เมืองไทย 360 องศา
“ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การอนุญาตปล่อยชั่วคราวเป็นหลักประกันอิสรภาพตามสิทธิมนุษยชน เพื่อไม่ให้ผู้ต้องหา หรือจำเลยถูกคุมขังนานเกินจำเป็น โดยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยยังไม่เป็นผู้กระทำผิดจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ซึ่งจะปฏิบัติเสมือนผู้ที่กระทำความผิดไม่ได้ กรณีที่ศาลมีคำสั่งปล่อยชั่วคราวโดยกำหนดเงื่อนไขเพื่อป้องกันการหลบหนี การเกิดภัยอันตราย หรือความเสียหาย และละเว้นกิจกรรมที่อาจกระทำผิดขึ้นอีกได้ ซึ่งศาลจะใช้ดุลพินิจพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขขึ้นมาเพื่อให้จำเลยต้องปฏิบัติเกินความจำเป็นแก่กรณี ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 และการปล่อยชั่วคราวจะพิจารณาเป็นรายๆ ไป”
“สำหรับคดีนี้ ศาลสั่งปล่อยชั่วคราวจำเลยโดยกำหนดเงื่อนไขไว้ เพื่อควบคุมหรือป้องกันไม่ให้มีการกระทำอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน และสถานการณ์ขณะนั้นมีวิกฤตการขัดแย้งทางการเมืองสูง ซึ่งจำเลยเป็นแกนนำในการปราศรัยโจมตีรัฐบาลและนัดชุมนุม จนเป็นเหตุให้ถูกจับกุมและดำเนินคดี แต่เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 57 คสช.เข้ายึดอำนาจ สถานการณ์ภายในจึงสงบเรียบร้อยลง และมีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จตามกำหนด โดยกำหนดให้มีการลงประชามติวันที่ 7 สิงหาคม 59 ซึ่งจำเลยที่ 1-4 และ 8 ได้มีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ กรณีย่อมทำได้ แต่ต้องอยู่ในขอบเขตและไม่ฝ่าฝืนคำสั่งของศาล อีกทั้งกรณีวิจารณ์การทำงาน คอร์รัปชัน ก็ย่อมมีสิทธิกระทำได้ แต่ต้องไม่กระทบสิทธิเกียรติยศบุคคลอื่น”
“เมื่อพิจารณาแผ่นวีซีดีของอัยการโจทก์แล้ว เห็นว่า บทสนทนาบางตอนจำเลยที่ 2 กล่าวพาดพิงบุคคลอื่นด้วยถ้อยคำค่อนข้างรุนแรง หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชนที่ได้รับทราบข้อความดังกล่าวซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลที่ถูกพาดพิงและกระทบสิทธิเกียรติยศ แม้ผู้เสียหายจะใช้สิทธิตามกฎหมายได้ แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำ ศาลได้กำหนดเงื่อนไขไว้ก่อนแล้วเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่น การที่จำเลยที่ 2 ได้กล่าวโดยระบุชื่อและกล่าวในลักษณะส่อในทางดูหมิ่นกระทบสิทธิต่อชื่อเสียง เกียรติยศ ถือเป็นการกระทำผิดเงื่อนไข ส่วนจำเลยที่ 1, 3, 4 และ 8 ศาลเห็นว่าเป็นการติชมโดยสุจริต เป็นธรรม ตามวิสัยของประชาชนทั่วไป ยังไม่ถึงกับดูหมิ่นหรือกระทบสิทธิเกียรติยศหรือชื่อเสียง และความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น อันเป็นการยั่วยุหรือกระทำผิดเงื่อนไขประกันอื่นตามที่ศาลได้กำหนดไว้”
“ศาลจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราว นายจตุพร จำเลยที่ 2 และยกคำร้องของโจทก์ ที่ขอให้เพิกถอนประกันในส่วนของจำเลยที่ 1, 3, 4 และ 8 ส่วนที่จำเลย 1-4 และ 8 ขอให้ยกเลิกเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวในคำร้องคัดค้านที่จำเลยยื่นมาด้วยนั้น ศาลเห็นว่า การกำหนดเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวก็เพื่อป้องกันภัยอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราว ซึ่งศาลจะใช้ดุลพินิจพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขขึ้นมาเพื่อให้จำเลยที่ 1-4 และ 8 ต้องปฏิบัติเกินความจำเป็นแก่กรณี จึงยังไม่มีเหตุที่จะยกเลิกเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวดังกล่าว”
นั่นเป็นคำสั่งของศาลที่ให้เหตุผลและคำอธิบายว่าทำไมถึงต้องเพิกถอนประกันตัวชั่วคราว จตุพร พรหมพันธุ์ จำเลยคดีก่อการร้ายเมื่อปี 2553 จนต้องส่งตัวเข้าเรือนจำระหว่างรอการพิจารณาคดี ซึ่งเวลานี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการไต่สวนพยานโจทก์ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเขายังเป็นจำเลย ยังไม่ไปถึงขั้นที่ศาลจะพิพากษาว่ามีความผิด เพียงแต่ว่าที่ผ่านมามีการยื่นขอประกันตัวออกมาชั่วคราวเพื่อต่อสู้คดีซึ่งในคำสั่งศาลข้างต้นก็อธิบายให้ทราบไว้แล้ว เพียงแต่ว่าระหว่างที่ออกไปอยู่ข้างนอกนั้น จำเลยได้ทำผิดเงื่อนไขตามที่เคยตกลงกันไว้ โดยมีพยานหลักฐานหลายอย่างตามที่ฝ่ายโจทก์คือฝ่ายอัยการนำมาแสดงให้เห็น และศาลก็ได้พิจารณาแล้วเห็นจริงตามนั้น นั่นคือพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 คือ จตุพร พรหมพันธุ์ พูดจาด้วยถ้อยคำรุนแรง อาจกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน อาจสร้างความเสียหายต่อบุคคลที่ถูกพาดพิงถึงฯ
ดังนั้น การที่ จตุพร พรหมพันธุ์ ต้องเดินเข้าเรือนจำถูกคุมขังในครั้งนี้จะว่าไปแล้วล้วนมีต้นเหตุมาจากตัวเองทั้งสิ้น หรือมาจาก “ปาก” ของตัวเองนั่นแหละ พูดมากจนเลยเถิด และแม้ว่าคราวนี้ฝ่ายที่ยื่นคำร้องถอนประกันจะเป็นฝ่ายโจทก์ คือ อัยการ แต่การพิจารณาชี้ขาดก็คือศาลเท่านั้น ซึ่งก็พิจารณาจากพยานหลักฐานที่แต่ละฝ่ายนำมาแสดง แต่กลายเป็นว่าศาลพิจารณาหลักฐานทั้งสองฝ่ายปรากฏว่าหลักฐานที่ฝ่ายโจทก์นำมาแสดงนั้นมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ และศาลก็เชื่อจากหลักฐานนั้น จึงสั่งเพิกถอนประกัน ขณะที่อีก 4 จำเลย หลักฐานยังไม่หนักแน่นพอ หรือยังไม่มีน้ำหนักมากพอ ศาลก็ยกคำร้อง
นั่นก็เป็นการยืนยันให้เห็นแล้วว่าทุกอย่างมันมีที่มาที่ไป และหากยังไม่เหลือบ่ากว่าแรง หรือไม่เต็มทีจริงๆ มันก็คงไม่เป็นไรนัก เหมือนกับจำเลย 4 คนดังกล่าว คือ วีระกานต์ มุสิกพงศ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เหวง โตจิราการ และ นิสิต สินธุไพร เป็นต้น แต่ก็อย่างว่าบางทีอาจด้วยบทบาทเป็นแกนนำ นปช.ก็ต้องพูดอะไรสักอย่าง เหมือนกับที่ ณัฐวุฒิ กล่าวภายหลังศาลมีคำสั่งว่า “ก็หวังว่าเขา (จตุพร) อยู่ในนั้น (คุก) จะไม่ถูกทำร้าย” ก็ปากอย่างนี้ไง พูดราวกับว่าอาจตายได้ แม้ว่ามันก็เคยมีเรื่องแบบนี้ให้เห็นมาบ้าง แต่เข้าใจเจตนาว่าคงต้องการสร้างอารมณ์ร่ามให้มวลชนได้รู้สึกเท่านั้นเอง โดยที่คนพูดไม่ต้องรับผิดชอบ เหมือนกับก่อนหน้านี้เคยปลุกระดมว่า “เผาเลยพี่น้อง ผมรับผิดชอบเอง” แล้วไงล่ะ คนที่เผาหลายคนต้องติดคุก บ้านแตกสาแหรกขาด
คราวนี้ก็เช่นเดียวกัน การที่ จตุพร พรหมพันธุ์ ต้องเข้าไปนอนคุกก็เป็นเพราะปากของตัวเองเท่านั้น คนอื่นไม่เกี่ยว เพราะไปก้าวล่วงล้ำเส้นเลยเงื่อนไขที่กำหนดเอาไว้ อาจเป็นเพราะคะนองปาก หรือเป็นเพราะจำเป็นต้องพูด ต้องวิจารณ์ตลอดเวลาตามบทบาทผู้นำมวลชน ซึ่งเมื่อเป็นแบบนี้ก็ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ตัวเองทำอย่างเลี่ยงไม่ได้ และที่สำคัญนี่คือ คำสั่งของศาลที่พิจารณาจากหลักฐานเป็นจริง ขณะเดียวกัน ถามว่าอยู่ข้างในนั้นปลอดภัยหรือไม่ ก็ตอบยาก เพราะนั่นเป็นสถานที่พิเศษ แต่รับรองว่าน่าจะได้รับการคุ้มครองอย่างดี เพราะตามกฎหมายนี่คือการควบคุม คุมขังเท่านั้นไม่ใช่เอาไปฆ่า ซึ่งนาทีนี้น่าจะปลอดภัยหายห่วงมากกว่าเที่ยวแกว่งปากอยู่ข้างนอกหลายเท่านัก!