ในวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกมหาสมาคม ทรงรับการถวายพระพรชัยมงคล ณ สีหบัญชรพระที่นั่งอนันตสมาคม เนื่องในมหามงคลสมัยทรงครองราชย์สมบัติครบ ๖๐ ปีเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๙ ภาพของประชาชนคนไทยที่ใส่เสื้อสีเหลืองอย่างพร้อมเพรียงกัน แออัดเต็มลานพระบรมรูปทรงม้า และล้นหลามไปตามถนนราชดำเนินนอกจนสุดสายตาในภาพนั้น นับว่าเป็นภาพที่ “เขย่าโลก” ทำให้ชาวโลกตกตะลึงไปตามกัน และตั้งคำถามกันว่า
“ทำไมคนไทยถึงรักพระมหากษัตริย์ของเขาถึงเพียงนี้”
และในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาประทับรักษาพระวรกายอยู่ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราชตั้งแต่วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๒ ท่ามกลางความห่วงใยในพระพลานามัยของเหล่าพสกนิกร จนในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๒ พระองค์ได้เสด็จลงมาจากที่ประทับชั้น ๑๖ เพื่อถวายบังคมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้พสกนิกรที่มาเฝ้าถวายพระพรในวันนั้นต่างอิ่มเอิบหัวใจ น้ำตาแห่งความปีติไหลรินที่ได้เห็นสีพระพักตร์บ่งบอกถึงพระพลานามัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นับเป็นภาพมงคลที่วิเศษสุด ความวิตกกังวลได้แปรเปลี่ยนเป็นความสุขในทันที และคลื่นแห่งความสุขนี้ก็ได้แผ่กระจายไปทั่วประเทศ ทำให้วันนั้นเป็นวันที่คนไทยมีความสุขที่สุดในรอบปี
เรื่องนี้ไม่เพียงเป็นข่าวสำคัญในเมืองไทย ยังเป็นข่าวที่กระจายไปทั่วโลก สำนักข่าวทั้งหลายให้ความสำคัญยิ่งกว่าข่าวความเคลื่อนไหวของโลกในวันนั้นอีกหลายข่าว
โลกได้รับรู้ความเป็น King of King ของพระองค์ ที่ทรงเป็นมิ่งขวัญและเทิดทูนสักการะอยู่เหนือเกล้าของปวงชนชาวไทย
คนไทยหลายคนได้รับคำถามจากเพื่อนชาวต่างประเทศอยู่บ่อยๆว่า
“ทำไมคนไทยถึงรักพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ถึงเพียงนี้”
คำตอบนี้คนไทยต่างรู้ดี และมีคำตอบอยู่เต็มหัวใจ แต่เมื่อให้ตอบ กลับเป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะไม่อาจจะจาระไนสิ่งที่เต็มตื้นหัวใจออกมาได้หมด ทุกข้อทุกพระราชภารกิจ ได้แสดงถึงความรักความห่วงใยในพสกนิกรของพระองค์ ทรงทุ่มเทพระราชหฤทัยและพระวรกายอย่างไม่เกรงต่อความเหน็ดเหนื่อย เพื่อแก้ปัญหาและยกฐานะความอยู่เย็นเป็นสุขให้พวกเขา
จากพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ที่ทรงประกาศต่อหน้ามหาสโมสรสันนิบาติ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ จนถึงวันเสด็จสู่สรวงสวรรค์ พระองค์ได้ทรงครองแผ่นดินโดยทศพิธราชธรรม คือจริยวัตร ๑๐ ประการที่พระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤติเป็นหลักธรรมประจำพระองค์ หรือเป็นคุณธรรมประจำตนของผู้ปกครองบ้านเมือง ให้เป็นไปโดยธรรมและยังประโยชน์สุขแก่ประชาชน คือ
ทาน คือการให้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็น “ผู้ให้” มาตลอด ทรงให้ปัญญาความรู้ ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ให้ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทุกย่างก้าวพระบาทไม่ว่าจะเสด็จไป ณ ที่ใด ทรงบำเพ็ญทานบารมีทั้งธรรมทาน อามิสทาน รวมทั้งอภัยทาน คือการให้อภัยผู้ที่ควรได้รับอภัย อย่างสม่ำเสมอ
