รองนายกฯ แจง ไม่เคยบอกใช้ ม.44 ยุบสภา อ้างอธิบายเมื่อยังไม่มี รบ. ใหม่ ม.44 ยังมีอยู่ “สุริยะใส” ชี้ เป็นเรื่องยากใช้ ม. 44 ยุบสภา เพราะยังมีมาตรา 5 สำรองผ่าทางตัน กรณีเลือกนายกฯไม่ได้ใน 6 เดือน ข้องใจ “วิษณุ” มาเปิดประเด็นนี้เพื่ออะไร ระบุช่วงเปลี่ยนผ่านยังคาดการณ์อนาคตยาก
วันนี้ (2 ต.ค.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีระบุว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีอำนาจยุบสภา หากหลังการเลือกตั้งแล้วไม่สามารถเลือกนายกฯได้ ว่า กรณีหลังการเลือกตั้งแล้ว ไม่สามารถเลือกนายกฯได้ ถือเป็นทางตัน รัฐบาลชุดนี้เมื่อยังทำหน้าที่อยู่ ต้องหาทางออก ทางออกที่ว่าเป็นทางออกตามระบอบประชาธิปไตย คือ การคืนอำนาจให้กับประชาชน ยืนยันว่า รัฐบาลมีอำนาจในการยุบสภา โดยใช้พระราชกฤษฎีกายุบสภา ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เหมือนที่เคยทำกันมา และไม่สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ประกาศยุบสภาได้ ยืนยันไม่เคยบอกว่าใช้ มาตรา 44 ในการยุบสภา แต่ที่ตนพูดถึงมาตรา 44 วันที่พูดเรื่องนี้ เป็นเพียงการอธิบายว่า เมื่อยังไม่มีรัฐบาลใหม่ รัฐบาลชุดนี้ คสช. และ ม.44 ยังมีอยู่เท่านั้น แต่ไม่ได้บอกว่าสามารถใช้ ม.44 ในการยุบสภา
นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) แสดงความเห็นว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องใช้มาตรา 44 ยุบสภา หากรัฐสภาเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้ภายใน 6 เดือน ที่สำคัญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีคำถามพ่วง ก็ชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว กรณีเลือกนายกฯจากบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอไม่ได้ ก็เพิ่มบทบาท ส.ว. สรรหา เข้ามาปลดล็อกอีกทางหนึ่งอยู่แล้ว
นายสุริยะใส กล่าวต่อว่า หรือถ้าสุดท้ายแล้ว รัฐสภาเลือกนายกไม่ได้จริง ๆ ก็ยังมีมาตรา 5 ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ที่ระบุในวรรคสาม ว่า เมื่อมีกรณีตามวรรคสองเกิดขึ้น ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญจัดให้มีการประชุมร่วมระหว่างประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานองค์กรอิสระเพื่อวินิจฉัย ซึ่งเป็นการนำมาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 และฉบับก่อนหน้านี้ มาขยายเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความชัดเจนในแนวปฏิบัติ และเป็นการผ่าทางตันการเมืองไทย ซึ่งมีเหตุเกิดขึ้นบ่อยในช่วงหลัง ๆ จนนำไปสู่วิกฤต และเกิดการรัฐประหารที่ผ่านมา จึงเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะถึงขั้น ใช้คำสั่ง คสช. มาตรา 44 ยุบสภาทิ้งไป ทั้ง ๆ ที่ประชาชนเพิ่งเลือกตั้งมา
นายสุริยะใส กล่าวอีกว่า ตนเลยไม่ทราบเหมือนกันว่า รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม มาเปิดประเด็นนี้เพื่อส่งสัญญานหรือไปเบี่ยงเบนเรื่องอะไรกัน แต่อำนาจตาม มาตรา 44 ก็ไม่ได้ระบุชัดเจนถึงขนาดนั้น ถ้าจะบอกว่าเพื่อบีบให้พรรคการเมืองใหญ่จับมือกัน ก็เป็นเรื่องยาก ฝืนธรรมชาติ และความรู้สึกของประชาชน แทบไม่มีโอกาส เพราะตัวแปรทางการเมือง หากเกิดกรณีเลือกนายกฯจากบัญชีพรรคการเมืองไม่ได้ เชื่อว่า พรรคที่ 3 จะจับมือกับ ส.ว. เสนอนายกฯ คนนอกแน่นอน และโดยสถานการณ์สังคมการเมืองในขณะนี้ ก็เร็วเกินไปที่จะคาดการณ์การเมืองไทยในอนาคตปีหรือสองปีข้างหน้า ซึ่งเป็นการเมืองช่วงเปลี่ยนผ่าน ไม่มีอะไรแน่นอน แม้แต่การเลือกตั้งเองก็ตาม ยังไม่มีใครกล้ายืนยันช่วงเวลาที่แน่นอน