อดีตนายกฯ “ชวน” ให้สัมภาษณ์ไทยโพสต์ เล่าความประทับใจต่อ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ระบุ ทรงทุ่มเทเพื่อเกษตรกร ทรงเป็นปราชญ์ที่รู้จริง รับเคยเตือนรัฐมนตรีหากไม่รู้จริง อย่าไปเสนอความคิด ทรงติดตามเรื่องเล็กใหญ่ ทรงทราบคนไหนเก่ง เผย ทรงเคยถามอาการป่วยแม่ ทรงเรียนภาษาอังกฤษจากข่าว BBC เคยถูกถามวันนี้วาดได้กี่รูป ทรงมีบทบาทแก้วิกฤตบ้านเมือง ทรงรู้ประวัติผู้นำที่เข้าพบ ชี้ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ขาดทุนเพื่อกำไร ทรงรู้สัจธรรม แต่ขอยึดหลักส่งเสริมคนดีให้ปกครองบ้านเมือง นักกฎหมายที่ต้องกล้าวินิจฉัยบนความถูกต้อง
วานนี้ (22 ต.ค.) เว็บไซต์เฟซบุ๊ก Democrat Party, Thailand ของพรรคประชาธิปัตย์ ได้นำบทสัมภาษณ์ นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี เรื่อง “พ่อของแผ่นดิน ในความประทับใจของอดีตนายกฯ” ที่ถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เอ็กซ์ไซท์ ไทยโพสต์ ฉบับพิเศษ วันที่ 21ตุลาคม 2559 มาเผยแพร่ โดยมีเนื้อความว่า
“ท่านนายกฯ คุณแม่เป็นอย่างไรบ้าง”
อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย ชวน หลีกภัย ที่เคยเข้าเฝ้าฯ ถวายงาน และรับเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มามากมายหลายครั้งตลอดช่วงที่เป็นนักการเมือง ซึ่งอยู่ในแวดวงทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ คือ เป็นอดีต ส.ส. มา 15 สมัย และงานด้านฝ่ายบริหาร ที่ผ่านตำแหน่งสำคัญมามากมาย ทั้งอดีตนายกรัฐมนตรี และ อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง เช่น อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์, รมว.พาณิชย์, รมว.ศึกษาธิการ, รมว.ยุติธรรม รวมถึงอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร เขาได้ถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็นความประทับใจของตัวเองในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ที่มีต่อ “ในหลวง รัชกาลที่ ๙” เช่น เรื่องการทรงงานหนักเพื่อประชาชนคนไทย รวมถึงพระบารมีของพระเจ้าอยู่หัวในช่วง 70 ปีแห่งการครองราชย์
โดย นายชวน กล่าวว่า เนื่องจากผมเป็นนักการเมืองมานาน เป็นผู้แทนราษฎรมา 15 สมัย อยู่ในตำแหน่งสำคัญมามากมาย เริ่มตั้งแต่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกฯ มอบหมายให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายกระทรวง เช่น กระทรวงยุติธรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับงานพระราชดำริและเกี่ยวข้องกับในหลวง ที่พระองค์ท่านทรงทุ่มเทงานเพื่อเกษตรกรมาก จึงมีโอกาสตามเสด็จเข้าเฝ้าฯ ในหลายโอกาส และในครั้งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทรงรับทราบว่า ผมเป็นรัฐมนตรียังวัยวุฒิและประสบการณ์น้อย ประสบการณ์ด้านเกษตรก็ไม่ใช่สายตรง โดยพระองค์ท่านทรงแนะนำตั้งแต่ต้นให้ศึกษาและเรียนรู้ได้จากคนที่มีความรู้ เพื่อจะทำงานให้เกิดประโยชน์ ผมก็ถือว่าเป็นพระคุณยิ่งใหญ่ที่ทรงให้คำแนะนำ
