“พระมหากษัตริย์นักพัฒนา เพื่อประโยชน์สุขสู่ปวงประชา”
เป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าที่คนไทยทุกคนควรได้อ่าน ซี่งจะได้เห็นถึงหลักการทรงงานและแนวพระราชดำริในการพัฒนาประเทศ ได้เห็นความเสียสละของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “พ่อหลวง” ของปวงชนชาวไทย ที่ทรงงานอย่างหนักและตรากตรำพระวรกายตลอดมา นับตั้งแต่ทรงครองราชย์ปี 2489 ที่ผ่านมา เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ความยากจน ให้แก่ประชาชนของพระองค์ โดยไม่เลือกเชื้อชาติและศาสนา ไม่ว่าหนทางจะไกลสักเพียงใดพระองค์ท่านก็จะเสด็จไปเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขดังในปฐมพระบรมราชโองการในระหว่างพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ว่า
“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
พระองค์ท่านทรงวางรากฐานการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนไว้ให้ปวงชนชาวไทย โดยทรงเข้าไปช่วยเหลือราษฎรทั้งด้านสาธารณสุข การศึกษา สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งดิน น้ำ ป่าไม้ พลังงาน ด้านคมนาคม โครงการแก้ปัญหาน้ำท่วม “แก้มลิง” ที่ทรงคิดค้นแนวทางแก้ปัญหาได้อย่างแยบผล และแนวพระราชดำริ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ปูทางสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งเป็นที่ชื่นชมของนานาประเทศ และทำให้เข้าใจพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
นอกจากการพัฒนาประเทศตามโครงการพระราชดำริต่าง ๆ แล้ว ยังได้เห็นถึงความห่วงใยที่พระองค์ท่านมีต่อปัญหาบ้านเมือง ทั้งในเรื่องการคอร์รัปชัน และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งกระบวนการพัฒนาต้องครอบคลุมทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ต้องพัฒนาคน และต้องอาศัยศรัทธาเป็นสำคัญ การพัฒนาจึงจะประสบความสำเร็จ
พระองค์ท่านเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเล่าถึงการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหนังสือ “พระมหากษัตริย์นักพัฒนา เพื่อประโยชน์สุขสู่ปวงประชา” ความตอนหนึ่งว่า ทรงนำความรู้และวิชาการต่างๆ มาใช้ร่วมกัน หรือที่สมัยนี้เรียกว่า “บูรณาการ” ไม่ทิ้งแง่ใดแง่หนึ่ง อย่างเช่น เรื่องอย่างนี้ในแนววิศวกรรมศาสตร์ทำได้ แต่อาจจะไม่เหมาะสมในเชิงเศรษฐศาสตร์ หรือ เหมาะสมดีในเชิงเศรษฐศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ แต่ไม่เหมาะสมกับความสุขหรือความเจริญก้าวหน้าของประชาชน ก็ไม่ได้
เมื่อพระองค์เสด็จฯ ไปพบประชาชน ที่ทุกข์ยาก ทรงช่วยได้ก็จะช่วยทันที พระองค์ไม่ได้ตั้งทฤษฎีไว้ก่อน แล้วทรงทำตามทฤษฎี อย่างทฤษฎีใหม่ หรือทฤษฎีอื่นๆ พระองค์ทรงเห็น อะไรที่กระทบหรือเห็นว่ามีปัญหา ก็ทรงหาทางแก้ไข และเมื่อทำไปมากๆ ก็ออกมาเป็นทฤษฎี
“ฉันเห็นว่า พระองค์ไม่ได้ตั้งทฤษฎีโดยที่คิดตามปรัชญาและทฤษฎีมาก่อน แล้วหาตัวอย่างเข้าไปปฏิบัติตาม แต่มีความรู้สึกว่าพระองค์ทรงมีตัวอย่างมากมายจากการเสด็จฯ ไปยังที่ต่างๆ เพื่อทอดพระเนตรสภาพปัญหาที่แท้จริง ทรงพัฒนาเพื่อมุ่งสู่ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” เป้าหมายในการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ “การพัฒนาที่ยั่งยืน
