xs
xsm
sm
md
lg

ดับฝันค่าจ้างขั้นต่ำ 360 บาททั่วประเทศ “บอร์ดไตรภาคี” หวั่นกระทบผู้ประกอบการ เคาะสูตรปรับ 5-8-10 ให้ 69 จังหวัด สูงสุด 310 บาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ดับฝันค่าจ้างขั้นต่ำ 360 บาททั่วประเทศ “บอร์ดไตรภาคี” เคาะสูตรใหม่ ปรับ 5-8-10 ให้ 69 จังหวัด หวั่นกระทบผู้ประกอบการ เผย 49 จังหวัดขึ้นเป็น 305 บาท “กทม.-ปริมณฑล-นครปฐม-สมุทรสาคร-ภูเก็ต ขึ้น 310 บาท เป็นของขวัญปีใหม่แรงงาน มีผล 1 ม.ค. 60 ส่วนแรงงาน 8 จังหวัด สิงห์บุรี-ชุมพร-นครศรีธรรมราช-ตรัง-ระนอง-นราธิวาส-ปัตตานี-ยะลา ได้ 300 บาทเท่าเดิม งง! อนุ กทม.ไม่ขอปรับค่าจ้าง แต่บอร์ดให้ขึ้น 10 บาทเฉย!

วันนี้ (19 ต.ค.) มีรายงานจากกระทรวงแรงาน ว่า ผลการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง-บอร์ดไตรภาคี) ชุดที่ 19 ครั้งที่ 8/2559 ที่มี ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน รวมถึงนายอรรถยุทธ ลียะวณิช กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง นายสมบัติ น้อยหว้า กรรมการค่าจ้างฝ่ายลูกจ้าง

โดยที่ประชุมได้พิจารณาการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2560 ภายหลังให้คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาแนวทางการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไปพิจารณาศึกษาสูตรคำนวณใหม่ เพื่อเพิ่มปัจจัยชี้วัดทางเศรษฐกิจให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยใช้ข้อมูลในการพิจารณารวมกว่า 10 รายการได้แก่ ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งศึกษาเทียบเคียงกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย

มีรายงานว่า สำหรับสรุปอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี 2560 มีดังนี้ ปรับอัตราเงินเดือนใหม่ให้กับ 69 จังหวัด แต่ไม่ปรับขึ้นใน 8 จังหวัด รวม 77 จังหวัด ดังนี้ 1. จังหวัดที่ไม่ขึ้นค่าจ้าง 8 จังหวัด ประกอบด้วย สิงห์บุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง ระนอง นราธิวาส ปัตตานี และยะลา 2. จังหวัดที่ปรับค่าจ้างขึ้น 5 บาท 49 จังหวัด หรือ 305 บาทต่อวัน ประกอบด้วย แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี พัทลุง สตูล กำแพงเพชร พิจิตร แพร่ เพชรบูรณ์ อุทัยธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ อำนาจเจริญ ชัยนาท ลพบุรี นครนายก สระแก้ว ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม จันทบุรี ตราด ลำพูน พะเยา สุโขทัย อุตรดิตถ์ บึงกาฬ นครพนม อุบลราชธานี อ่างทอง เลย หนองบัวลำภู มุกดาหาร ยโสธร เชียงราย พิษณุโลก อุดรธานี ชัยภูมิ ศรีสะเกษ นครสวรรค์ และหนองคาย

3. จังหวัดที่ปรับค่าจ้างขึ้น 8 บาท 13 จังหวัด หรือ 308 บาทต่อวัน ประกอบด้วย ขอนแก่น นครราชสีมา ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่ สระบุรี ฉะเชิงเทรา กระบี่ พังงา และพระนครศรีอยุธยา 4. จังหวัดที่ปรับค่าจ้างขึ้น 10 บาท 7 จังหวัด หรือ 310 บาทต่อวัน ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และภูเก็ต

ม.ล.ปุณฑริกกล่าวว่า มติให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2560 ได้ยึดตามปัจจัยที่ได้กำหนดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2551 ที่นำปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาคำนวณ ตามสูตรการคำนวนใหม่ที่ได้สั่งการให้คณะอนุกรรมทำงานจัดทำขึ้น ส่งผลให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำใน 69 จังหวัด และไม่ปรับขึ้น 8 จังหวัด จากเดิมที่ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 300 บาทต่อวัน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ผลการอนุมัติในครั้งนี้จะมีการนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเพื่อรายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบต่อไปในเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ เมื่อมีการประกาศบังคับใช้อัตราค่าจ้าง ผู้ประกอบการที่ต้องเตรียมพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลง โดยเฉลี่ยใช้เวลา 60 วัน

มีรายงานว่า สำหรับข้อเรียกร้องที่กลุ่มแรงงานต่างๆ ขอไปยังรัฐบาล หัวละ 360 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันโดยรวมของประเทศตามความเป็นจริง โดยคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองที่ส่งมาจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ ที่มีทั้งปรับและไม่ปรับอัตราค่าจ้าง โดยส่วนที่ปรับจะมาดูว่าคำนวณถูกหรือไม่ตามหลักเกณฑ์ที่มีอยู่ โดยอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ ได้ศึกษาสูตรคำนวณใหม่อย่างละเอียด โดยเน้นเรื่องผลิตภาพแรงงาน

“มีการดูตามสภาพความเป็นจริง และกำลังจ่ายของนายจ้าง ด้วยเกรงว่าสถานประกอบการอยู่ไม่ได้ จึงไม่ควรให้ยึดติดว่าจะต้องอยู่ในรูปแบบใด”

มีรายงานจากคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองที่ส่งมาจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ พบว่า มีจังหวัดที่ขอขึ้นค่าจ้าง 11 จังหวัด ได้แก่ จ.เพชรบูรณ์ สกลนคร พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี กระบี่ ภูเก็ต นราธิวาส อ่างทอง และสระบุรี ซึ่งเสนอขอปรับใน 2 อัตรา คือ ฝ่ายนายจ้างเสนอเพิ่ม 15 บาท ฝ่ายลูกจ้างเสนอเพิ่ม 60 บาท แต่มีอีก 2 จังหวัด คือ จ.ปทุมธานี ขอเพิ่ม 20 บาท และสมุทรสาคร 60 บาท ขณะที่ภาพรวมการขอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยอยู่ที่ 4-60 บาท ทั้งนี้ มี 13 จังหวัดที่ขอปรับขึ้นค่าจ้าง ส่วนอีก 64 จังหวัดไม่เสนอขอปรับขึ้นค่าจ้าง ซึ่งรวมถึง กทม.ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น