ทั้งนี้ ในระหว่างตามเสด็จฯ ได้เห็นความรอบรู้ของในหลวงตลอดมา และถือเป็นปราชญ์ ที่รู้จริง ไม่ใช่เพียงแต่ทฤษฎี แต่ทรงรู้ข้อเท็จจริง และเปี่ยมด้วยทศพิธราชธรรม ผมยอมรับว่า ในหลวงทรงครองราชย์มานานแล้ว ได้ทำงานโดยมีรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจบ้าง มาจากการเลือกตั้งบ้าง หลายสิบชุด ดังนั้น ในหลวงจึงได้เห็นการทำงานของรัฐบาลและรัฐมนตรีแต่ละคน แต่ละชุดยาวนาน เราจะเห็นว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในกระทรวง ทบวง กรม ตามวาระ แต่ในหลวงไม่เปลี่ยน ดังนั้น ความรอบรู้และประสบการณ์ที่เก็บสะสมมายาวนาน ทำให้ท่านทะลุปรุโปร่ง ทุกเรื่อง แม้คนใหม่เข้ามาก็จะรู้ไม่เท่าพระองค์ท่าน
“ผมเคยเห็นรัฐมนตรีบางคนเสนอความคิดบางอย่างในครั้งที่เสด็จฯ มาทรงเปิดงานและดูโครงการบางเรื่อง ท่านยังทรงชี้ข้อเสนอนี้ว่าไม่ตรงตามข้อเท็จจริง ซึ่งผมเคยเตือนรัฐมนตรีหลายคน ว่า หากไม่รู้จริง อย่าไปเสนอแนะ เพราะในหลวงหลับตามองเห็นทั้งหมด เพราะท่านอ่านแผนที่ได้หมด และรู้ว่าตรงไหนเป็นเนิน ตรงไหนควรสร้างอะไร ไม่ควรสร้างอะไร ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐมนตรีที่เข้ามาจะต้องตระหนักตลอดเวลา ผมยังต้องให้เจ้ากรมแผนที่ทหาร มาสอนการดูแผนที่ เพราะเราไม่มีความรู้เรื่องแผนที่ ไม่เคยได้เรียนมา เพราะเมื่อเราตามเสด็จฯอะไรเวลาท่านรับสั่งอะไร หรือแม้ไม่ได้ถามเรา แต่เราก็ควรจะทราบว่าเรื่องนั้นเรื่องอะไร” นายชวน กล่าว
นายชวน กล่าวต่อไปว่า พระองค์ท่านทรงรู้แม้กระทั่งรายละเอียดที่เรานึกไม่ถึง เช่น การแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ วันหนึ่ง ท่านทรงกางแผนที่ในกรุงเทพฯ และชี้ให้ดูว่าเส้นทางมันไปไหน โดยเฉพาะบริเวณถนนศรีอยุธยา หากมีสะพานข้ามไปจะทำให้การจราจรคล่องตัวขึ้นอย่างไร และท่านก็ชี้ว่าบ้านท่านนายกฯ อยู่ซอยหมอเหล็ง ซึ่งอยู่ตรงนี้ ท่านมองเห็นภาพหมด จนสุดท้ายถนนศรีอยุธยาก็เชื่อมต่อเส้นทางโครงการจตุรทิศ จนสามารถแก้ปัญหาจราจรได้ นอกจากนี้ ยังมีหลายเรื่องที่คนไม่ค่อยสนใจแต่พระองค์ท่านติดตาม ครั้งนี้รับสั่งเรื่องเรื่องหนึ่ง อย่างเช่นการติดตามรายการข่าวบ้านเมืองของผู้ดำเนินรายการข่าว (ฟองสนาน จามรจันทร์) ซึ่งเป็นนักข่าวที่ผมรู้จัก แสดงว่า ทรงติดตามข่าวสารบ้านเมืองตลอด และผมก็ได้มาแจ้งนักข่าวผู้นั้นทราบว่า ในหลวงทรงฟังคุณรายงานข่าวด้วยนะ ระวังด้วยนะเวลาพูดอะไร (หัวเราะ) ซึ่งนักข่าวผู้นั้นก็ตื่นเต้นมาก
