xs
xsm
sm
md
lg

ม.หอการค้า ยันนักธุรกิจยังมีจ่ายใต้โต๊ะ ผู้ว่าฯ สตง.แนะใช้ตาต่อตาฟันต่อฟัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (แฟ้มภาพ)
อธิการบดี ม.หอการค้าไทย รับดัชนีคอร์รัปชันไทยได้คะแนนไม่ถึงครึ่ง เผยยุค คสช.ทุจริตนโยบายลด แต่ยังพบเอื้อประโยชน์อยู่ แนะใช้กฎหมายเข้ม ปรับปรุงกฎจัดซื้อจัดจ้าง แฉปี 56 นักธุรกิจต้องจ่ายใต้โต๊ะ ขรก.มากกว่า 35% แต่ยุคนี้เหลือ 15% ด้าน “อลงกรณ์” รับสร้างจิตสำนึกยาก แนะระวังคนใกล้ชิด “วัชรพล” ชูภายใน 2 ปีจะเป็นนิว ป.ป.ช.เร่งเคลียร์คดีค้างก่อน ขณะที่รอง ปธ.ปปง.ชี้ 4 ส่วนทำโกงเป็น 0 ขณะที่ผู้ว่าฯ สตง.หนุนใช้ตาต่อตาฟันต่อฟันปราบ

วันนี้ (7 ต.ค.) ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รองศาสตราจารย์ ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “สถานการณ์คอร์รัปชันของไทย : ดัชนี CSI” ในการสัมมนาเชิงวิชาการ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ เรื่อง “คอร์รัปชั่น หายนะประเทศไทย” ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวต้านคอร์รัปชันประเทศไทย โดยระบุว่ามหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้จัดทำดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย โดยจากการจัดลำดับของนานาชาติพบว่าคะแนนเต็มร้อยไทยไม่เคยได้ถึง 50 คะแนนที่ดีที่สุดคือ 38 ในช่วงตลอด 30 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ทำการสำรวจทุก 6 เดือนในเรื่องความรุนแรงของปัญหา ทัศนคติ และประสิทธิภาพในการต่อต้านการคอร์รัปชันทั้งป้องกัน ปราบปรามและปลุกจิตสำนึก ซึ่งในเรื่องความรุนแรงของปัญหานั้นนับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมาพบว่าปัญหารุนแรง กระทั่ง คสช.เข้ามาบริหารประเทศประชาชนมีความหวังว่าปัญหานี้จะลดลง ส่วนรูปแบบการทุจริตที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด คือ การติดสินบน แต่เมื่อมี คสช.การทุจริตเชิงนโยบายน้อยลงแต่ยังมีการเอื้อประโยชน์แก่พรรคพวก สำหรับจิตสำนึกในการต่อต้านการคอร์รัปชันคนก็เริ่มเห็นว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัว แสดงว่าการรณรงค์ประสบความสำเร็จ และยังพบว่าประชาชน 89% ไม่เห็นด้วยกับความคิดที่ว่ายอมรับรัฐบาลทุจริตที่มีผลงาน นอกจากนี้ยังต้องการให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด รวมทั้งปรับปรุงกฎระเบียบในการจัดซื้อจัดจ้าง

อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวด้วยว่า จากการทำวิจัยถึงปัญหาผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจภาครัฐจะต้องจ่ายเงินเพิ่มพิเศษแก่ข้าราชการ นักการเมืองที่ทุจริตเพื่อให้ได้สัญญาพบว่าในปี 2555 มีการจ่ายมากกว่า 25% ส่วนในปี 56 มีผู้ตอบว่าต้องจ่ายมากกว่า 35% แต่ในปี 57 ลดลงเหลือ 5-15% ล่าสุดเหลือ 1-15% เมื่อคำนวณจากตัวเลข 15% เท่ากับมีงบประมาณที่ต้องสูญเสียไปในปี 2559 กว่าแสนล้านบาท ดังนั้นการลดปัญหาคอร์รัปชันจะช่วยทำให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ว่าสถิติจะดีขึ้นแต่การรณรงค์ต่อต้านการคอร์รัปชันจะต้องทำอย่างต่อเนื่องเพราะหากลดลงเมื่อไหร่ปัญหาเดิมก็จะกลับมา

ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คนที่ 1 กล่าวถึงการสร้างจุดเปลี่ยนประเทศตามโจทย์ของ พล.อ.เปรม ที่ให้เริ่มจากการสร้างจิตสำนึกซึ่งเป็นเรื่องยาก โดยต้องวางรากฐาน ซึ่งในยุคปฏิรูปสองปีที่ผ่านมามีความหวังสามเรื่อง คือ 1. ภาพลักษณ์เรื่องการทุจริตดีขึ้น 26 อันดับมาอยู่ที่ 76 จากการจัดดัชนีชี้วัดขององค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ดีที่สุดในรอบ 10 ปี 2. ขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศขยับขึ้นจากอันดับที่ 30 เป็น 28 ดีกว่าเกาหลีใต้ที่ตกไปอยู่อันดับที่ 29 โดยเชื่อว่าในปีถัดไปจะก้าวขึ้นไปถึงอันดับที่ 25 และ 3. การปฏิรูปประเทศเพื่อสร้างจุดเปลี่ยนใน 3 ส่วน คือ รัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติ ที่มีหมวดว่าด้วยการปฏิรูปบัญญัติเรื่องยุทธศาสตร์ชาติเป็นการเฉพาะ กำหนดให้สร้างกลไกจัดการปัญหาคอร์รัปชันและให้เป็นหน้าที่ของประชาชน ส่วนที่ 2 คือ มาตรการกฎหมายในการจัดการคอร์รัปชันมีการออกกฎหมายจัดตั้งศาลปราบคอร์รัปชั่นซึ่งเป็นกลไกใหม่ให้คนทุจริตถูกลงโทษโดยฉับไว นอกจากนี้ยังมีกฎหมายเจ็ดชั่วโคตรหรือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับส่วนรวม ที่จะตามมาซึ่ง ครม.จะพิจารณาในวันที่ 18 ตุลาคมก่อนจะส่งเข้า สนช. อย่างไรก็ตามมีการทบทวนจากเจ็ดชั่วโคตรลดลงเหลือสามชั่วโคตร ซึ่งจะจัดการปัญหาทุจริตได้อย่างเด็ดขาดและส่วนที่สามมาตรการที่ไม่ใช่กฎหมาย

“สิ่งที่ต้องระวังคือคนใกล้ชิด จะต้องทำเป็นตัวอย่าง หากมีปัญหาอย่าปกป้องต้องจัดการเด็ดขาด ตรงไปตรงมา ให้ตรวจสอบได้ แม่น้ำห้าสายที่ปฏิรูปประเทศต้องทำเป็นแบบอย่าง ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ทำอยู่ เราต้องเป็นทองที่ไม่กลัวการพิสูจน์ให้สังคมยึดเป็นหลักได้ โดยสองปีที่ผ่านมาประเทศไทยก็เข้มแข็งขึ้น” นายอลงกรณ์กล่าว

ด้าน พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.กล่าวว่า จากการสำรวจสิ่งที่ประชาชนอยากเห็นการแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่นด้วยกฎหมายที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วทาง ป.ป.ช.ได้มีการปรับปรุงการทำงานเพื่อให้มีความรวดเร็วมากขึ้นจากเดิม ป.ป.ช.สามารถพิจารณาเรื่องร้องเรียนได้ 250 เรื่องต่อปี ด้วยการจัดระบบการทำงานตั้งแต่เพิ่มบุคลากร ให้สำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัดเป็นผู้เก็บรวบรวมพยานหลักฐานแสวงหาข้อเท็จจริงหากมีมูลจะรีบไต่สวน ซึ่งคดีขนาดเล็กและขนาดกลางให้ ป.ป.ช.จังหวัดดำเนินการ โดยมีนโยบายเป็นการภายในว่าคดีที่ค้างอยู่ 2,100 เรื่อง จะทำให้หมดภายในสองปีเพื่อชี้มูลต่อไป ส่วนเรื่องรับใหม่ให้เสร็จภายใน 1 ปี ดังนั้นไม่เกิน 2 ปีเราจะเป็นนิว ป.ป.ช.ที่มียุทธศาสตร์ชัดเจน สร้างสังคมไม่ทนการทุจริต อย่างไรก็ตาม การจัดสรรงบประมาณต่อการปราบปรามการทุจริตนั้นมีเพียง 0.1% จากงบประมาณทั้งหมด

