เมืองไทย 360 องศา
ตามกำหนดการที่ออกมาจากสำนักนายกรัฐมนตรีที่มีการแถลงและเปิดเผยให้ทราบจะเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 71 ระหว่างวันที่ 18-24 กันยายน ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
ขณะเดียวกัน ในช่วงเวลาดังกล่าวยังมีกำหนดการที่น่าสนใจพ่วงเข้ามาพร้อมๆ กัน นั่นคือการประชุมสุดยอดระดับผู้นำในด้านผู้ลี้ภัย ซึ่งมีประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา เป็นผูัริเริ่ม และเป็นเจ้าภาพร่วมกับ บัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งมีวาระที่เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยดังกล่าวนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรก มีผู้นำประเทศเข้าร่วมประมาณ 30-40 ประเทศ และโอบามา เป็น “ผู้เชิญ” ผู้นำประเทศที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น
หากพิจารณาจากกำหนดการและวาระการประชุมสุดยอดดังกล่าวข้างต้น บางทีมันก็อาจเป็นคำตอบออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนไปแล้วแบบไม่ต้องมาอธิบายชี้แจงให้เสียเวลา
แน่นอนว่าการคลายกฎเหล็กจากคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 55/2559 ที่เกี่ยวกับการโอนคดีที่พลเรือนกระทำผิดหลังวันที่ 12 กันยายนให้ไปขึ้นศาลยุติธรรมปกติแทนที่ศาลทหาร สาเหตุหลักย่อมมาจากเหตุผลที่อ้างในคำสั่งนั่นคือมาจากสถานการณ์ที่เริ่มสงบเรียบร้อย ชาวบ้านส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ซึ่งในความหมายข้างในก็คือ “ควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้อย่างมั่นคง” แล้วนั่นเอง
ในความเป็นจริงอีกอย่างหนึ่งก็คือ คำสั่ง คสช.ในครั้งนี้ไม่ได้มีผลย้อนหลัง นั่นคือ คดีความมั่นคง และความผิดกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เกิดก่อนวันที่ 12 กันยายน 2559 ลงไปถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 ที่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติเกิดขึ้นแล้วก็ยังต้องขึ้นศาลทหารเหมือนเดิม รวมไปถึงคำสั่งที่ให้อำนาจทหารในตรวจค้น จับกุมควบคุมตัวก็ยังคงอยู่ หรือแม้แต่คำว่าหากสถานการณ์กลับมาเหมือนเดิมก็จะย้อนกลับมาขึ้นศาลทหารอีก
แต่ในภาพรวม การโยกให้ไปขึ้นศาลยุติธรรมปกติมันก็ลดความเข้มข้นลงไปมาก โดยเฉพาะภาพลักษณ์ในสายตาของนานาชาติ เช่น พวกตะวันตกก็จะลดเงื่อนไขในเรื่องสิทธิมนุษยชนลงไปได้ไม่น้อย ซึ่งตามกำหนดการที่มีการเปิดเผยก็คือในการเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาใหญ่ สหประชาชาติสมัยสามัญคราวนี้ก็มีวาระเรื่องการประชุมเกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชนด้วย
อีกทั้งคราวนี้มีการประชุมสุดยอดร่วมกับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บารัค โอบามา มีการเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เข้าร่วมประชุมเป็นครั้งแรก เพราะที่ผ่านมาจะไม่มีการหารือกันโดยตรง แต่จะออกมาเป็นแบบประชุมกลุ่ม เช่น ประชุมสุดยอดอาเซียน หรือที่เพิ่งผ่านไปคือการประชุมกลุ่มจี 20 อย่างมากก็ได้แค่จับมือถ่ายรูปหมู่ ไม่เคยได้ถกแบบทวิภาคี อันเนื่องจากสหรัฐฯ ได้ลดระดับความสัมพันธ์กับไทยแบบอัตโนมัติ เพราะเป็นรัฐบาลมาจากรัฐประหาร แม้ว่าใจจริงอยากจะคงความสัมพันธ์ใจจะขาด เพื่อการแข่งขันด้านยุทธศาสตร์ในภูภาคที่ไทยเป็นประเทศสำคัญก็ตาม
ที่ผ่านมาฝ่ายสหรัฐฯ และประเทศยุโรปตะวันตกอื่นๆ พยายามกดดันยื่นเงื่อนไขในเรื่องให้ผ่อนคลายเรื่องสิทธิมนุษยชนลง หากสังเกตจะพบว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีการผ่อนคลายลงมาเรื่อยๆ เริ่มจากในปีก่อน ก่อนที่เขาจะเดินทางไปร่วมประชุมสหประชาชาติหากจำกันได้ก็มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งห้ามเดินทางออกประเทศของบุคคลบางกลุ่ม ยกเว้นคนที่มีคดีต้องร้องขออนุญาตจากศาลเสียก่อน แม้ว่าครั้งนั้นจะเป็นความเคลื่อนไหวเล็กๆ แต่ก็พอเห็นได้เหมือนกันว่าเริ่มผ่อนคลายและลดเงื่อนไขการตอบคำถามลงได้บ้างเหมือนกัน
ขณะเดียวกัน เมื่อมองกันในทางการเมืองแบบ “เกมยาว” ในอนาคตแล้วฟังจากคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ย้ำว่าเป็นการผ่อนคลายให้เป็นปกติมากที่สุดเมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ทำให้กฎหมายเป็นสากลให้ได้รับการยอมรับ ซึ่งเวลานี้ทุกประเทศยอมรับและมีความสัมพันธ์ที่ดี มีความยินดีเข้ามาลงทุน มีเพียงเรื่องเดียวเท่านั้นคือ “ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง” ซึ่งก็ยอมรับ
ดังนั้น ในทางการเมืองระหว่างประเทศที่เชื่อมโยงกับภายในประเทศมันก็เหมือนมีสัญญาณใหม่เกิดขึ้นจากฝ่ายสหรัฐอเมริกาเหมือนกัน ในเรื่องของความพยายามปรับความสัมพันธ์ใหม่กับไทย เริ่มจากการเชิญผู้นำ คสช.เข้าร่วมประชุมที่สหรัฐฯ ซึ่งฝ่ายไทยก็ตอบสนองในเรื่องการผ่อนคลายเหล็กในเรื่องศาลทหาร อย่างน้อยเป็นการลดเงื่อนไขเพื่อใหัอีกฝ่ายยื่นมือมาจับได้แบบไม่เสียหน้า แม้ว่ายังมีอีกเงื่อนไขสำคัญคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ในเมื่อมีการปูทางเอาไว้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญใหม่ ที่นายกฯ มาจากการโหวตในรัฐสภา มันก็เป็นทางออกสำหรับ “เกมยาว” ในอนาคตได้อยู่แล้ว
ถึงตอนนั้นก็ราบรื่น สหรัฐฯ ก็จะกลับเข้ามาถ่วงดุลกับจีน รัสเซีย และไทยก็จะต่อรองได้ได้มากกว่าเดิม!