เรื่องบางเรื่องเป็นข่าวสารบ้านเมืองที่คนรู้ทั้งประเทศ แต่เวลามีเรื่องอะไรขึ้นมา และมีการวินิจฉัยจากองค์กรบางองค์กรที่ไม่ตรงตามสิ่งที่เกิดขึ้น พระองค์ท่านจะรู้ เราจะสังเกตพระราชดำรัส และพระบรมราโชวาทในหลายครั้ง ที่ทรงย้ำเตือนบางเรื่อง เช่น ยึดเรื่องความชอบธรรม เรื่องความถูกต้อง เรื่องความเคารพ หรือเรื่องกล้าตัดสินใจ ยึดคุณธรรม ศีลธรรม และกฎหมาย ทำให้เราเห็นสิ่งเหล่านี้บ่อย แสดงให้เห็นว่าพระองค์ท่านทรงติดตามเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ตลอดเวลา
อดีตนายกฯ กล่าวด้วยว่า ในหลวงท่านจะทรงทราบว่าคนไหนเก่ง หรือไม่เก่ง เช่น นายอำพล เสนาณรงค์ สมัยทำงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เคยมีพระราชดำรัสกับผมว่า ท่านอำพล เป็นคนมีความรู้ ซึ่งต่อมาเมื่อท่านเกษียณ ก็มาเป็นองคมนตรี และผมก็เคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ทราบว่า คุณอำพล เป็นคนที่มีความรู้จริง ๆ แสดงว่า ในหลวง มองคนที่มีความรู้หรือไม่รู้จากการที่ท่านได้มีคนมาช่วยงานเสมอ
ถึงตรงนี้ อดีตนายกฯ ชวน เล่าให้ฟังว่า ในช่วงคุณแม่ถ้วน ป่วย ผมเป็นนายกรัฐมนตรี วันหนึ่งไปรับเสด็จฯ โดยปกติท่านต้องไปที่งาน แต่ท่านทรงแวะเข้ามาที่ผม และคำแรกที่รับสั่งก็คือว่า “ท่านนายกฯ คุณแม่เป็นอย่างไรบ้าง” ตอนนั้นผมขนลุกเลย แสดงว่า ทรงติดตามและให้ความสำคัญกับคนอื่น ๆ ผมก็ไปบอกแม่ถ้วนว่า “แม่ พระเจ้าแผ่นดินถามถึงแม่” (หัวเราะ) ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก และบันทึกในความทรงจำของผมเอาไว้ ไม่มีลืมเลือน
อดีตนายกฯ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ความประทับใจอีก คือ ทรงเข้าใจผู้ร่วมงาน กล่าวคือ โดยปกติ คนที่เป็นนายกรัฐมนตรี จะได้สายสะพายและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายในจุลจอมเกล้าด้วย ผมเป็นนายกฯ ที่ไม่ได้ เนื่องจากตอนนั้นมีสถานการณ์บางอย่างเกิดขึ้นในฝ่ายตุลาการ มีวันหนึ่ง รับสั่งด้วยพระองค์เองเมื่อผมเข้าเฝ้าฯ ในงาน ว่า “คุณชวนยังไม่ได้เครื่องราชฯ เราไม่เคยคิดว่าจะรับสั่งเรื่องนี้นะ” ผมก็เลยกราบบังคมทูลขณะนั้นเลยว่า ข้าพระพุทธเจ้าเป็นนักการเมืองพระเจ้าค่ะ ข้าพระพุทธเจ้าได้รับสายสะพาย 4 เส้น ถือว่าสูงสุดของนักการเมือง ไม่ปรารถนาอะไรมากกว่านี้ ฉะนั้น เครื่องราชฯ ที่พระองค์ท่านรับสั่งถึงข้าพระพุทธเจ้า ขอให้พระราชทานให้ผู้รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทใกล้ชิดจะดีกว่าพระเจ้าค่ะ ข้าพระพุทธเจ้าเป็นนักการเมือง ไม่มีความจำเป็น ซึ่งวันนั้นในหลวงก็ตรัสกลับว่า “เมื่อคุณชวนพูดอย่างนี้ ฉันก็สบายใจ แต่คนอื่นไม่เป็นอย่างนี้”
