“ประยุทธ์” เป็น ปธ. งานวันต้านคอร์รัปชัน ลั่นก่อนลงจากอำนาจทุจริตต้องหมดไป ปูดปชช. ร้อง จนท. เรียกเงินอำนวยความสะดวก ขู่ไล่ออก เตือน ขรก. ทำผิด ปชช. จับตา เล็งปฏิรูปสื่อไม่วิจารณ์ด้วยความเห็นตัวเอง ย้ำประเทศต้องแก้ปัญหาตามวิธีของตัวเอง “ไพบูลย์” รับ ศอ.ตช. แก้ปัญหาแค่ระยะสั้น หวัง ศปท. กระทรวงสานต่องาน ชี้ นักการเมือง - ขรก. ลั่นต้องป้องกันมากกว่าปราบปราม ต้นเหตุทุจริต วอน ปชช. เลือกตั้งเลือกคนดี
วันนี้ (11 ก.ย.) เมื่อเวลา 18.00 น. ที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานงานวันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ 2559 โดยมี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม พร้อมด้วย นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่าต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) รวมถึงเครือข่ายองค์กรต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน และประชาชน เข้าร่วมงานกันอย่างคึกคัก โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ “มาตรการจัดการ การคอร์รัปชันของประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม” ตอนหนึ่งว่า เรื่องทุจริตเป็นกับดักที่สำคัญของประเทศ ทำให้ประเทศก้าวหน้าไปได้ช้า เกิดความขัดแยก แตกแยก สังคมมีปัญหาไปทั้งหมด ไม่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ วันนี้เราต้องดูว่าจะเดินหน้าประเทศไปอย่างไร เราแก้ปัญหามา 40 ปี แต่ยังเหมือนเดิม ต้องหาวิธีใหม่ ให้การแก้ปัญหามีผลสัมฤทธิ์ รัฐบาลนี้ทำทุกอย่าง การแก้ปัญหาทุจริตเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่อยู่ในรัฐบาล ประเทศประสบปัญหานี้มานาน และรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึง 22 พ.ค. 57 เป็นหน้าที่ที่เราต้องแก้ไข ไม่ได้เข้ามาเพื่อจับผิดใคร หรือแกล้งใครอย่างที่ถูกกล่าวหา กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย สำหรับโรดแม็ปในระยะที่ 3 ซึ่งเป็นการส่งมอบ การทุจริตก็ต้องน้อยลง หรือไม่มีเลย
ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาทุจริตอย่างเดียว รวมถึงกระบวนการ ภาคประชาชนต้องมีส่วนร่วม แม้ตนเป็นรัฐบาลแบบนี้ต้องใช้วิธีการบริหารราชการแบบนี้ ฟังทุกพวก เพราะไม่อยากให้เกิดความขัดแย้ง เรื่องของการทุจริตทุกอย่างต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม เราปล่อยปละละเลยเลยมานาน ซึ่งการทุจริตไม่ใช่แค่เรื่องเงินทองเท่านั้น ยังรวมไปถึงการทำผิดกฎหมาย อย่างเช่น การขายของผิดที่ผิดทาง เหล่านี้ถือว่าทุจริต สิ่งเหล่านี้เข้าใจดีว่า เมื่อเข้าไปแก้ไขปัญหาทำให้เกิดความขัดแย้งสูงก็ต้องทำเพื่อปรับระบบ จะได้มีการพัฒนาที่เท่าเทียมกัน ถ้าไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย ความเดือดร้อนจะมีมากขึ้นไปเรื่อย ๆ การทาบทับอำนาจรัฐ รัฐบาลนี้ไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนยุติธรรม แม้จะมีอำนาจตามมาตรา 44 ที่ชี้เป็นชี้ตายได้ ตนก็ไม่เคยทำ และต่อไปก็จะไม่มีมาตรา 44 แล้ว การแก้ไขปัญหาต้องอยู่บนกฎหมายสากล และบนความร่วมมือของประชารัฐ การแก้ไขปัญหาโดยใช้กฎหมายจะไม่มีวันจบ ต้องแก้ไขปัญหาอย่างอื่นด้วย เช่น การแก้ไขปัญหาความยากจน ลดการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม ความไม่พอเพียง และการศึกษา ถ้าคนรวยนั่งรถหรูเห็นคนยากจนนั่งอยู่ข้างถนนแล้วยังรู้สึกว่าตัวเองสบายดี มันก็ไม่มีวันแก้ปัญหาได้ ทุกอย่างเป็นห่วงโซ่ ทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม ต่างประเทศ ปัญหามันทับซ้อนกันอยู่ เวลานี้มีคนมาร้องเรียนตนว่า เรื่องของการอำนวยความสะดวกยังมีการเก็บเงิน ตนกำลังให้สอบอยู่ ถ้าพบว่า มีความผิดมีโทษไล่ออกอย่างเดียว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ปัญหาการแก้ทุจริตต้องทำตั้งแต่วันนี้ ซึ่งอยู่ในแผนการปฏิรูป 20 ปีของรัฐบาล และอีก 20 ปีข้างหน้าประเทศไทย จะปราศจากทุจริต หากทุกฝ่ายร่วมกัน และประชาชนให้กำลังใจให้คนดีเข้ามาทำงาน ส่วนการใช้กฎหมายนั้นรัฐบาลไม่ได้มุ่งหวังกดประชาชน ไม่ได้ให้เชื่อฟัง แต่กฎหมายต้องเป็นกฎหมาย ไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งทุกคนควรต้องรู้เท่าทัน จะอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้ เพราะไม่ต้องการให้คนไม่รู้เรื่อง และคนยากจนต้องไปเข้าไปรับโทษ รัฐบาลทำกฎหมายออกมาเพื่อป้องกันและจัดการกับทุกคน ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ คนเสนอ และคนรับ อย่างเท่าเที่ยมกัน หลายส่วนอาจจะต้องการความสะดวก และเข้าหาเจ้าหน้าที่ รัฐจึงต้องป้องกันตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง แต่ต้องให้เวลารัฐบาลในการแก้ไขเพราะปัญหาสะสมมานาน บางคดีเมื่อศาลตัดสินแล้วควรเคารพกระบวนการยุติธรรม อย่าทำตัวเหมือนบางคนที่ไม่ยอมรับการตัดสินและเห็นด้วยต่อเมื่อศาลตัดสินเข้าข้างตัวเอง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนข้าราชการอย่าคิดว่าทำอะไรแล้วจะไม่มีใครรู้ เพราะประชาชนจับตามองอยู่ ที่ผานมา รัฐบาลเน้นย้ำเรื่องธรรมาภิบาลในการทำงานให้โปร่งใส และขณะนี้มี พ.ร.บ. อำนวยความสะดวก คอยดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ที่ไม่ปฏิบัติตาม ที่ผ่านมา ประชาชนไม่ชอบราชการ เพราะไม่เป็นมิตร จึงต้องปรับเปลี่ยน ทั้งนี้การแก้ทุจริตต้องทำทั้งระบบและต่อเนื่อง มิเช่นนั้น ประเทศจะเสื่อมถอย กลายเป็นรัฐล้มเหลว อย่างไรก็ตาม วันนี้ต้องสร้างสื่อรูปแบบใหม่ คือ ไม่วิพากษ์วิจารณ์โดยใช้ความคิดของตัวเอง เพราะสื่อทุกวันนี้เป็นไปในลักษณะนี้จึงขึ้นอยู่กับประชาชนที่จะเลือกรับและต้องสร้างจิตสำนึกใหม่และประชาชนต้องเป็นหูเป็นตาเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน อย่าให้ใครมาบิดเบือนหรือชี้นำได้
นายกฯ กล่าวว่า เราเป็นประเทศประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่เราไม่ใช่สังคมนิยมประชาธิปไตย อย่าคิดว่าทำไมไม่ทำแบบนี้แบบนั้น เพราะประเทศเราเป็นแบบนี้ก็ต้องแก้ปัญหาแบบนี้ อย่ามองว่าประเทศอื่นทำไมทำได้ เพราะเขาไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบของเรา มันอยู่ที่วิธีการของเรานั่นคือการเลือกคนดีใาแกครองบ้านเมือง และประชาชนต้องให้ความร่วมมือรัฐบาล เป็นหูเป็นตาแจ้งเบาะแส ตนก็ฟังข้อมูลจากท่าน ทั้งจากหนังสือพิมพ์ ข้าราชการ และการประชุม ครม. รับหมดทุกปัญหา อย่าบอกว่าไม่ฟังใคร ฟังเยอะก็ทำเยอะ ทุกคนต้องร่วมมือกับรัฐบาลและคสช.ในเวลานี้ เพราะเป็นช่วงสำคัญ ทำกลไกกระบวนการต่าง ๆ ให้เดินหน้าได้อีก 20 ปีข้างหน้า อย่าไปมองเรื่องต่อท่ออำนาจ ตนอยู่ตามโรดแมป ท่ออะไรยังไม่รู้เลย ตนไม่อยากได้ประโยชน์อะไร ทุกวันนี้ต่างชาติอิจฉาไทยที่อัตราการว่างงานน้อยที่สุด ถ้ากฎหมายต่าง ๆ ออกมาเร็วกว่านี้วันนี้คงสร้างคุกกันไม่ทัน ถ้าจะทำให้คนไม่ล้นคุกต้องทำให้คนเข้มแข็ง
ขณะที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจิตแห่งชาติ (ศอ.ตช.) กล่าวในหัวข้อกระบวนการยุติธรรมในการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันว่า ปัญหาทุจริตไม่ใช่ว่าทุกคนจะไม่ทราบมาก่อน โดยเฉพาะทุกรัฐบาลทราบดี เมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว เคยมีอดีตนายกฯพูดว่า ถ้าประเทศไทยหยุดการโกงสัก 2 ปี ถนนในประเทศไทยจะราดด้วยทองคำ แต่จนถึงวันนี้ก็ยังมีการโกงกันอยู่ หลายคนอาจเข้าใจว่าต้องทุจริตที่เงิน แต่ไม่ใช่ เพราะอำนาจ ผลประโยชน์ และทรัพยากรก็มีส่วนต่อตำแหน่งหน้าที่ด้วย ทำให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบขึ้น รัฐบาลจึงต้องจัดตั้ง ศอ.ตช. ขึ้นมาเพื่อจัดการ จากองค์ประกอบที่ก่อให้เกิดการทุจริต มี 3 ด้าน คือ บุคคล องค์กร และกฎหมาย
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า สำหรับตัวบุคคล ผู้ที่มีปัญหามากที่สุด คือ ข้าราชการการเมือง หรือนักการเมือง กับข้าราชการประจำ เป็นส่วนที่ทำให้เกิดปัญหาทุจริตมากที่สุด โดยมีภาคธุรกิจเป็นส่วนประกอบในด้านผลประโยชน์มาหยิบยื่นให้ แต่ถ้านักการเมือง ข้าราชการประจำไม่ยอมรับซะอย่าง การทุจริตในผลประโยชน์ก็ไม่เกิดขึ้น ขณะที่ด้านองค์กร ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระ หรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ก็ยังพบปัญหาคดีคงามต่าง ๆ ที่ยังค้างคาอยู่ และองค์ประกอบสุดท้าย คือ กฎหมาย ที่ยังมีช่องว่างให้เกิดทุจริต เอื้อต่อข้าราชการ และล้าหลังอยู่ โดยเฉพาะระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง ส่งผลให้ไม่สามารถลงโทษคนผิดได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ศอ.ตช. สามารถแก้ไขปัญหาได้เพียงระยะสั้น โดยดึงเอาภาคเอกชน องค์กรอิสระ เข้ามาร่วมบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อดำเนินการจัดการกับนักการเมืองหรือข้าราชการประจำที่ทุจริต จะเห็นได้ว่า มีคำสั่งมาตรา 44 ออกมาเพื่อจัดการกับเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งศาลปราบทุจริตขึ้นมาอีกด้วย ยืนยันว่า ศอ.ตช. จะไม่ก้าวก่ายแทรกแซงองค์กรอิสระในการตรวจสอบทุจริต
“ผมอยากเรียนว่า มันไม่สามารถแก้ปัญหาได้ใน 2 ปีที่ผ่านมา เราทำได้เพียงระยะสั้น แต่ถ้าให้ผมประเมินก็ถือว่าดีขึ้น แต่เสียงประชาชนก็ยังพร่ำบ่นว่ามีการทุจริตอยู่ ผมเชื่อว่า การแก้ปัญหาระยะยาวคือ การมีศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต หรือ ศปท. ในทุกกระทรวง และจะต้องสายต่องานจากศอ.ตช. ด้วยในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 44 ที่ใช้โยกย้ายข้าราชการหรือมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมา ไม่ได้ช่วยแก้ไขได้ในระยะยาว เพราะเป็นการปรายปรามที่ต้องสูญเสียงบประมาณ นโยบายก็ติดขัด ดังนั้นเราต้องเน้นสร้างระบบป้องกันมากกว่ามาปราบปราม จะไม่เกิดการสูญเสียอีก สุดท้ายนี้เรามีเวลาบริหารประเทศอีก 1 ปี เราวางรากฐานปฏิรูปด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตไว้ค่อนข้างดีแล้ว ปีหน้ามีการเลือกตั้ง ขอให้ประชาชนช่วยเลือกคนดี มีคุณธรรม มาสานงานต่อให้ได้ เพราะทุจริตกว่า 40 ปีที่ผ่านมา ไม่สามารถแก้ได้ใน 2 ปี ยังไงก็ขอให้เลือกคนดี ๆ นะ” พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว