xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ชงกม.เลือกตั้งส.ส. กำหนดโทษโกง4ระดับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กกต.ถกร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.อังคารนี้ กำหนดโทษทุจริต 4 ระดับ ใบเหลือง- ใบส้ม- ใบแดง-ใบดำ ทั้งตัดสิทธิสมัครชั่วคราว 1 ปี ร้ายแรงสุดเพิกถอนสิทธิสมัครตลอดชีพ ด้านศาล รธน.เตรียมวินิจฉัยร่าง รธน.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมกกต.วันที่ 13 ก.ย.นี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จะได้มีการพิจารณา ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. เป็นฉบับที่ 2 ในจำนวนร่างกฎหมาย 4 ฉบับ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง จากที่ก่อนหน้านี้ กกต.ได้ส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ไปให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พิจารณาแล้ว

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ที่คณะทำงานของสำนักงานกกต.ยกร่างขึ้น แบ่งออกเป็น 5 หมวด ประกอบด้วย การเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง, การเลือกตั้งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ, การประกาศผลการเลือกตั้ง, การสืบสวนไต่สวนและวินิจฉัย และบทกำหนดโทษ สาระสำคัญหลัก นอกจากนำหลักการใหม่ตามร่างรัฐธรรมนูญมาบัญญัติไว้ ทั้งการประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง ให้เป็นอำนาจของกกต. การคำนวณจำนวนส.ส. การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว การประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ที่น่าสนใจคือ ในส่วนการดำเนินการเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต เที่ยงธรรม มีการกำหนดระดับความผิดฐานกระทำทุจริตไว้เป็น “ใบเหลือง-ใบส้ม-ใบแดง -ใบดำ"

โดย ใบเหลือง คือก่อนหรือในวันเลือกตั้ง เมื่อ กกต. สืบสวน ไต่สวนแล้ว หรือพบเห็นการกระทำที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริต เที่ยงธรรม หรือ กกต.แต่ละคนพบเห็นการะทำผิดให้มีอำนาจสั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไข เปลี่ยนแปลง ยกเลิกการเลือกตั้ง และสั่งให้ดำเนินการเลือกตั้งใหม่ หรือ นับคะแนนเลือกใหม่ ในหน่วยเลือกตั้งบางหน่วยหรือทุกหน่วยเลือกตั้ง รวมถึงในกรณีหลังประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อว่า การเลือกตั้งนั้นไม่สุจริต สามารถยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาขอให้สั่งเลือกตั้งใหม่ได้ หรือกรณี กกต.ยื่นขอให้ศาลพิจารณาสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้ง จากกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งกระทำทุจริต หรือรู้เห็นการกระทำของบุคคลอื่น แต่ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้สมัครไม่ได้กระทำทุจริต หรือรู้เห็นการกระทำทุจริตของบุคคลอื่น ศาลอาจสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ ซึ่งก็ให้สมาชิกสภาพของ ส.ส.ในเขตเลือกตั้งนั้น สิ้นสุดลง

ส่วน ใบส้ม คือ หลังวันเลือกตั้ง ตั้งแต่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้า กกต.พบว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้รับคะแนนอยู่ในลำดับที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ไม่มีสิทธิสมัคร ให้กกต.สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ และสั่งระงับสิทธิการรับสมัครของผู้นั้น หรือมีหลักฐานอันควรเชื่อว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งกระทำ หรือรู้เห็นการกระทำบุคคลอื่น จนเป็นเหตุให้การเลือกตั้งนั้นไม่สุจริต มีการนับคะแนนไม่ถูกต้อง ให้ กกต.ระงับสิทธิสมัคร รับเลือกตั้งของผู้นั้นไว้ชั่วคราวเป็นเวลา 1 ปี โดยให้คำสั่งกกต.ถือเป็นที่สุด

ขณะที่ ใบแดง เป็นกรณีหลังการประกาศผลการเลือกตั้ง หาก กกต.พบว่า ผู้ที่เป็นส.ส.นั้น เป็นผู้ที่ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาพิจารณาสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลนั้น นอกจากกรณี กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดกระทำการทุจริตเลือกตั้ง หรือรู้เห็นการกระทำของบุคคลอื่น ที่ทำให้การเลือกตั้งนั้นไม่สุจริต ก็ให้ยื่นต่อศาลฎีกา สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี และสั่งเลือกตั้งใหม่ กรณีผู้นั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง พร้อมให้รับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้ง ทั้งค่าสินไหมทดแทน เพื่อการลงโทษจำนวน 2% ของค่าใช้จ่ายจัดการเลือกตั้งครั้งที่เป็นเหตุให้ศาลมีคำสั่ง ให้คืนเงินประจำตำแหน่ง ประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว

ทั้งนี้ ให้การพิจารณาของศาลฎีกาใช้สำนวนการสืบสวนหรือไต่สวนของ กกต.เป็นหลัก และเมื่อศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว หากผู้ถูกกล่าวหาเป็นส.ส.ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จนกว่าศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาว่าไม่ได้กระทำผิด แต่ถ้าศาลฎีกาพิพากษาว่า กระทำผิดให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่

สำหรับใบดำ นั้น เป็นกรณีที่บทบัญญัติในร่างกฎหมายดังกล่าวเขียนล้อมาจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่กำหนดให้มีโทษการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่ได้มีกำหนดระยะเวลารับโทษ ว่าจะนานกี่ปี เพิ่มเติมเข้ามานอกเหนือจากโทษของการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ที่จะมีการกำหนดไว้ชัดเจนว่า 5 หรือ 10 ปี จึงเท่ากับว่า หากผู้สมัคร หรือส.ส.คนใด ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ก็จะถือว่าเป็นผู้ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีพ ซึ่งการถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ ทางการเมือง และ กรรมการองค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. หรือ ส.ว ตามมาตรา 98 ,108 ของร่างรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 202 (2) ของ ร่างรัฐธรรมนูญ กรรมการองค์กรอิสระ ตามมาตรา 217,203 (4) ของร่างรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

นอกจากนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าว ยังให้กกต.เป็นผู้มีอำนาจประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง และ กรณีมีเหตุอันจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จนทำให้กกต.ไม่อาจจัดการเลือกตั้งตามวันที่ กกต.ประกาศ หรือมีเขตเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 5% ( 18 เขต) ของจำนวนเขตเลือกตั้งทั้งหมด 350 เขตเลือกตั้ง ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือมีเขตเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 5% ของจำนวนเขตเลือกตั้งทั้งหมด ที่มีเหตุจำเป็นอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น มีมวลชนปิดล้อม ซึ่งจะทำให้กกต.ไม่สามารถประกาศผลการเลือกตั้งได้ร้อยละ 95% ในครั้งแรก ให้กกต.สามารถกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เหตุดังกล่าวสิ้นสุด

ขณะที่การเปิดรับสมัครพื้นที่ใดเกิดเหตุจลาจล หรือเหตุสุดวิสัยอื่น ที่ทำให้กกต.เปิดรับสมัครไม่ได้ ให้กกต.สามารถดำเนินการรับสมัครโดยวิธีการอื่นได้ ผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง สามารถถอนหรือเปลี่ยนแปลงผู้สมัครรับเลืกตั้งได้ กรณีผู้สมัครรับเลือกตั้งตาย ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม โดยต้องกระทำก่อนการปิดรับสมัคร แต่ในอดีตเมื่อสมัครแล้ว จะไม่สามารถถอน หรือเปลี่ยนแปลงได้

ส่วนการหาเสียง พรรคการเมือง นักการเมืองจะต้องติดป้ายหาเสียงในสถานที่ ที่กกต.กำหนดเท่านั้น ไม่สามารถไปหาสถานที่ติดตั้งเองได้

การลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะลงทะเบียนครั้งต่อครั้ง และสามารถขอใช้สิทธินอกเขตเลือกตั้งได้ ไม่เฉพาะขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตจังหวัดเท่านั้น โดย กกต.จะจัดวันลงคะแนนในช่วง 2 วันก่อนวันเลือกตั้งจริง ด้านการลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร กฎหมายเขียนเปิดช่องให้ใช้วิธีอื่นได้ นอกจากใช้บัตรเลือกตั้ง เช่น ทางอิเล็กทรอนิกส์ และให้มีการนับคะแนนเลยโดยส่งเฉพาะผลคะแนนกับประเทศไทย

นอกจากนั้น ในบทเฉพาะกาล ยังกำหนดว่า บุคคลใดที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และการได้มาซึ่งส.ว. 2550 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2550 ยังคงให้ถือว่า ผู้นั้นถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้

** สปท.ยอมถอย"เซตซีโร"

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึง กรณีพรรคการเมืองคัดค้านข้อเสนอ สปท.เรื่องการรีเซตบัญชีสมาชิกพรรคใหม่ทั้งหมด ว่า ล่าสุด กมธ.ได้ปรับแก้เนื้อหาในส่วนการให้พรรคการเมือง ต้องยื่นจดทะเบียนสมาชิกพรรคใหม่ว่า หากพรรคใดไม่ต้องการรีเซตรายชื่อสมาชิกพรรคใหม่ทั้งหมด ก็สามารถทำหนังสือยืนยันรายชื่อสมาชิกพรรคทั้งหมด เพื่อรับรองว่า สมาชิกพรรคที่มีอยู่เดิมนั้นมีความถูกต้อง การปรับแก้ดังกล่าวเพื่อให้เกิดทางเลือกแก่พรรคการเมืองมากขึ้น แต่หากพบว่ารายชื่อสมาชิกพรรคการเมืองที่แต่ละพรรคยืนยันมาไม่เป็นความจริง ก็จะมีบทลงโทษเช่นกัน เพราะปัจจุบันมีสมาชิกพรรคจำนวนมากถูกนำชื่อมาแอบอ้างโดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอม หรือไม่รู้ตัว บางคนเป็นสมาชิกพรรคซ้ำซ้อนกันหลายพรรค ดังนั้น จึงต้องให้มีการยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม หากพรรคใดต้องการจะจดทะเบียนรายชื่อสมาชิกพรรคใหม่ก็สามารถทำได้เช่นกัน

** ศาลรธน.เตรียมวินิจฉัยร่าง รธน.

รายงานข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญแจ้งว่า สำหรับความคืบหน้าการพิจารณากรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ส่งร่างรัฐธรรมนูญซึ่งแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติ ในประเด็นเพิ่มเติมเพื่อให้พิจารณาว่าเป็นการชอบด้วยกับผลการออกเสียงประชามติแล้วหรือไม่ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 1 พ.ศ. 2558 มาตรา 37/1 โดยขณะนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีหนังสือขอความเห็นจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) และมีกำหนดส่งภายในวันที่ 12 ก.ย.นี้

ทั้งนี้ ตามกระบวนการพิจารณา เมื่อสำนักงานฯ ได้รับข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากทุกฝ่ายเรียบร้อยแล้ว ทางสำนักงานฯ ก็จะเสนอข้อมูลให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาและศึกษา โดยหลักการเบื้องต้นทางตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็คงจะมาดูว่าข้อมูลที่ได้รับมานั้นมีความเกี่ยวข้องและสามารถนำมาใช้ในการประกอบการพิจารณาได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ข้อมูลที่ได้รับมาเพียงพอต่อการพิจารณาวินิจฉัย ก็สามารถอภิปรายและนัดลงมติได้ทันที แต่ถ้าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อมูลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เพียงพอต่อการพิจารณาวินิจฉัยก็อาจจะมีหนังสือขอข้อมูลเพิ่มเติมไปยังฝ่ายนั้นก็ได้

อย่างไรก็ตาม คาดว่าการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันพุธ 14 ก.ย.นี้ น่าจะมีการนำเรื่องดังกล่าวเข้ามาหารือด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น