สำหรับเรื่องนี้ไม่ได้จบแค่นี้ เมื่อผมพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปแล้ว ไปเป็นผู้นำฝ่ายค้าน วันหนึ่ง นายวิษณุ เครืองาม อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ก็โทร.มาว่าให้ผมเตรียมตัวไปรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฝ่ายใน เนื่องจากพระองค์รับสั่งด้วยพระองค์เองว่า “ให้คุณชวนเขาด้วย เพราะคุณชวน ยังไม่ได้” ซึ่งถือเป็นความผูกพันส่วนตัวที่ได้ทำงานใกล้ชิดพระองค์ท่านในตำแหน่งหน้าที่
อดีตนายกฯ ชวน กล่าวต่อว่า ผมมีโอกาสร่วมโต๊ะเสวยในหลายโอกาส เช่น เสด็จฯ ต่างจังหวัด บางครั้งก็มีเลี้ยง ในฐานะนายกรัฐมนตรี ก็ต้องร่วมโต๊ะเสวย ซึ่งอาหารส่วนใหญ่ที่รับประทานเป็นอาหารไทยทั่วไป เช่น แกงจืด ข้าว ไม่ค่อยมีแกงเผ็ด แกงไตปลาไม่มี (หัวเราะ) และผมจะต้องนั่งติดกับพระที่นั่งของในหลวง โดยพระองค์ท่านจะอยู่ทางขวา ผมก็จะมีเศษกระดาษเอาไว้จด เพราะระหว่างรับสั่งอะไรบนโต๊ะเสวยเป็นเรื่องส่วนตัวจริง ๆ ซึ่งผมจำได้ไม่หมด บางครั้งในหลวงก็ทรงทักว่าคุณชวน จดเอาไว้ด้วยเหรอ ผมก็ทราบบังคมทูลว่า ข้าพเจ้าจำได้ไม่หมด ในหลวงก็ทรงพระสรวล
พระองค์ทรงเล่าเรื่องสมเด็จย่า ที่พระองค์ทรงเรียกว่าแม่ พระองค์ท่านชอบเล่าการเรียนสมัยเด็ก เวลาไปเอาของใครมาแม่ไม่ยอม เวลาใครให้ของมา ต้องซักแล้วซักอีกว่าไปเอามาได้อย่างไร ต้องมีการชี้แจงว่าพระองค์ไปทำอะไรมาให้เขา จึงได้ของตอบแทนมา
ผมเคยกราบบังคมทูลถามว่า สมัยเด็กที่พระองค์ทรงเรียนที่สวิตเซอร์แลนด์ ภาษาหลักคือฝรั่งเศส พระองค์ตอบว่าใช่ ผมก็ทราบบังคมทูลว่าแล้วภาษาอังกฤษพระองค์ท่านเรียนอย่างไร พระองค์ท่านก็รับสั่งว่าก็ฟังของสำนักข่าว BBC ซึ่งอย่าลืมว่าสมัยนั้นความพร้อมในการส่งพระราชทรัพย์ไม่ได้มีความพร้อมอย่างสมัยนี้ ไม่ใช่เป็นเรื่องได้มาง่าย ๆ ฉะนั้น สมเด็จย่า จึงได้ประหยัด อย่างเช่น อีกเหตุการณ์ผมเคยตาม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ตอนท่านเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ไปเยือนยุโรป และสมเด็จย่า รับสั่งให้ผมติดตามไปด้วย โดยได้เช่าเครื่องบินลำเล็กไปกราบบังคมทูลเยี่ยมสมเด็จย่า ขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ก็ทรงอยู่กับสมเด็จย่า ก็ทำข้าวผัดอเมริกันมาเลี้ยงพวกเรา ในห้องแคบ ๆ ซึ่งสมเด็จย่า ก็เตือนว่าเวลาเดินระวังหน่อยนะ เดี๋ยวชนโต๊ะฉัน ผมก็โครมเข้าให้ (หัวเราะ) เพราะห้องแคบจริง ๆ และพระองค์ท่านก็อยู่อย่างประหยัด
.
นายชวน กล่าวต่อไปว่า พระองค์ท่านทรงมีความเป็นศิลปินอยู่ วันหนึ่งได้เข้าเฝ้าฯ และรับสั่งว่าเห็นคุณชวน ไปนครวัดนครธม แล้วไปดูรูปแกะสลัก และรับสั่งถึงผมว่า “มีความสุขนะ เราศิลปินด้วยกัน” ซึ่งรับสั่งอย่างนี้เลยนะ แต่เรื่องภาพต้องเรียนว่าผมมีสมุดเล็กๆ ติดตัวเสมอ เช่นภาพของพระองค์ท่าน ที่เสด็จฯ วันรัฐธรรมนูญ วันที่ 10 ธันวาคม 2540 ผมกลับมาเป็นนายกฯ ครั้งที่ 2 ประธานรัฐสภาจะนั่งติดกับพระองค์ท่าน พระองค์ท่านจะนั่งประทับหน้าสมเด็จพระสังฆราช ในการถวายภัตตาหารเพล ผมก็นั่งถัดจากประธานรัฐสภา ผมก็นำสมุดเล่มเล็ก ๆ มา เห็นในหลวงทรงด้านข้าง ก็เลยสเกตช์รูปง่ายๆ ซึ่งรูปนี้มีคนเคยขอไปลงถวายพระพรและให้เงินมาหนึ่งแสนบาท และผมก็ถวายเข้ามูลนิธิของพระองค์ท่าน
อีกทั้งเวลามีประมุขจากต่าง ๆ ประเทศมา เช่น ประธานสภาประเทศลาว ในหลวงก็ทรงเลี้ยงอย่างดี และออกไปดูโขนข้างนอก จากนั้นก็ทรงขึ้นรถและไปประทับในวัง ผมยังจำได้ก็เลยสเกตช์เหตุการณ์ไว้เล็กน้อย ซึ่งเหมือนกับการจดเหตุการณ์ที่ต้องจดเป็นตัวหนังสือหมด ก็จดเป็นรูปบ้าง คือผมเชื่อว่าเมื่อเราจำอะไรเยอะ ๆ ไม่มีทางสามารถจำได้หมด ผมก็เป็นประเภทช่างจด แต่ไม่ได้จดทุกเรื่อง จดเฉพาะหัวข้อที่สำคัญ แต่หากจดเป็นรูป ก็จะบอกได้หมดว่าเกิดอะไรขึ้น พระองค์ท่านก็คงจะทราบวันหนึ่งเมื่อประธานสภาประเทศลาวกลับไปแล้ว หันมาถามว่านายกฯ วันนี้ได้กี่รูป (หัวเราะ) ซึ่งบางครั้งก็ต้องระวังไม่ได้สเกตช์ทุกเหตุการณ์ เดี๋ยวจะถูกตำหนิ วิจารณ์ได้ว่าไม่มีสมาธิระหว่างปฏิบัติหน้าที่
อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย กล่าวว่า ในช่วงนั้นในหลวงทรงมีบทบาทในการแก้ไขวิกฤตหลายครั้ง หากมีโอกาสผมมักเล่าให้ประชาชนฟังระหว่างผมปราศรัย ให้เห็นว่าหากในหลวงไม่ทรงลงมาแก้ปัญหาหลายครั้งบ้านเมืองจะเกิดวิกฤตอย่างไร ทั้งนี้ เมื่อผมเป็นนายกฯ และผมเป็นนักการเมืองจากการเลือกตั้ง และเป็นนายกฯ คนแรกที่อายุน้อยกว่าพระองค์ท่าน เพราะนายกฯ ก่อนหน้าผมส่วนใหญ่มีอายุมากกว่าพระองค์ท่าน ไม่ว่าจะเป็น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หรือใครก็ตาม หรือเช่น พล.อ.เปรม และ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นต้น
ซึ่งพระองค์ทรงทราบว่าผมเป็นคนที่ผ่านประสบการณ์มาน้อยกว่า ผมมีความรู้สึกว่าทรงมีความเมตตาให้คำแนะนำในหลายเรื่อง เช่น ทรงนำแขกต่างประเทศเข้าเฝ้าฯ เรื่องนี้น่าสนใจมาก เพราะที่จริงแล้วการนำแขกต่างประเทศเข้าเฝ้าฯ นั้น เวลาสื่อสารไม่ได้ใช้ภาษาไทย ผมภาษาต่างประเทศก็ไม่เก่ง แต่ถ้าสนทนาเป็นภาษาอังกฤษพอจะติดตามได้บ้าง แต่ผู้นำประเทศหนึ่งใช้ภาษาฝรั่งเศส ไม่มีทางรู้เรื่องเลย เรียกว่าภาษาที่สื่อสารมาเข้าหูซ้ายทะลุหูขวาผม เชื่อหรือไม่เมื่อพระองค์ทรงสนทนาเสร็จ หันมาที่ผมรับสั่งว่าคุยกันเรื่องอะไร เพราะทรงทราบว่าผมไม่รู้เรื่อง (หัวเราะ)
นอกจากนี้ สิ่งที่อยากเรียนว่า พระองค์ทรงทำการบ้านตลอดเวลา ผู้นำที่เข้าไปพบ พระองค์ทรงรู้ประวัติ รู้การทำงาน ทุกคนเมื่อออกมาก็รู้สึกตื่นเต้น ประทับใจว่าในความรอบรู้ และหันมาถามผมว่า ทรงรู้เรื่องนั้นได้อย่างไร
“ทั้งนี้ ระหว่างที่ผมเป็นนายกฯ ครั้งแรก สิ่งแรกที่ผู้นำประเทศมักจะพูดชื่นชมประเทศไทยก็คือ ชื่นชมในหลวงว่า พระองค์ท่านทรงเป็นประมุขของประเทศที่ประชาชนมีความสามัคคีและมีความสุข ไม่มีความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติและศาสนา”
ต่อมาผมเป็นนายกฯ ครั้งที่สอง เมื่อนำแขกต่างประเทศเข้าเฝ้าฯ ในหลวง และชื่มชมในหลวงมากเป็นพิเศษ ที่ทุกคนจะต้องพูดถึง คือ การที่ไทยส่งทหารไปติมอร์ตะวันออกเพื่อรักษาความสงบในภูมิภาค ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่คนไทยไม่ทราบ แต่แท้จริงในต่างประเทศถือเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก
อดีตนายกฯ ชวน บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ต่อไปว่า ในระหว่างเป็นนายกฯ ยังมีความประทับใจ คือ การสร้างโครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งตอนเริ่มโครงการ ในหลวงทรงเป็นห่วง เพราะมีคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ และเป็นโครงการแรกที่เวนคืนที่ดินแพงกว่าค่าก่อสร้าง ซึ่งตอนนั้นมีเสียงตำหนิและวิจารณ์ ซึ่งพอทราบว่าในหลวงทรงประหยัด ทุกอย่างมีเหตุมีผล เป็นที่มาของคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง แต่ขณะเดียวกัน ท่านก็เคยรับสั่งว่า ยอมขาดทุนเพื่อให้ได้กำไรวันข้างหน้า ถึงอยากจะย้ำว่าเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เรื่องขี้เหนียว ไม่ใช่เรื่องลงไปแล้วต้องได้ทุกอย่าง บางอย่างอาจไม่ได้ แต่ผลที่ได้ตามมาคุ้มเกินคุ้ม
เหมือนโครงการเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เริ่มตั้งแต่ผมเป็นนายกฯ ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2535 - 2538 ผมอยากเปรียบเทียบให้เห็นว่า วันที่โครงการนี้สำเร็จ สังเกตพระองค์ท่านทรงประทับที่นี่ยาวนาน เหมือนกับสิ่งที่พระองค์ท่านคิดเอาไว้สำเร็จแล้ว และนั่นคือ คำตอบ ขาดทุนเพื่อกำไร หรือยอมจ่ายค่าเวนคืนที่ดินที่แพงกว่าปกติ แต่ในที่สุดเมื่อสร้างเสร็จปีแรกความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วม มันลดลงไปเกือบหมด เกินคุ้ม ที่คำนวณเป็นตัวเงินไม่ได้แล้ว จนกลายเป็นแหล่งเก็บน้ำอย่างทุกวันนี้
“นี่คือสิ่งที่พระองค์คิด และคนอื่นก็คิดอย่างพระองค์ท่านยาก เพราะความรอบรู้มีไม่เพียงพอ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่พระองค์ท่านมองปัญหาของพี่น้องประชาชนต่อเนื่องยาวนานมา รัฐมนตรีหรือรัฐบาลที่เข้ามาอาจจะคิดใหม่หรือเปลี่ยนแปลงอะไร แต่ในที่สุดไม่มีอะไรยั่งยืนเท่ากับที่พระองค์รับสั่ง วันนี้ลองย้อนกลับไปดูในหลายโครงการของพระองค์ท่าน หากไม่เกิดจากพระราชดำริ โครงการต่างๆ อาจจะเกิดยาก แต่ท่านพระองค์ก็ทรงเตือนทุกคนว่าอย่าไปคิดว่ามันเกิดขึ้นจากใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของทุกคนที่ร่วมกันทำ” นายชวน กล่าว
พระราชดำรัสพระองค์ท่านเป็นสิ่งสำคัญ กว่าที่จะออกมาเผยแพร่ ท่านทรงคิดหมดแล้วจะออกมาเป็นเช่นใด เหมือนที่เราได้ยินว่า “ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุข เรียบร้อยจึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมความดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้” สิ่งนี้เป็นพระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี 11 ธันวาคม 2512 และพระองค์ท่านได้ทรงเตือนลูกเสือเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ต้องทำเพื่อประโยชน์ให้แก่บ้านเมือง ให้ตระหนักบ้านเมืองมีทั้งคนดีและไม่ดี ไม่ได้เป็นคำสอนรัฐบาลหรือรัฐมนตรี
สะท้อนให้เห็นว่าพระองค์รู้สัจธรรมความจริงทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพราะวันข้างหน้า จะต้องมีคนดีและคนไม่ดีอยู่ต่อไป แต่ขอให้ยึดหลักส่งเสริมคนดีให้ปกครองบ้านเมือง อย่าให้คนไม่ดีมีอำนาจ แล้วก็เป็นจริง เมื่อคนไม่ดีมีอำนาจ บ้านเมืองจะเสื่อมถอยลงไป ถือเป็นความจริงที่พระองค์ท่านได้เห็นมาตลอดชีวิต
“ดังนั้น คำแนะนำหรือพระบรมราโชวาททั้งหลาย ถือว่ามีคุณค่า และสืบสานพระราชปณิธานต่อไป โดยเฉพาะทรงย้ำเสมอว่าให้ทุกคนกล้าอยู่บนความถูกต้อง” อดีตนายกฯ กล่าวด้วยน้ำเสียงเน้นย้ำ
อดีตนายกฯ ผู้นี้ กล่าวต่อไปว่า เคยรับสั่งกับเนติบัณฑิตว่า กฎหมายของเราดีอยู่แล้ว สิ่งที่ต้องการคือนักกฎหมายที่ต้องกล้าตัดสินใจ วินิจฉัยบนหลักความถูกต้อง เที่ยงตรง เพราะพระองค์ท่านเห็นบ้านเมืองมาหมด ติดตามข่าวสารบ้านเมืองว่าอะไรเกิดขึ้น จนมาถึงพระราชดำรัสที่ว่า ตนเองจะมีความสุขก็ต่อเมื่อบ้านเมืองเป็นปกติ มีความเจริญรุ่งเรือง บ้านเมืองจะเป็นอย่างนี้ได้ ผู้รับผิดชอบบ้านเมืองและประชาชนทบทวนตัวเองว่ามีหน้าที่อะไร แล้วทำหน้าที่นั้นด้วยความสุจริตและเที่ยงตรงเพราะแท้จริงแล้วบ้านเมือง คนที่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบหน้าที่ตรงไปตรงมา ปัญหาก็จะไม่เกิด คือจุดสำคัญที่เราได้เห็นพระองค์ท่านให้คำแนะนำ และทรงยึดสิ่งนี้ต่อเนื่องยาวนานมา 70 ปีที่ครองราชย์อย่างมั่นคง