ส่วนนายเฉลิมศักดิ์ จันทรทิม รองประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. กล่าวว่า การจัดการกับการทุจริตคอร์รัปชันด้วยมาตรการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเพื่อไม่ให้ใช้ทรัพย์สินที่ได้จากการทุจริตไปใช้ประโยชน์ในการสร้างเครือข่ายก่ออาชญากรรมหรือสร้างอิทธิพลทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจได้ ตนเห็นว่าการดำเนินการต่อต้านการทุจริตต้องมียุทธศาตร์และความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพราะการทุจริตทำเป็นเครือข่าย โดยภารกิจของ ปปง.มี 2 ส่วน คือ มาตรการทางแพ่งที่สถาบันทางการเงินต้องรายงานธุรกรรม 2 ล้านบาท และอสังหาริมทรัพย์ราคา 5 ล้านบาท เพื่อวิเคราะห์และต้องรู้ข้อมูลลูกค้ามีการแสดงตัวตนเพื่อกำหนดระดับความเสี่ยง เช่น นักการเมืองมีความเสี่ยงสูง การทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินก็ต้องแสดงตัวตนโดยสถาบันการเงินและองค์กรธุรกิจต้องรายงานมาที่ ปปง.โดยเฉพาะธุรกรรมทางการเงินที่มีลักษณะผิดปกติ ส่วนที่ 2 คือ มาตรการในการยึดอายัดทรัพย์ ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ของคณะกรรมการ ปปง.เห็นว่าการจะทำให้การคอร์รัปชันเป็นศูนย์มี 4 ส่วนคือ นโยบาย มาตรการทางกฎหมาย การบังคับใช้ และค่านิยมจิตสำนึก หากทั้งสี่ส่วนนี้มีประสิทธิภาพก็จะเซตซีโร่การทุจริตได้

ขณะที่นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ระบุว่า การควบคุมเงินแผ่นดินจำเป็นเพราะเป็นเงินของประชาชนทั้งชาติ ผู้ปฏิบัติงานจึงต้องทำอย่างซื่อสัตย์ ละเอียด ถี่ถ้วน ระวังไม่ให้เกิดความเสียหาย และต้องมั่นใจว่าการใช้จ่ายเงินแผ่นดินเป็นไปโดยบริสุทธิ์ บังเกิดผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะหากมีการทุจริตคอร์รัปชันหรือรับสินบนก็จะเป็นต้นทุนของค่าใช้จ่ายเป็นการเบียดบังเงินแผ่นดิน ดังนั้นจึงไม่ใช่การปล้นธรรมดา แต่เป็นการกราดยิงไม่สนใจว่าจะปล้นใคร แต่อาชญากรเหล่านี้ยังใส่สูทได้รับเกียรติทั้งที่ทำร้ายสังคม กินเลือดกินเนื้อประชาชน ดังนั้นต้องใช้มาตรการตาต่อตาฟันต่อฟัน เพราะเป็นภัยร้ายของประเทศต้องทำให้คนดีมีอำนาจปกครอง พร้อมกับยกตัวอย่างปัญหาการทุจริตจำนำข้าวที่ สตง.ได้เตือนรัฐบาลหลายครั้งว่าสร้างความเสียหายหลายแสนล้านบาทแต่กลับไม่มีการแก้ไข ซึ่งในรัฐธรรมนูญใหม่ให้ สตง.มีภารกิจในการยับยั้งนโยบายประชานิยมที่จะสร้างความเสียหาย อันเป็นช่องทางที่จะใช้กฎหมายมายับยั้งได้


กำลังโหลดความคิดเห็น