รมว.ต่างประเทศ ปัดเลขาธิการสหประชาชาติติงสิทธิมนุษยชนไทย บอกแค่อยากเห็นการผ่อนคลาย อยากมีผลงาน ชี้โอนคดีศาลทหารไปศาลปกติถือเป็นพัฒนาการที่ดี ไม่ใช่แรงกดดันต่างชาติ รู้มาเป็นเดือนแล้วว่าจะทำ ยันศาลทหารเทียบกับชาติอื่นที่ทำรัฐประหารถือว่าคนละเรื่อง ไม่เกี่ยวกับที่นายกฯ จะไปประชุมยูเอ็น ชี้ประเทศอื่นมีปัญหามากกว่าเราเยอะ
วันนี้ (13 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 14.45 น. นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีนายบัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยว่า เลขาฯ ยูเอ็นไม่ได้ติง แต่รับรู้ว่าพัฒนาการของประเทศไทยดีขึ้นจากผลของประชามติ เพียงแต่อยากเห็นการผ่อนคลายมาตรการบางอย่าง โดยมีการพูดมานานแล้ว อีกทั้งเขากำลังจะหมดวาระลงจึงอยากมีผลงานที่สร้างสรรค์ ส่วนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 55/2559 ที่ให้โอนคดีความมั่นคงจากศาลทหารมาศาลยุติธรรมปกตินั้นถือเป็นพัฒนาการที่ดีขึ้น ไม่ใช่ได้รับแรงกดดันจากภายนอก ไม่ใช่การกดดันจากใคร และไม่ใช่เพราะกรณีเสียงท้วงติงจากการไปรายงานต่อที่ประชุมคณะทำงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (ยูพีอาร์) ที่ผ่านมา แต่ตนรับทราบมาเป็นเดือนแล้วว่าจะมีการผ่อนคลายเกิดขึ้น เพียงแต่ยังไม่สะดวกและไม่มีจังหวะ สืบเนื่องจากบรรยากาศดีขึ้น มีความมั่นใจขึ้น เหมาะสมกับสถานการณ์ของบ้านเมือง เป็นการส่งสัญญาณที่ดี หลายๆ อย่างรวมกันถือเป็นปัจจัยบวก
“ศาลทหารของไทยถ้าเทียบกับศาลทหารของประเทศที่เขาทำรัฐประหารกัน คนละเรื่องกันเลย เพราะศาลทหารของเราเปรียบเสมือนศาลพลเรือนโดยทั่วไป โดยจะดูคดีความที่เกี่ยวกับทหาร ไม่ได้แปลว่าต้องรุนแรง ไม่ได้ออกมาในเชิงทารุณกรรม เป็นการว่าความ หรือดำเนินคดีดังศาลพลเรือน” นายดอนกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.จะเดินทางไปประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญครั้งที่ 71 ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 18-24 ก.ย. จึงยกเลิกก่อน รมว.ต่างประเทศกล่าวว่า การประชุมครั้งที่แล้วไม่ได้มีปัญหาในเรื่องนี้ ต้องเข้าใจว่าในยูเอ็น 193 ประเทศ มีประเทศที่มีปัญหามากกว่าประเทศไทยเป็นร้อยประเทศ ประเทศไทยไม่ได้เป็นหนึ่งในร้อยด้วยซ้ำ ดังนั้นจึงไม่มีปัญหา และการประชุมยูเอ็นครั้งนี้ไม่ได้หารือเรื่องดังกล่าว