xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ลงนามปรับโครงสร้าง “สํานักเลขาธิการนายกฯ” เพิ่ม “กองงานนายกรัฐมนตรี” รับกลั่นกรองเรื่องร้องเรียนเฉพาะผลกระทบการเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“บิ๊กตู่” ลงนามปรับโครงสร้างสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพิ่ม “กองงานนายกรัฐมนตรี” ทำหน้าที่วิเคราะห์กลั่นกรองงานรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี รวมทั้งเรื่องร้องเรียนที่เป็นเรื่องเฉพาะ หรือมีผลกระทบทางการเมือง พร้อมเสนอความเห็นเพื่อประกอบการวินิจฉัยสั่งการ พร้อมจัดทํา “สุนทรพจน์ของนายกรัฐมนตรี” เป็นศูนย์กลาง “งานอํานวยการฝ่ายการเมือง” พร้อมคง “ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต” ที่จัดตั้งในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์

วันนี้ (29 ก.ค.) มีรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ สํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สํานักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๕๕๙

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๘ ฉ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๓ นายกรัฐมนตรีออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้ยกเลิก
(๑) กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สํานักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๕๕๑

(๒) กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สํานักนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๖

ข้อ ๒ ให้สํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มีภารกิจเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการ ด้านการเมือง ด้านวิชาการ ด้านเลขานุการ ตลอดจนเป็นศูนย์ประสานการบริหารราชการของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี รวมทั้งข้าราชการการเมืองสังกัดสํานักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มุ่งผลสัมฤทธิ์และเป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และเสริมสร้างภาพลักษณ์ผู้นําประเทศ โดยให้มีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) เสนอแนะและเร่งรัดการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายการบริหารประเทศ
(๒) อํานวยการและประสานงานกิจการทางการเมืองในนามรัฐบาลกับรัฐสภาและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
(๓) กํากับ ติดตาม และรายงานผลการดําเนินงานตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาล และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี รวมทั้งรับฟังความเห็นและประสานการให้ความช่วยเหลือประชาชนตามที่ได้รับมอบหมาย
(๔) เป็นศูนย์สารสนเทศเพื่อการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรี รวมทั้งเป็นศูนย์กลางประสานข้อสนเทศในระดับรัฐบาล
(๕) ดําเนินงานเกี่ยวกับงานพิธีการในนามรัฐบาล นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี รวมทั้งดําเนินการต้อนรับประมุข ผู้นํา และบุคคลสําคัญจากต่างประเทศเดินทางมาเยือนประเทศไทย
(๖) เผยแพร่และประชาสัมพันธ์นโยบาย ยุทธศาสตร์ และผลงานของรัฐบาล
(๗) ดําเนินงานด้านการต่างประเทศของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี และข้าราชการการเมืองสังกัดสํานักนายกรัฐมนตรี
(๘) รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และเสนอความเห็นเพื่อการสั่งการของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี รวมทั้งจัดทําวาระงาน ช่วยอํานวยการ และจัดเตรียมข้อมูลประเด็นการประชุมหารือ และคํากล่าวสุนทรพจน์
(๙) อํานวยการและประสานราชการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติราชการให้แก่นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี และข้าราชการการเมืองสังกัดสํานักนายกรัฐมนตรี
(๑๐) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกําหนดให้เป็นอํานาจหน้าที่ของสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีหรือตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

ข้อ ๓ ให้แบ่งส่วนราชการสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้
(๑) สํานักงานเลขาธิการ
(๒) กองการต่างประเทศ
(๓) กองงานนายกรัฐมนตรี
(๔) กองประสานงานการเมือง
(๕) กองประสานนโยบายและยุทธศาสตร์
(๖) กองพิธีการ
(๗) กองสถานที่ ยานพาหนะ และรักษาความปลอดภัย
(๘) ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
(๙) สํานักโฆษก

