xs
xsm
sm
md
lg

กฤษฎีกาชี้แก้ระเบียบความผิดละเมิด จนท.รัฐ คงอายุความ-เรียกค่าเสียหาย “บุญทรง” ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา (แฟ้มภาพ)
เลขาธิการกฤษฎีกา แจงแก้ระเบียบความรับผิดละเมิดเจ้าหน้าที่รัฐ เหตุข้อความซ้ำ ยันยึดอายุความตาม พ.ร.บ. ชี้เรียกค่าเสียหาย “บุญทรง” ได้แม้ศาลฎีกายังไม่ตัดสิน

วันนี้ (20 ก.ย.) เมื่อเวลา 12.45 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ที่มีการตัดเนื้อหาอายุความในข้อ 18 จากฉบับเดิมออกว่า ระเบียบไม่สามารถกำหนดอายุความใดๆ ได้เนื่องจากเป็นแค่ระเบียบ แต่การกำหนดอายุความต้องกำหนดโดย พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เพราะมีผลต่อการจำกัดสิทธิบุคคลในการใช้สิทธิต่างๆ ส่วนระเบียบฉบับเดิมนั้นเป็นการเอาข้อความใน พ.ร.บ.เขียนมาไว้มาลอกลงในระเบียบ เมื่อซ้ำกันจึงมีการตัดออก ดังนั้น เมื่อมีการตัดออกไปเรื่องอายุความไม่ได้หายไปไหน แต่ยังมีอยู่ในมาตรา 10 วรรคสองของ พ.ร.บ.ดังกล่าวที่ให้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนนั้นมีอายุความหนึ่งปีนับตั้งแต่วันที่หน่วยงานรัฐมีคำสั่งตามความเห็นของกระทรวงการคลัง เรื่องนี้จึงไม่มีอะไรพิสดาร ส่วนที่มีการตัดข้อ 19 จากระเบียบฉบับเดิมออกนั้น เพราะปัจจุบันมีการใช้ตามกฎหมายป.วิ ปกครองอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ออกมาระบุไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากมีการเรียกค่าเสียหายกรณีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ก่อนที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะตัดสิน นายดิสทัตกล่าวว่า เรื่องการเรียกค่าเสียหายกับการดำเนินคดีอาญาในศาลฎีกาฯ เป็นการดำเนินการคนละส่วนกัน โดยการเรียกค่าเสียหายเป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 สามารถดำเนินการควบคู่กันไปได้ ในอดีตเคยมีลักษณะแบบนั้น ส่วนทางผู้ที่ถูกเรียกค่าเสียหายจะต่อสู้อย่างไรถือเป็นสิทธิ


กำลังโหลดความคิดเห็น