นายกรัฐมนตรี ปราศรัยวันสหประชาชาติ ชูไทยทำหน้าที่ประธาน G77 แข็งขัน สร้างสรรค์ ยกระดับเวทีระหว่างประเทศ บรรลุเป้าหมาย 3 ประการชัด เผยหลายชาติประยุกต์หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงใช้ ยันช่วยผู้ลี้ภัยบนหลักมนุษยธรรมตลอด หวังเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนให้บรรลุเป้า ชมงาน “บัน คีมูน” เชื่อเลขาฯ คนใหม่จะช่วยธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ พร้อมร่วมรับผิดชอบเพื่อประโยชน์และความสุขของโลก
วันนี้ (24 ต.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปราศรัยทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เนื่องในวันสหประชาชาติว่า พี่น้องชาวไทยที่รัก วันที่ 24 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันสหประชาชาติ มีความหมายสำคัญต่อมวลมนุษยชาติ โดยสหประชาชาติมีวัตถุประสงค์ในการทำหน้าที่เป็นองค์การสากลระหว่างประเทศในการบรรเทาทุกข์และแก้ไขปัญหาของโลก จรรโลงสันติภาพและความมั่นคง ปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสร้างเสริมความเจริญรุ่งเรืองแก่มวลมนุษยชาติ ภายหลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 2สิ้นสุดลง ประเทศไทยมีบทบาทเข้มแข็งในฐานะสมาชิกสหประชาชาติมาตลอด 70 ปี เป็นที่ยอมรับจากองค์กรและประเทศสมาชิกด้วยการมีส่วนร่วมให้ความเห็นและแบ่งปันประสบการณ์แก้ไขปัญหาและการพัฒนาประเทศ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจของสหประชาชาติที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
นายกฯ กล่าวต่อว่า ในปี 2559 นี้เป็นปีเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของสหประชาชาติ โดยเป็นปีแรกของการดำเนินการตามกรอบความร่วมมือสำคัญระดับโลก โดยเฉพาะเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs กรอบเซนได เรื่องการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ, ความตกลงปารีส เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแผนปฏิบัติการระดมทุนเพื่อการพัฒนา วาระสำคัญเหล่านี้ต้องอาศัยแรงผลักดันในระดับสากลเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดียิ่งขึ้นสำหรับโลกของเรา โดยไทยได้ร่วมแสดงบทบาทอย่างแข็งขันและสร้างสรรค์ในประเด็นเหล่านี้ตลอดปีที่ผ่านมา
นายกฯ กล่าวว่า อีกประการที่สำคัญในปีนี้ประเทศไทยได้ทำหน้าที่ในฐานะประธานกลุ่ม 77 ที่แข็งขัน สร้างสรรค์ และชัดเจน ช่วยยกระดับไทยในเวทีระหว่างประเทศอย่างมาก ไทยมีผลงานการสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายต่างๆ ของสหประชาชาติอย่างชัดเจน 3 ประการ คือ (1. การสร้างหุ้นส่วนที่กว้างขวางในเวทีโลก อาทิ การเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับกลุ่ม 20 ในฐานะประธานกลุ่ม 77 (2. การส่งเสริมความร่วมมือใต้-ใต้ และ (3. การแบ่งปันแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย โดยเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ตนได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 71 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และได้กล่าวถ้อยแถลงในหัวข้อ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน : แรงผลักดันสากลเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกของเรา” ตนได้กล่าวถึงการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาประเทศและได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านความร่วมมือทวิภาคีและไตรภาคี และการสร้าง เชื่อมโยงหุ้นส่วนด้านการพัฒนาผ่านกรอบความร่วมมือภูมิภาคต่างๆ เช่น อาเซียน BRICS และ ACD รวมถึงการผสานความร่วมมือระหว่างกลุ่ม 20 กับกลุ่ม 77 ในการเข้าร่วมประชุมของกลุ่ม 20 ล่าสุด ที่นครหางโจว เป็นต้น
