รองโฆษกรัฐบาลเผย “ประยุทธ์” เตรียมร่วมประชุมสุดยอดระดับผู้นำด้านผู้ลี้ภัย 18-24 ก.ย. “โอบามา” เป็นผู้ริเริ่ม พร้อมเชิญผู้นำที่มีบทบาทในการแก้ปัญหา ไทยหนุนแก้ปัญหาที่ต้นทางเพื่อป้องกันปัญหาอย่างยั่งยืน
วันนี้ (13 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมระดับสูงของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 77 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-24 ก.ย.นี้ โดยจะมีการแถลงร่างปฏิญญาการประชุมระดับสูง รวมถึงการประชุมเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานของผู้ลี้ภัยและผู้โยกย้ายถิ่นฐาน จะมีการแสดงเจตนารมณ์ของนานาประเทศในการจัดการปัญหาผู้ลี้ภัยและผู้โยกย้ายถิ่นฐานซึ่งเป็นการริเริ่มของสหประชาชาติ โดยจัดขึ้นเป็นครั้งแรก มีการคัดกรองเอกสารปฏิญญาทางการเมืองเพื่อแสดงถึงเจตนารมณ์ของหน่วยงานระดับสูงของแต่ละประเทศที่เข้าร่วม โดยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุม
พล.ต.วีรชนกล่าวว่า ส่วนการประชุมสุดยอดระดับผู้นำด้านผู้ลี้ภัยที่นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ริเริ่ม และมีนายบัน คีมูน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เป็นเจ้าภาพร่วมในการประชุม ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีประเทศที่รับเชิญเข้าร่วมประมาณ 30-40 ประเทศ เพื่อหารือและแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองในการบริหารจัดการวิกฤตการณ์เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยที่นับวันยิ่งมีความรุนแรง และเป็นปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญมากขึ้น ทั้งนี้ สำหรับจะผู้เข้าร่วมการประชุมนั้น นายบารัค โอบามา จะเป็นผู้ส่งคำเชิญให้ผู้นำประเทศที่เห็นว่ามีบทบาทสำคัญและมีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหา และประเทศไทยก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมด้วย
รองโฆษกรัฐบาลกล่าวต่อว่า สำหรับร่างคำมั่นของประเทศไทยที่จะประกาศในการประชุมครั้งนี้จะมีการพูดถึงการออกกฎหมายหรือออกพระราชบัญญัติในการป้องกันปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลสูญหายเพื่อเสริมสร้างการนำไปสู่การไม่ส่งบุคคลไปสู่อันตราย การจัดระบบคัดกรองที่มีประสิทธิภาพเพื่อคัดแยกผู้ลี้ภัยจากประเทศต้นทางจากผู้แสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจ โดยท่าทีของรัฐบาลไทยจะสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ประเทศต้นทางเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานและการลี้ภัยที่ต้นเหตุอย่างยั่งยืน เพราะเราไม่ได้เป็นประเทศต้นทาง ไม่ได้เป็นประเทศปลายทาง แต่เป็นประเทศที่อยู่ตรงกลาง รวมถึงสนับสนุนการจัดการโยกย้ายถิ่นฐานที่มีลักษณะผสมของผู้ลี้ภัยกับผู้ย้ายถิ่นฐาน ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจอื่นๆ และสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ แบ่งเบาภาระในการบริหารจัดการปัญหา สนับสนุนการให้ความคุ้มครองแก่ผู้โยกย้ายถิ่นฐานกลุ่มเปราะบาง ผู้หญิง เด็ก รวมถึงสนับสนุนให้ประเทศผู้รับต่างๆ รับผู้ลี้ภัยเพิ่มมากขึ้น