“อ่างเก็บน้ำใต้ดิน” ป้องกันน้ำท่วมและน้ำระเหย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเล็งเห็นว่า น้ำเป็นส่วนสำคัญที่สุดของชีวิต และเป็นปัจจัยในการผลิตที่สำคัญ ถ้าแก้ปัญหาเรื่องน้ำได้ ก็จะสามารถแก้ปัญหาอื่นๆ ต่อไปได้ ภาพที่คุ้นตาชาวไทยคือภาพที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปที่ต่างๆ มีแผนที่ที่ทรงต่อเองเพื่อวางแผนสร้างเขื่อน ฝาย ฯลฯ การวางแผนต้องอาศัยข้อมูลหลายอย่าง เช่น ที่ตั้งของโครงการ ความสูงของพื้นที่ ทิศทางน้ำไหล ปริมาณน้ำ ลักษณะทางธรณีวิทยา ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้สามารถบันทึกไว้ในแผนที่ได้ การสำรวจพื้นที่การออกแบบ และก่อสร้าง ต้องใช้ความรู้ทางเทคโนโลยีหลายอย่าง
ในด้านการป้องกันน้ำท่วม มีพระราชดำริทำ “แก้มลิง” เพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง
แม้ประทับ ณ โรงพยาบาล... ยังทรงห่วงใยประชาชน
พระองค์ทรงงานจนรู้สึกเป็นชีวิตประจำวัน พระองค์ก็ทรงเหนื่อยเหมือนกัน แต่ทรงไม่บ่น ทรงงาน 365 วัน ตลอด 24 ชั่วโมง โดยจะมีเสียงวิทยุดังมาตลอด และยังมีอุปกรณ์สำหรับติดตามข่าวสารพัดอย่าง พระองค์ก็ทรงพยายามสอน ถ่ายทอดให้ฉัน เช่น ไฟฟ้ากี่แอมแปร์ กี่วัตต์ กี่โวลต์ พระองค์ทรงฟังคลื่นวิทยุหลายเครือข่าย ถึงทรงรู้ว่า มีน้ำท่วม ไฟไหม้ตรงไหน มีอะไรพระองค์ก็ทรงให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที ตรงนี้คงไม่เรียกว่าพัฒนา เป็น “บรรเทาสาธารณภัย” มากกว่า
แม้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ก็ยังทรงงานเพื่อจะช่วยเหลือพสกนิกรอยู่ตลอดเวลา ทรงมีพระราชดำริแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณใกล้เคียงโรงพยาบาลศิริราชที่หนาแน่นมาก ทั้งทางบกและทางน้ำ เนื่องจากพระองค์ทรงทำเรื่องการจราจรอย่างต่อเนื่องมาตลอด พระองค์จะทรงมอบหมายให้ตำรวจไปดูตามจุดต่างๆ คำนวณการเลี้ยวของรถ และสำรวจจุดจราจรที่สำคัญๆ เช่น ตามอนุสาวรีย์ สี่แยก หรือวงเวียนต่างๆ ว่าควรจะออกแบบถนนให้มีรูปร่างแบบไหน ขนาดเท่าไหร่ ตรงไหนควรมีสะพาน หรือควรมีอะไร เพื่อให้การจราจรเคลื่อนตัวได้อย่างลื่นไหล
ความซื่อสัตย์ สุจริต จริงใจต่อกัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสในเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต จริงใจต่อกัน อย่างต่อเนื่องตลอดมา เพราะเห็นว่าหากคนไทยทุกคนร่วมมือกันช่วยชาติ พัฒนาชาติด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต จริงใจต่อกันแล้ว ประเทศไทยจะเจริญก้าวหน้าอย่างมาก ดังพระราชดำรัสดังนี้
“...ผู้ที่มีความสุจริตและบริสุทธิ์ใจ แม้จะมีความรู้น้อยก็ย่อมทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมได้มากกว่าผู้มีความรู้มากแต่ไม่มีความสุจริต ไม่มีความบริสุทธิ์ใจ...” พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2533
“...ผู้ว่า CEO ต้องเป็นคนที่สุจริต ทุจริตไม่ได้ ถ้าทุจริตแม้แต่นิดเดียวก็ขอแช่งให้มีอันเป็นไป...”
“...ข้าราชการหรือประชาชนมีการทุจริต ถ้ามีทุจริตแล้ว บ้านเมืองพัง ที่เมืองไทยพังมา เพราะมีทุจริต...” พระราชดำรัส เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2546
ทรงอยากเห็นการพัฒนาที่ยั่งยืน และประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเคยมีรับสั่งกับ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิชัยพัฒนา ความตอนหนึ่งว่า “...ทำไมพระเจ้าอยู่หัวต้องเหน็ดเหนื่อยอยู่อย่างนี้ ที่ต้องเหน็ดเหนื่อย ก็เพราะ ประชาชนยังยากจนอยู่ และเมื่อเขายากจน เขาจึงไม่มีอิสรภาพ เสรีภาพ และเมื่อเขาไม่มีอิสรภาพ เสรีภาพ เขาจึงเป็นประชาธิปไตยไม่ได้...”
ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ผลลัพธ์สุดท้ายที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอยากเห็นก็คือ การพัฒนาที่ยั่งยืนและประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ซึ่งการปูพื้นฐานของประชาธิปไตย มิใช่เรื่องของกฎหมาย ระเบียบ กติกาเพียงอย่างเดียว หากพื้นฐานจริงๆ คือต้องพัฒนาประชาชนให้หลุดพ้นจากความยากจน และสามารถยืนได้ด้วยตัวเองก่อน จึงจะเป็นประชาธิปไตยได้ นับเป็นการสร้างรากฐานสำคัญให้เกิดความเข้มแข็งในระบบการเมืองไทยอย่างมั่นคงและยั่งยืน ในทัศนะของพระองค์ กระบวนการพัฒนาต้องครอบคลุมทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ต้องพัฒนาคนด้วย และต้องอาศัยศรัทธาเป็นสำคัญ การพัฒนาจึงจะประสบความสำเร็จ
พระองค์ทรงมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาคน ทรงตรัสว่า “ต้องระเบิดจากข้างใน” นั่นคือต้องสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชนที่เราเข้าไปพัฒนามีความพร้อมที่จะรับการพัฒนาเสียก่อน มิใช่การนำความเจริญหรือบุคคลจากสังคมภายนอกเข้าไปหาชุมชนหมู่บ้านที่ยังไม่ทันมีโอกาสเตรียมตัว นอกจากนี้ทรงมุ่งเน้นหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” คือ ก่อนจะทำอะไรต้องมีความเข้าใจเสียก่อน เข้าใจภูมิประเทศ เข้าใจผู้คนในหลากหลายปัญหา ทั้งนี้ จะต้องทำให้ผู้ที่เราไปทำงานกับเขาหรือทำงานให้เขานั้น “เข้าใจ” เราด้วย เพราะถ้าเราเข้าใจเขาแต่ฝ่ายเดียว โดยที่เขาไม่เข้าใจเรา ประโยชน์คงจะไม่เกิดขึ้นตามที่เรามุ่งหวังไว้ เมื่อรู้ปัญหาแล้ว เข้าใจแล้ว ก็ต้องเข้าถึง เพื่อให้นำไปสู่การปฏิบัติให้ได้ และเมื่อเข้าถึงแล้วจะต้องทำอย่างไรก็ตามให้เขาอยากเข้าถึงเราด้วย ดังนั้น จะเห็นว่า เป็นการสื่อสารสองทาง ทั้งไปและกลับ ถ้าสามารถทำสองประการแรกได้สำเร็จ เรื่อง “การพัฒนา” จะประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี
จะเห็นได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นต่อแผ่นดินไทยและประชาชนชาวไทย แนวพระราชดำริด้านการพัฒนาที่พระราชทานได้ส่งผลดีอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ทำให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีฐานะความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตดีขึ้น พระอัจฉริยภาพแห่งความเป็นผู้นำในการพัฒนาประเทศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิใช่เพียงก่อให้เกิดความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นเหลือต่อปวงชนชาวไทย
หากแต่พระเกียรติคุณเหล่านี้ได้แผ่ไพศาลไปสู่นานาประเทศทั่วโลก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนำพาประเทศไทยและประชาชนชาวไทยให้สามารถยืนหยัดอยู่ได้อย่างมีความสุข และดำรงไว้ซึ่งเกียรติภูมิของความเป็นประเทศไทยและคนไทยตราบจนทุกวันนี้
ดาวน์โหลด พระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นต่อแผ่นดินไทย ในหนังสือ “พระมหากษัตริย์นักพัฒนา เพื่อประโยชน์สุขสู่ปวงประชา” ได้ที่ http://www.sc.mahidol.ac.th/ebooks/images/pdf/king.pdf