ข้อ ๔ ในสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้มีกลุ่มตรวจสอบภายใน เพื่อทําหน้าที่หลักในการตรวจสอบการดําเนินงานภายในสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และสนับสนุนการปฏิบัติงานของสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบงานขึ้นตรงต่อเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยมีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ดําเนินการเกี่ยวกับการตรวจสอบด้านการบริหาร การเงิน และการบัญชีของสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
(๒) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ ๕ ในสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้มีกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร เพื่อทําหน้าที่หลักในการพัฒนาการบริหารของสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีให้เกิดผลสัมฤทธิ์ มีประสิทธิภาพ และคุ้มค่ารับผิดชอบงานขึ้นตรงต่อเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยมีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) เสนอแนะให้คําปรึกษาแก่เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการภายในสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
(๒) ติดตาม ประเมินผล และจัดทํารายงานเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการภายในสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
(๓) ประสานและดําเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการร่วมกับหน่วยงานกลางต่าง ๆ และส่วนราชการในสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
(๔) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ ๖ ในสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้มีศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต เพื่อทําหน้าที่หลักในการบูรณาการและขับเคลื่อนแผนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและการส่งเสริมคุ้มครองจริยธรรมในสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบงานขึ้นตรงต่อเลขาธิการนายกรัฐมนตรีโดยมีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) เสนอแนะแก่เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รวมทั้งจัดทําแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของส่วนราชการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ และนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องเสนอต่อเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
(๒) ประสานงาน เร่งรัด และกํากับให้ส่วนราชการในสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีดําเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของส่วนราชการ
(๓) รับข้อร้องเรียนเรื่องการทุจริต การปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ในสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และส่งต่อไปยังส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(๔) คุ้มครองจริยธรรมตามประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน
(๕) ประสานงาน เร่งรัด และติดตามเกี่ยวกับการดําเนินการตาม (๓) และ (๔) และร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบกับส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(๖) ติดตาม ประเมินผล และจัดทํารายงานการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและการคุ้มครองจริยธรรม เสนอต่อเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(๗) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ ๗ สํานักงานเลขาธิการ มีอํานาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการทั่วไปของสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีและราชการอื่นที่มิได้แยกให้เป็นหน้าที่ของกองหรือส่วนราชการใดโดยเฉพาะ อํานาจหน้าที่ดังกล่าวให้รวมถึง
(๑) ดําเนินการเกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไปและปฏิบัติงานสารบรรณของสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
(๒) ดําเนินการเกี่ยวกับการจัดระบบงานและบริหารงานบุคคลของสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
(๓) ดําเนินการเกี่ยวกับการแต่งตั้งข้าราชการการเมืองสังกัดสํานักนายกรัฐมนตรี รวมทั้งการมอบอํานาจหน้าที่ให้แก่บุคคลดังกล่าว
(๔) ดําเนินการเกี่ยวกับการจัดทํา ประสาน ประเมินแผนงาน โครงการของสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
(๕) ดําเนินการเกี่ยวกับงานสวัสดิการของข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานราชการในสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
(๖) ดําเนินการเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี การงบประมาณ และการพัสดุของสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
(๗) เสนอความเห็นเกี่ยวกับกฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับในการปฏิบัติราชการให้แก่นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งการ
(๘) ดําเนินการเกี่ยวกับงานกฎหมายและระเบียบ งานนิติกรรมและสัญญา งานเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ และงานคดีที่อยู่ในอํานาจหน้าที่ของสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
(๙) ดําเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการ ลูกจ้างประจํา และพนักงานราชการ
(๑๐) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ ๘ กองการต่างประเทศ มีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ดําเนินการเกี่ยวกับการปฏิบัติงานด้านการต่างประเทศของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี และข้าราชการการเมืองสังกัดสํานักนายกรัฐมนตรี
(๒) วิเคราะห์สถานการณ์ระหว่างประเทศเพื่อกําหนดท่าทีและแนวนโยบายด้านต่างประเทศของรัฐบาล
(๓) จัดทําข้อมูลประกอบการสนทนากับประมุขและบุคคลสําคัญจากต่างประเทศที่เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี รวมทั้งจัดทําบันทึกข้อสนทนา เพื่อแจ้งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนําไปดําเนินการและติดตามผล
(๔) ติดตาม เร่งรัด และเสนอแนะแนวทางในการดําเนินการตามผลการเจรจากับต่างประเทศรวมทั้งการดําเนินการตามนโยบายและการสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
(๕) เป็นหน่วยกลางในการประสานงานกับส่วนราชการต่าง ๆ ในการกําหนดยุทธศาสตร์และการจัดทําแผนภารกิจด้านต่างประเทศของนายกรัฐมนตรี
(๖) จัดเตรียมการเยือนต่างประเทศของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี และประสานการต้อนรับบุคคลสําคัญจากต่างประเทศในฐานะแขกของรัฐบาล
(๗) ดําเนินการเกี่ยวกับการจัดทําสุนทรพจน์ สารแสดงความยินดี และหนังสือโต้ตอบภาษาต่างประเทศ
(๘) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ ๙ กองงานนายกรัฐมนตรี มีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) วิเคราะห์และกลั่นกรองเรื่องในความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี รวมทั้งเรื่องร้องเรียนที่เป็นเรื่องเฉพาะหรือมีผลกระทบทางการเมืองพร้อมเสนอความเห็นเพื่อประกอบการวินิจฉัยสั่งการ
(๒) วิเคราะห์ กลั่นกรอง และรวบรวมข้อมูล เพื่อจัดทําสุนทรพจน์ของนายกรัฐมนตรีรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรีในวาระต่าง ๆ รวมทั้งจัดทําคํากราบบังคมทูลฯ และหนังสือถวายพระพรชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์
(๓) วางแผน จัดทําวาระงาน ประสานงาน และดําเนินการเกี่ยวกับการเดินทางไปราชการภายในประเทศและการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี
(๔) เป็นศูนย์กลางงานอํานวยการฝ่ายการเมือง และประสานราชการกับส่วนราชการอื่นหน่วยงานของรัฐ องค์การมหาชนในกํากับดูแลของนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนภารกิจของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี
(๕) ประสานงานและดําเนินการเกี่ยวกับงานเลขานุการและงานสาธารณะสังคมให้แก่นายกรัฐมนตรีรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี
(๖) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ ๑๐ กองประสานงานการเมือง มีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ศึกษา วิเคราะห์ กลั่นกรอง และเสนอความเห็นทางการเมือง เพื่อประกอบการพิจารณาสั่งการของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี
(๒) วิเคราะห์ กลั่นกรอง และประมวลข้อมูล เพื่อเสนอความเห็นทางวิชาการและทางการเมืองในภารกิจด้านกิจการรัฐสภา เพื่อดําเนินการเกี่ยวกับงานคณะกรรมาธิการ ร่างพระราชบัญญัติ ญัตติกระทู้ถาม ข้อหารือ และงานอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับงานของรัฐสภา
(๓) วิเคราะห์ กลั่นกรอง และเสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีในงานที่เกี่ยวกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญ องค์กรทางการเมือง และองค์กรที่เกี่ยวกับการปฏิรูปกฎหมาย
(๔) เสนอความเห็นประกอบการจัดทําแผนนิติบัญญัติร่วมกับสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและเร่งรัดติดตามการดําเนินการตามแผนนิติบัญญัติ
(๕) ทําหน้าที่ฝ่ายเลขานุการให้แก่คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร และคณะกรรมการอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมาย
(๖) ประสานงานกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญ องค์กรทางการเมือง และหน่วยงานด้านนิติบัญญัติ
(๗) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ ๑๑ กองประสานนโยบายและยุทธศาสตร์ มีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) วิเคราะห์และประมวลข้อมูลด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาล เป็นฐานข้อมูลประเทศและประสานการดําเนินงาน การจัดทํานโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ตลอดจนการแถลงนโยบายของรัฐบาล
(๒) ศึกษา วิเคราะห์ กลั่นกรอง และเสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายรัฐบาล
(๓) วิเคราะห์ ติดตาม เร่งรัด และจัดทํารายงานผลการดําเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี
(๔) อํานวยการและบริหารจัดการงานตามภารกิจและกิจกรรม โครงการพิเศษ หรือเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาลหรือตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี
(๕) เป็นศูนย์กลางข้อมูลในการบูรณาการติดตามและเร่งรัดการดําเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี รวมทั้งประสานการให้ความช่วยเหลือประชาชนตามที่ได้รับมอบหมาย
(๖) ทําหน้าที่ฝ่ายเลขานุการให้แก่คณะกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี และคณะกรรมการอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมาย
(๗) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ ๑๒ กองพิธีการ มีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) วิเคราะห์ กลั่นกรองการกําหนดรูปแบบ หลักเกณฑ์ มาตรฐาน และให้คําปรึกษาเกี่ยวกับงานด้านพิธีการและแบบพิธีของรัฐบาล นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี
(๒) กลั่นกรองและดําเนินงานด้านพิธีการ และแบบพิธีในการเข้าร่วมงานพิธีทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี
(๓) กลั่นกรองการกําหนดถ้อยคํา และดําเนินการเขียนสารโต้ตอบกับต่างประเทศในประเด็นพิธีการทูตของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี
(๔) ดําเนินการจัดงานพระราชพิธี รัฐพิธี ศาสนพิธี แบบพิธี และพิธีการทูต ในนามรัฐบาลนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี
(๕) ประสานงานและดําเนินการเกี่ยวกับจัดการต้อนรับประมุข บุคคลระดับผู้นํา หรือบุคคลสําคัญจากต่างประเทศที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย ในฐานะพระราชอาคันตุกะ และในฐานะแขกของรัฐบาล
(๖) ดําเนินการจัดงานเลี้ยงและงานรับรองต่างๆ ในนามรัฐบาล นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี
(๗) ประสานงาน อํานวยความสะดวก และดําเนินการเกี่ยวกับงานพิธีการในกรณีนายกรัฐมนตรีคณะรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ในโอกาสตาง่ ๆ
(๘) ประสานงานและดําเนินการเกี่ยวกับการถวายความสะดวกในการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์
(๙) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ ๑๓ กองสถานที่ ยานพาหนะ และรักษาความปลอดภัย มีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ดําเนินการเกี่ยวกับอาคารสถานที่และยานพาหนะในความรับผิดชอบของสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
(๒) ดําเนินการเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย และการจัดระบบเครือข่ายวิทยุสื่อสารในความรับผิดชอบของสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
(๓) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ ๑๔ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) เป็นศูนย์กลางข้อมูลระบบเครือข่ายทางข้อมูล และระบบสารสนเทศทางการบริหารร่วมกับส่วนราชการทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยสั่งการ และรองรับการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี
(๒) ดําเนินการจัดทำระบบสารสนเทศทางการบริหารให้สํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
(๓) ประสานและติดตามนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของรัฐบาล
(๔) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย

ข้อ ๑๕ สํานักโฆษก มีอํานาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) กําหนดยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐบาล
(๒) เผยแพร่นโยบาย การปฏิบัติตามนโยบาย ยุทธศาสตร์ และผลงานของรัฐบาล และเป็นศูนย์ข่าวของรัฐบาลให้แก่ประชาชนและสื่อมวลชน
(๓) จัดทําข่าว ภาพ และโสตทัศน์เกี่ยวกับผลการประชุมคณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการของรัฐบาลชุดต่าง ๆ ตลอดจนภารกิจประจําวันของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เพื่อเผยแพร่แก่สื่อมวลชน
(๔) สรุป ประมวล และวิเคราะห์ข่าวจากสื่อมวลชนประเภทสิ่งพิมพ์ ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ เพื่อเสนอนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี
(๕) ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน และสื่อมวลชนสัมพันธ์ และกําหนดข้อปฏิบัติเพื่อดูแลและสนับสนุนงานสื่อสารมวลชนของรัฐบาล
(๖) ดําเนินการเกี่ยวกับงานด้านเลขานุการให้แก่โฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี และคณะ
(๗) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

ให้ไว้ ณ วันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๙

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงการแบ่งส่วนราชการและอํานาจหน้าที่ของสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สํานักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่เพิ่มขึ้นและเหมาะสมกับสภาพของงานที่เปลี่ยนแปลงไป อันจะทําให้การปฏิบัติภารกิจตามอํานาจหน้าที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น จึงจําเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

มีรายงานว่า ในการแบ่งส่วนราชการสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีตาม กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สํานักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๕๕๑ มีหน่วยงานในกำกับ 7 หน่วยงานได้แก่ สำนักบริหารกลาง สำนักการต่างประเทศ สำนักโฆษก สำนักประสานงานการเมือง สำนักพิธีการและเลขานุการ สำนักสถานที่และรักษาความปลอดภัยและศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ขณะที่ กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สํานักนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๖ เป็นการเพิ่มศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต เพื่อทําหน้าที่หลักในการบูรณาการและขับเคลื่อนแผนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและการส่งเสริมคุ้มครองจริยธรรมในสํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบงานขึ้นตรงต่อเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ขณะที่ กฎกระทรวงฉบับนี้ มีการเพิ่ม สํานักงานเลขาธิการ และ กองงานนายกรัฐมนตรี เข้ามาใหม่


กำลังโหลดความคิดเห็น