยงานที่ต้องการจะนำดอกไม้ไปทำประโยชน์สามารถติดต่อมายังสำนักสิ่งแวดล้อมได้” โฆษก กทม. กล่าว