ศีล คือความประพฤติที่ดีงาม ทั้งกาย วาจา และใจ ทรงเป็นแบบอย่างและสนับสนุนศาสนิกชนไม่ว่าศาสนาใด ให้ยึดมั่นในศีลธรรมของศาสนาที่ตนนับถือ เพราะกฎหมายควบคุมได้แต่กาย แต่หลักศีลธรรมทางศาสนาช่วยควบคุมจิตใจ
บริจาค คือการเสียสละความสุขส่วนตน เพื่อความสุขส่วนรวม พระราชกรณียกิจต่างๆของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงตรากตรำพระวรกายจนเป็นพระมหากษัตริย์ที่พสกนิการได้มีโอกาสเห็นหยดพระเสโท ย่อมยืนยันข้อนี้ได้เป็นอย่างดี
อาชชวะ คือความซื่อตรง ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชนและประเทศชาติด้วยความซื่อตรง ทั้งซื่อตรงต่อพระองค์เอง ซื่อตรงต่อหน้าที่ ซื่อตรงต่อประเทศชาติ และซื่อตรงต่อประชาชนมาโดยตลอด
มัททวะ คือความอ่อนโยน ทรงมีพระราชอัธยาศัยสุภาพอ่อนโยน ทั้งทางพระวรกาย ทางพระวาจา และทางพระราชหฤทัย ภาพประทับใจเหล่านี้ปรากฏอยู่ตลอดมาเมื่อทรงออกเยี่ยมเยียนราษฎร
ตบะ คือความเพียร ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะเพื่อให้บรรลุความสำเร็จในการช่วยราษฎรพ้นทุกข์ ความเพียรต่อการทุ่มเทพระราชหฤทัยในด้านนี้ ทำให้ทรงคิดค้นสิ่งประดิษฐ์และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริออกมามากมาย
อักโกธะ คือความไม่โกรธ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่เคยทรงแสดงความโกรธให้ปรากฏ ทรงมีแต่พระเมตตา ไม่มุ่งร้ายผู้อื่น แม้มีเหตุก็ทรงเตือนด้วยเหตุผลและพระราชกุศโลบายที่แยบคาย
อวิสิงหา คือความไม่เบียดเบียนผู้อื่น มีพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นเครื่องแสดงออก ซึ่งมีอยู่อย่างเปี่ยมล้นในพระราชอัธยาศัย จะเห็นได้จากทรงส่งเสริมคุณธรรมที่ให้สามัคคีรักใคร่ปรองดองกันเพื่อความผาสุกของสังคม
ขันติ คือความอดทน การบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆ ย่อมมีปัญหานานัปการ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระขันติธรรมอย่างสูงยิ่ง จึงทรงเอาชนะอุปสรรคทั้งหลายนั้นได้ สร้างความผาสุกให้ราษฎรได้ทั่วแผ่นดิน
อวิโรธนะ คือการวางตนหนักแน่นในธรรม ไม่มีความเอนเอียงหรือหวั่นไหว ทรงสถิตมั่นในธรรมคือแบบแผนและหลักการ โดยไม่มีข้อบกพร่องให้เสื่อมเสียพระเกียรติ นับเป็นบุญมหาศาลของประชาชนชาวไทย ที่เกิดมาอยู่ใต้ร่มพระบารมีของกษัตราธิราชเจ้าผู้ทรงไม่ประพฤติผิดในธรรม
ส่วน “เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” นั้น พสกนิกรทั้งหลายต่างได้ประจักษ์แจ้งถึงพระราชปณิธานที่ทรงมุ่งมั่นในการสร้างความสุข บรรเทาความทุกข์ให้คนทั้งแผ่นดินอย่างไม่ทรงเหน็ดเหนื่อย แม้แต่ชาวต่างประเทศเทศยังยอมรับว่า พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในบรรดากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ในโลก เป็นกษัตริย์ที่พสกนิกรได้เห็นพระเสโทหยดย้อย ทั้งๆที่บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้พระมหากษัตริย์จะต้องบำบัดทุกข์บำรุงสุขพสกนิกรด้วยพระองค์เอง ไม่มีอะไรบังคับให้พระองค์ต้องเหนื่อย แต่พระองค์ก็ทรงเหนื่อยด้วยความรักและความห่วงใยในอาณาประชาราษฎร์
ตลอดเวลา ๗๐ ปีครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯไปทรงเยี่ยมราษฎรทั่วพระราชอาณาจักร ไม่มีจังหวัดใดในประเทศไทยที่พระองค์ไม่ได้เสด็จฯไป ทรงรับทราบถึงชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรแต่ละภูมิภาคด้วยพระองค์เอง และเมื่อที่ไหนมีปัญหา ไม่ว่าในเมืองหลวงหรือชนบทไกล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็จะเสด็จฯไปที่นั่นเพื่อแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที จนเป็นที่กล่าวกันว่า
“ในประเทศนี้ อะไรๆก็ต้องในหลวง”
ผู้เขียนอยู่ที่หมู่บ้านเสรีย่านมหาวิทยาลัยรามคำแหงเมื่อปี ๒๕๒๖ ที่น้ำท่วมหนัก การจราจรย่านนั้นต้องใช้เรือเท่านั้น และเป็นเช่นนี้มาก่อนหน้านั้นทุกปีที่มีฝนตกหนัก จนย่านนี้เป็นที่เลื่องลือในเรื่องน้ำท่วม เป็นฝันร้ายที่หลายรายต้องย้ายบ้านหนี แต่น้ำที่ท่วมบริเวณนั้น แม้จะท่วมอยู่นานถึง ๔-๕ เดือนก็ไม่เน่า กลับไหลแรงอยู่ตลอดเวลา เป็นเช่นนี้ซ้ำซากอยู่หลายปี แล้วก็ต้องในหลวงอีกเหมือนกัน ทรงเสด็จพระราชดำเนินออกตรวจพื้นที่ถึง ๖ ครั้ง บางครั้งก็ทรงลุยน้ำเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร จากการศึกษาพื้นที่ ทรงทราบว่าย่านนี้เป็นเหมือนแอ่งกระทะ จะสูบน้ำที่ท่วมให้แห้งได้ ก็ต้องสูบให้น้ำทั้งทุ่งรังสิตแห้งก่อน มิฉะนั้นน้ำก็จะไหลลงมาในแอ่งนี้ จึงทรงมีพระราชดำริให้กรุงเทพมหานครร่วมกับกรมทางหลวงและการรถไฟ สร้างคันดินเลียบถนนนิมิตใหม่ ถนนร่มเกล้า ถนนกิ่งแก้ว เป็นระยะทาง ๗๒ กิโลเมตร เพื่อกันน้ำจากทุ่งทางเหนือขึ้นไปไม่ให้ไหลลงมาในแอ่งกระทะ พร้อมทั้งขุดลอกคลองในย่านนั้น ระบายน้ำที่ไหลมาจากทุ่งรังสิตให้ไปลงทะเล เมื่อฝนตกลงมาในแอ่งกระทะ ไม่ว่าจะหนักแค่ไหน กำลังเครื่องสูบน้ำของ กทม.ก็สามารถสูบให้แห้งได้อย่างรวดเร็ว จากปีนั้นเป็นต้นมา ปัญหาน้ำท่วมเขตตะวันออกของกรุงเทพฯก็หมดไป ตามคำกล่าวที่ว่า “พระบาทยาตรา ปวงประชาเป็นสุข”
การเสด็จฯไปหาข้อมูลเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้ราษฎรนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯไปถึงต้นตอของปัญหา แม้จะเป็นสถานที่เปลี่ยวและในเวลามืดค่ำก็ไม่ทรงหวั่นเกรงภัยใดๆ พระองค์ทรงอยู่เหนือความขัดแย้ง เป็นผู้ให้โดยไม่จำกัดเชื้อชาติศาสนาของคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย อย่างกรณีของ “พระสหายแห่งสายบุรี” จะเห็นการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เป็นอย่างดี
ในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๓๕ ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯแปรพระราชฐานไปประทับพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ได้เสด็จฯไปทรงงานในโครงการพัฒนาพรุแฆแฆ ที่อำเภอสายบุรี จังหวัดนราธิวาส มีพระราชดำริให้ศึกษาหาวิธีระบายน้ำออกจากที่ลุ่ม และกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามแล้ง ในวันนั้นได้กำหนดจุดในการเสด็จพระราชดำเนินไว้ ๔ จุด
ณ จุดหมายที่ ๑ บ้านเจาะใบ ตำบลแป้น ได้ทอดพระเนตรพรุแฆแฆด้านตะวันตกและมีพระราชดำรัสกับชาวบ้านเป็นเวลานาน ทรงทราบข้อมูลใหม่ว่า ใกล้ๆกับพรุนี้มีคลองน้ำจืดอยู่ หากกักเก็บน้ำในคลองนี้ไว้ได้ ก็จะเป็นอ่างเก็บน้ำได้เป็นอย่างดี ทรงตัดสินพระทัยที่จะเปลี่ยนหมายกำหนดการไปทอดพระเนตรคลองนั้นทันที เจ้าหน้าที่ผู้ตามเสด็จฯทุกฝ่ายต่างกราบบังคมทูลว่า เสด็จฯไปไม่ได้ เพราะทางทุรกันดาร รถยนต์เข้าไปไม่ถึง ทั้งยังเป็นเวลาใกล้ค่ำแล้ว แต่ไม่ว่าใครจะกราบบังคมทูลอย่างไร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชดำรัสว่า “ไปได้”
ขบวนรถพระที่นั่งเคลื่อนไปตามเส้นทางที่ฝุ่นตลบ จนคันหลังเกือบจะมองไม่เห็นคันหน้า และเมื่อเส้นทางรถสิ้นสุดลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินต่อด้วยพระบาทไปตามทางเท้าแคบๆที่สองข้างรกชัฏ จนกระทั่งถึงชายคลองน้ำจืดเมื่อแสงสุดท้ายของพระอาทิตย์ลับฟ้าพอดี ทรงใช้ไฟฉายส่องดูแผนที่และพระราชทานพระราชดำริให้เจ้าหน้าที่อีกเป็นเวลานาน ท่ามกลางความมืดและความเครียดของฝ่ายถวายความปลอดภัย
อีกครู่ใหญ่จึงมีเสียงฝีเท้าเหยียบใบไม้กรอบแกรบอยู่รอบด้าน เริ่มมีเงาตะคุ่มของผู้คนปรากฏเป็นวงรอบด้านเข้ามา เมื่อชาวบ้านแห่งทุ่งเค็จซึ่งเป็นชาวมุสลิม ทราบว่าผู้มาเยือนยามวิกาลก็คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมาเฝ้ารับเสด็จฯ ในจำนวนนี้มีชายวัย ๗๐ ชื่อ วาเด็ง ปูเต๊ะ นุ่งโสร่งตัวเดียวไม่ใส่เสื้อรวมอยู่ด้วย ลุงวาเด็งดีใจมากเมื่อรู้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมาแก้ปัญหาน้ำให้ จึงเข้ามาเฝ้าทั้งชุดนั้น และเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดำรัสถามถึงภูมิประเทศ ลุงวาเด็งก็กราบทูลด้วยความคล่องแคล่วอย่างผู้ชำนาญพื้นที่
“ท่านพูดมลายูสำเนียงไทรบุรี คุยกันก็เข้าใจเลย พอเจอกันบ่อยๆ คุยกันมีความเห็นตรงกัน ท่านก็เลยรับเป๊าะเป็นพระสหาย เป๊าะบอกว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่บอกท่านไป ทั้งหมดเป็นความจริง พูดโกหกจะเป็นบาป” เป๊าะเด็งบอกกับนักข่าวภายหลัง
จากวันนั้นเป็นต้นมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯไปประทับพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จะรับสั่งให้เป๊าะเด็งเข้าเฝ้า และเมื่อมีผลผลิตดีในสวน เป๊าะเด็งก็จะนำไปถวายทั้งทุเรียน ลองกอง เงาะ แต่ถ้าปีใดที่ไม่เสด็จ เป๊าะเด็งก็จะส่งทางไปรษณีย์มาถึงพระตำหนักจิตรลดา บางโอกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็จะพระราชทานอินทผาลัมไปให้ลุงวาเด็ง และเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประทับที่โรงพยาบาลศิริราช ลุงวาเด็งในวัยเฉียด ๙๐ ก็มาลงนามถวายพระพรด้วย
ราษฎรทั่วทุกหัวระแหงบนแผ่นดินไทย ไม่ว่าเชื้อชาติศาสนาใด จึงสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงเป็นร่มเกล้า ให้ความผาสุกร่มเย็นแก่แผ่นดิน
แม้ในระยะหลังๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมิได้ทรงออกทรงงานในที่ต่างๆมากนัก แต่ก็ยังทรงติดตามปัญหาของราษฎรอยู่ตลอด แม้ขณะประทับอยู่ในโรงพยาบาลศิริราชเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๕๒ ก็ยังทรงมีพระราชดำริมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินการและนำความมากราบบังคมทูล ทรงติดตามงานเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรอยู่ตลอด เมื่อน้ำท่วมหนักในภาคใต้เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน พระองค์ก็ทรงห่วงใยพสกนิกรที่ได้รับความเดือดร้อน ทรงพระราชทานถุงยังชีพไปบรรเทาทุกข์ แม้เป็นระยะเวลาที่พระองค์ประทับอยู่ในโรงพยาบาลก็ตาม
