ประธาน สปท.ประชุมสมาชิก พร้อมกล่าวถวายราชสดุดีแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงทุ่มเทสติปัญญา พระวรกาย ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะ ตรากตรำบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ 10 ประการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (25 ต.ค.) มีการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ก่อนเข้าระเบียบวาระปกติ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. ถล่าวถวายราชสดุดีแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ว่าด้วยนับแต่ทรงครองราชย์ 70 ปี นับตั้งแต่ พ.ศ. 2489 ถึง 2559 พระองค์ทรงทุ่มเทสติปัญญา พระวรกาย ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะ ตรากตรำบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ นานัปการ ดังนี้
1. ทรงเป็นพระเจ้าทรงธรรม โดยปกครองประเทศด้วยทศพิธราชธรรม 2. ทรงเป็นนักปกครองที่ดี ทรงเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของผู้รับการปกครองในทุกพระราชกรณียกิจ พระองค์ทรงเป็นนักปกครองในอุดมคติที่นักปรัชญาการเมืองแสวง กว่า 2,500 ปี และได้รับการยกย่องจากต่างประเทศว่าเป็นกษัตริย์ของกษัตริย์, 3. ทรงแบกรับภาระชาติที่หนักอึ้งไว้แต่พระองค์เดียวในรอบ 70 ปี ไม่อาจทรงวางมือหรือผ่องถ่ายไปให้ผู้อื่นได้ เมื่อเทียบกับนายกฯ ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมารับภาระชาติ เมื่อพ้นวาระไม่ต้องเหนื่อยกับปัญหาใดๆ ของประเทศอีก, 4.ทรงช่วยรักษาประชาธิปไตยไว้ตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชย์ แม้จะเกิดปฏิวัติ รัฐประหาร หรือการกบฏเป็นครั้งคราว เมื่อเหตุการณ์ผ่านไป ประเทศไทยจะกลับเข้าสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรเป็นประมุข และด้วยอุดมการณ์ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นสังคมคอมมิวนิสต์ได้
5. ทรงสามารถระงับวิกฤตการเมืองได้อย่างประเสริฐ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทยทั้งชาติ ให้อยู่กันด้วยความร่มเย็นเป็นสุขและด้วยพระบารมีทำให้วิกฤตการเมืองที่วุ่นวาย รุนแรง โศกสลดที่เกิดขึ้นหลายครั้งสามารถระงับได้ รวมถึงพระองค์ทรงช่วยผ่าทางตันทางการเมืองในฝ่ายนิติบัญญัติ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2549 ที่รัฐบาลไม่สามารถทำหน้าที่ได้ จึงทรงขอให้สถาบันตุลาการร่วมกันแก้ไขวิกฤตประเทศจนผ่านพ้นไปได้ 6. ทรงยึดมั่นในหลักนิติธรรมของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เมื่อเกิดวิกฤตการเมืองและมีข้อเรียกร้องขอนายกฯ พระราชทาน โดยอ้างถึงมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญบางฉบับ พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสกับคณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด ว่ามาตราดังกล่าวไม่ได้หมายถึงให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจที่จะทำอะไรตามใจชอบ หรือตัดสินใจได้ทุกเรื่อง เพราะจะทำเกินหน้าที่ ซึ่งการขอนายกฯพระราชทานไม่ใช่แบบประชาธิปไตย
7. ทรงทำโครงการพระราชดำริ กว่า 4,000 โครงการเพื่อสร้างชีวิตใหม่ให้ประชาชนในถิ่นทุรกันดาร 8. ทรงพระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นทางสายกลางในการพัฒนาของการดำเนินชีวิต 9. จากรพะราชดำริและพระราชกรณียกิจของพระองค์ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ทำให้ประชาชนไทยรอดพ้นวิกฤตต่างๆ และพระองค์ทรงได้รับรางวัลสดุดีพระเกียรติคุณ ถึง 44 ครั้ง และ 10. การปกครองจากพระปฐมบรมราชโองการที่ว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม จึงได้รับการยกย่องจากผู้นำทั่วโลกว่า ทรงเป็นต้นแบบนักปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย