xs
xsm
sm
md
lg

กกต.จับมือ 4 หน่วยงานพัฒนาระบบลงคะแนนเลือกตั้งนอกไทย นำร่อง 3 ประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กกต.ร่วมมือ 4 หน่วยงานพัฒนาระบบลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร นำร่องใช้กับคนไทยใน 3 ประเทศ ญี่ปุ่น นอร์เวย์ จอร์แดน ในการเลือกตั้งครั้งหน้า เชื่อหากพัฒนาจน ปชช.เชื่อมั่น ประหยัดงบได้มาก

วันนี้ (12 ต.ค.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดทำระบบการลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (I-Vote) ระหว่าง 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงาน กกต. โดย พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา รองเลขาธิการ กกต.ในฐานะรักษาการแทนเลขาธิการ กกต. กระทรวงมหาดไทย โดยนายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมการปกครอง, กระทรวงการต่างประเทศ โดยนายวราวุธ ชูวิรัช อธิบดีกรมการกงสุล สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) โดยนายศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานฯ และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) โดยนางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงาน โดยความร่วมมือดังกล่าวจะนำร่องใช้ในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในครั้งหน้า ใน 3 ประเทศ คือ ประเทศนอร์เวย์, จอร์แดน และญี่ปุ่น โดยประเทศนอร์เวย์ และ จอร์แดน จะนำร่องใช้ระบบ I-Vote ทุกเมืองทั่วทั้งประเทศ ส่วนประเทศญี่ปุ่นจะทดลองใช้ระบบดังกล่าวเฉพาะเมืองโอซาก้า เท่านั้น เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการลงคะแนนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้นโดยผ่านระบบออนไลน์ และเป็นการพัฒนาเพื่อรองรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอนาคตซึ่งจะทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวและมีความสะดวกในการใช้สิทธิเลือกตั้ง

ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารกลาง กล่าวว่า การลงคะแนนเลือกตั้งทางอินเทอร์เน็ต กกต.พิจารณาบนหลัก 3 ประการ คือ 1. เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่คนไทยที่อาศัยในต่างประเทศให้มากที่สุด สร้างสะบบที่สร้างความเชื่อถือให้ประชาชนว่าลงคะแนนอย่างไรก็จะได้อย่างนั้น และ 3 เป็นการประหยัดงบประมาณ ที่จากเดิมจะใช้ประมาณ 60 ล้านต่อครั้ง หากอนาคตมีการพัฒนาจนเกิดความเชื่อมั่น จนสามารถใช้ระบบดังกล่าวเป็นหลักคาดว่าจะทำให้การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรใช้งบเพียง 5 ล้านบาทต่อครั้ง ส่วนที่กกตเลือก 3 ประเทศในการนำร่อง คือ ญี่ปุ่น นอร์เวย จอร์เดน ก็เนื่องจากในการลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่แล้ว 3 ประเทศดังกล่าวมีผู้ลงทะเบียนราว 1 พันคนต่อเมือง ซึ่งผลการลงคะแนนที่กลับมาและกระจายไปตามเขตเลือกตั้งทั้ง 375 เขต คิดเป็นเขตละประมาณ 8-10 คน เชื่อว่าหากเกิดปัญหาเรื่องการลงคะแนนทางอินเตอร์เนต คะแนนดังกล่าวก็จะไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งของแต่ละเขต

อย่างไรก็ตาม ในแง่วิธีการใช้สิทธินั้นยังไม่มีได้การสรุปชัดเจน แต่การออกแบบระบบดังกล่าวจะเสร็จสิ้นภายในเดือน มิ.ย.ปีหน้า โดย กกต.ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลวงเงิน 15 ล้านบาทในการดำเนินโครงการ แต่ทั้งนี้การลงคะแนนเลือกตั้งของคนไทยในต่างประเทศ กกต.ยังจะดำเนินการโดยวิธีเดิม คือการหาบัตรในคูหาที่สถานทูต การส่งบัตรทางไปรษณีย์ หรือการกาบัตรที่หน่วยเคลื่อนที่ต่อไป ส่วนการลงคะแนนผ่านผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ในช่วง 5 ปีนับจากนี้ กกต.ยังถือว่าเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนที่ยังต้องมีการพัฒนาต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น