ด้วยพระราชปณิธานที่ทรงมุ่งมั่นเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม จึงมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริระหว่างปี ๒๕๒๕-๒๕๕๐ ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เกิดขึ้นถึง ๔,๑๗๖ โครงการ กระจายอยู่ทั่วผืนแผ่นดินไทย ทั้งด้านพัฒนาการเกษตร การจัดการทรัพยากรน้ำ การจัดการทรัพยากรดิน การพัฒนาและฟื้นฟูป่าไม้ การคมนาคม สาธารณูปโภคและการสื่อสาร ทั้งยังทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ให้โลก ทรงได้รับการถวายสิทธิบัตรและรางวัลจากสิ่งประดิษฐ์หลายรางวัล ทรงได้รับรางวัลความสำเร็จพัฒนามนุษย์จากองค์การสหประชาชาติ และเมื่อประเทศชาติมีปัญหาวิกฤติจนเกิดสงครามกลางเมือง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกเหมือนกันที่ทรงแก้ไขให้คืนสู่ความสงบได้ราวปาฏิหาริย์ อีกทั้งพระราชดำรัสของพระองค์ก็มีคุณค่าอย่างมหาศาล เป็นแนวทางของประเทศและของชีวิตส่วนบุคคลได้เป็นอย่างดี
ตลอดเวลา ๗๐ ปีที่ครองราชย์ ทรงงานหนักในการสร้าง “ประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” อย่างมากมายมหาศาล มากกว่าที่จะมีคนหนึ่งคนใดในแผ่นดินนี้ทำได้ ฉะนั้นด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ปวงชนชาวไทยจึงมีความรู้สึกต้องตรงกันว่า พระองค์คือ “พ่อของแผ่นดิน”
ในวันที่แผ่นดินไทยนองน้ำตายิ่งกว่าน้ำท่วมเพราะพายุนี้ สิ่งที่เราควรจะทำกันก็คือคำเชิญชวนของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ว่า ให้เราทุกคนร่วมกันตั้งจิตภาวนาตามศาสนาที่ทุกท่านนับถือ ดังที่เราเคยร่วมกันภาวนาถวายพระพร และอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกท่านเคารพนับถือให้อภิบาลคุ้มครองตลอดเวลาที่ทรงพระอาการประชวร เพื่ออธิษฐานภาวนาขอให้ดวงพระวิญญาณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ สถิตในสรวงสวรรค์ และทรงอภิบาลคุ้มครองราชอาณาจักรไทย ประชาชนชาวไทยผู้เป็นพสกนิกรของพระองค์ ให้มีความสงบสุขและความสันติสุข ดุจดังที่ประเทศไทยและประชาชนชาวไทยมีมาโดยตลอดภายใต้ร่มพระบารมียาวนาน ๗๐ ปี
ถึงแม้เราจะอยู่ในยามทุกข์โศกน้ำตานองหน้าทั่วกันเพียงใด ประเทศไทยอันเป็นที่รักของพวกเราและของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ต้องดำรงต่อไป อย่าให้การเสด็จสวรรคตครั้งนี้ ทำให้พระราชปณิธานที่จะเห็นราชอาณาจักรของพระองค์มีความเจริญรุ่งเรือง พสกนิกรมีความผาสุกสวัสดี มีเมตตาและไมตรีต่อกันต้องหยุดชะงักลง การจะแสดงความจงรักภักดีและความอาลัยที่ดีที่สุด คือ เจริญรอยตามพระยุคลบาท สืบสานพระราชปณิธานที่จะรักษาเอกราช อธิปไตย ความสมบูรณ์พูนสุข และความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง ตลอดจนการปฏิบัติตามพระบรมราโชวาทพระราชดำรัสที่เคยพระราชทานไว้
จงร่วมกันส่งเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ด้วยการรักษาแผ่นดินของพ่อด้วยความรัก และ ความสามัคคีตลอดไป