นายกฯ กล่าวว่า ได้รับรายงานว่า ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา ประธานสมัชชาสหประชาชาติได้กล่าวถวายคำไว้อาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และที่ประชุมของประเทศสมาชิก 193 ประเทศได้ยืนสงบนิ่งเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชด้วย นานาประเทศล้วนประจักษ์ในพระปรีชาสามารถในด้านการพัฒนา และมีอีกหลายประเทศที่กล่าวถวายการยกย่องว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นผู้นำอย่างแท้จริง หลักการเรื่องการพัฒนาของพระองค์ท่านได้รับการยอมรับและนำไปปรับใช้ในกว่า 20 ประเทศทั่วโลกด้วย ประเทศต่างๆ ที่ได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ ได้แสดงความขอบคุณไทย เช่น ติมอร์-เลสเต อินโดนีเซีย ลาว อัฟกานิสถาน เลโซโท ซิมบับเว และนิการากัว ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจของไทยในการแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีไปสู่ระดับสากล
นายกฯ กล่าวว่า นอกจากนี้ตนยังได้เข้าร่วมการประชุมและกิจกรรมคู่ขนานระดับสูงต่างๆ เพื่อแสดงท่าทีไทยในเวทีระหว่างประเทศ และยืนยันพันธกรณีของไทยต่อสหประชาชาติ อาทิ การประชุมสุดยอดระดับผู้นำด้านผู้ลี้ภัยของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ประสบความสำเร็จด้วยดีในการย้ำเตือนให้ประชาคมโลกตระหนักถึงบทบาทที่เด่นชัดของไทยที่ทำงานร่วมกับสหประชาชาติมากว่า 40 ปี รับภาระเรื่องผู้ลี้ภัยมาแล้วกว่าล้านคน โดยให้ความช่วยเหลือบนหลักมนุษยธรรมมาโดยตลอด ตนได้ประกาศคำมั่นที่สำคัญ ในการดำเนินการของไทยเพื่อให้การช่วยเหลือและดูแลกลุ่มดังกล่าว ซึ่งคำมั่นของไทยชัดเจนและได้รับการชื่นชมจากประเทศต่างๆ อย่างมาก
นายกฯ กล่าวว่า เชื่อว่าความสำเร็จที่กล่าวมาเป็นบทพิสูจน์อย่างดียิ่งต่อความมุ่งมั่นของไทยที่จะมีบทบาทนำที่แข็งขัน ชัดเจน และสร้างสรรค์ และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสหประชาชาติให้บรรลุเป้าประสงค์ในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน การพยายามระงับการพิพาทระหว่างประเทศ การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และการช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนนำความกินดีอยู่ดีมาสู่รัฐสมาชิกทุกประเทศ
“เนื่องในวันสหประชาชาติในปีนี้ ในนามของรัฐบาลไทย ผมขอใช้โอกาสนี้แสดงความชื่นชมการปฏิบัติหน้าที่ของนายบัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติตลอดทศวรรษที่ผ่านมา และขอแสดงความยินดีต่อนายอันโตนิอู กุแตเรช เลขาธิการสหประชาชาติคนใหม่ ซึ่งเพิ่งได้รับการแต่งตั้งโดยที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 และจะเข้าดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติคนที่ 9 ในช่วงต้นปี 2560 ผมเชื่อมั่นว่า ประสบการณ์และความมุ่งมั่นของนายกุแตเรชจะมีคุณค่าในการขับเคลื่อนให้สหประชาชาติเป็นหน่วยงานที่จะช่วยธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ ความสงบสุข ความมั่นคง และความเป็นอยู่ที่ดีของมวลมนุษยชาติยิ่งขึ้นไปอีก ขอย้ำว่าไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับสหประชาชาติในฐานะสมาชิกที่รับผิดชอบเพื่อประโยชน์และความสุขของโลกของเรา” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว