xs
xsm
sm
md
lg

เปิดไฟไล่โกง : สัญลักษณ์ความโปร่งใส

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

การโกงหรือที่เรียกกันในภาษาพื้นๆ ว่า การโกงกินหรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า การทุจริตคอร์รัปชัน หมายถึงการแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบ ผิดทั้งกฎหมายและศีลธรรม โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในภาครัฐในลักษณะ 3 ประสานคือ เกี่ยวข้องกับบุคคล 3 ประเภทได้แก่

1. นักธุรกิจ ซึ่งทำธุรกิจหรือค้าขายกับภาครัฐเป็นขาประจำ เกือบจะเรียกได้ว่าเป็นการผูกขาดมานานจนคุ้นเคยกับข้าราชการใหญ่น้อยเกือบทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนราชการซึ่งทำหน้าที่จัดซื้อจัดจ้างในหน่วยงานระดับกรมและระดับกระทรวง

2. ข้าราชการ ซึ่งเป็นกลไกของรัฐในการจัดซื้อจัดจ้างวัสดุอุปกรณ์ และว่าจ้างเอกชนทำงานให้รัฐ รวมไปถึงข้าราชการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่าย และส่วนงานด้านกฎหมายซึ่งรับผิดชอบเกี่ยวกับการทำสัญญา และส่วนราชการเจ้าของงานซึ่งกำหนดเงื่อนไขในการจัดซื้อจัดจ้าง

3. นักการเมือง ซึ่งดำรงตำแหน่งที่เอื้อประโยชน์ให้แก่พ่อค้าหรือข้าราชการประจำ จนเป็นหนี้บุญคุณหรือหุ้นส่วนในการหาประโยชน์จากภาครัฐ

การทุจริตในลักษณะ 3 ประสานนี้จะเกี่ยวข้องกับโครงการหรืองานที่มีวงเงินมากคุ้มค่าต่อการเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมาย และการทุจริตในลักษณะนี้เกิดขึ้นได้สองทางคือ

1. เกิดจากล่างขึ้นบนคือ เริ่มที่พ่อค้าเสนอผลประโยชน์ให้แก่ข้าราชการประจำ และข้าราชการประจำเสนอข้าราชการการเมือง เพื่ออนุมัติหรือผลักดันให้เกิดการอนุมัติ

2. เริ่มจากพ่อค้าเสนอข้าราชการการเมืองเพื่อสั่งการให้ข้าราชการประจำดำเนินการ นอกจากทุจริตอันเกิดจากการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว ทุจริตในภาครัฐยังเกิดจากส่วนราชการที่ทำหน้าที่ให้บริการความสะดวกแก่ประชาชน ซึ่งต้องการขออนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจหรือทำธุรกรรมกับรัฐ เช่น กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต เป็นต้น

ข้าราชการในส่วนราชการเหล่านี้ มีการแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบ ด้วยการปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลหรือนิติบุคคล และทำให้รัฐเกิดความเสียหายแล้วเรียกร้องผลประโยชน์เป็นเครื่องตอบแทน โดยความยินยอมของผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือ

ในปัจจุบันการทุจริตในลักษณะนี้ลดลง เนื่องจากส่วนราชการต่างๆ ได้ออกระเบียบและวิธีปฏิบัติรัดกุมขึ้น และปิดช่องทางหาประโยชน์ จะเห็นได้จากกรมขนส่งทางบก เมื่อก่อนนี้การทำใบขับขี่และการต่อทะเบียนรถต้องรอเข้าคิวยาวเสียเวลา เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่เข้ามารับอาสาทำให้ โดยการได้รับความร่วมมือจากข้าราชการในส่วนราชการนั้นแล้วเรียกเก็บผลประโยชน์มาแบ่งกัน แต่เดี๋ยวนี้หน้าที่พวกนี้หมดไปเนื่องจากได้มีการปรับปรุงระบบทำให้งานสะดวกรวดเร็วไม่ต้องรอเข้าคิว และในส่วนราชการอื่นๆ ก็ค่อยๆ ดีขึ้น

แต่ในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้าง ก็ยังคงมีช่องทางให้การทุจริตเกิดขึ้นได้ และดูเหมือนจะซักซ้อมมากกว่าเดิม และจำนวนเงินที่เสียไปจากการทุจริตก็มากขึ้นด้วย

ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีข่าวบิ๊กตู่เปิดไฟไล่คนโกง และป๋าเปรมให้ประจานข้าราชการทุจริตพาดหัวหนังสือพิมพ์คนไทยทั้งประเทศ จึงเบาใจว่าต่อจากนี้ไปการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐจะลดลง และเกิดประกายความหวังขึ้นมาในทันที เมื่อได้อ่านคำพูดของป๋าเปรมที่ว่า ประเทศไทยต้องเป็นชาติที่ไม่โกง ควรจำกัดที่อยู่คนโกง เช่น ในคุก ต้องทำให้คนที่โกงรู้สึกอับอายที่โกง และตอนหนึ่งของการปาฐกถาโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ 2559 ที่ว่า

“เป็นนิมิตหมายอันดีของประเทศไทยที่จะก้าวข้ามกับดักการทุจริตของตัวเอง เรื่องการทุจริตเป็นกับดักของประเทศไทยที่ทำให้เราเดินไปได้ช้า เกิดความขัดแย้งแตกแยก สังคมมีปัญหาทำให้ประเทศเดินไปไม่ได้ ไม่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ ซึ่งการแก้ไขปัญหา 40 ปีในวิธีเดิมๆ วันนี้เราต้องหาวิธีการใหม่ให้แก้ได้ผลสัมฤทธิ์ แต่ก็เป็นไปได้ยากเพราะทุกอย่างต้องเกิดด้วยมนุษย์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องพัฒนาเป็นสิ่งแรก หลังจากที่ประเทศไทยประสบปัญหานี้มานาน และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งถึงก่อนเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นหน้าที่ของทุกรัฐบาล ไม่ได้เข้ามาเพื่อจับผิดใคร รังแกใครอย่างที่ถูกกล่าวอ้างเสมอมา หน้าที่ของรัฐบาลเข้ามาอำนวยความสะดวกแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ให้กระทบในทุกภาคส่วน อนาคตสำคัญที่สุดว่าจะทำอย่างไรให้ปลอดภัยในโรดแมประยะที่ 1, 2 และ 3 การทุจริตจะต้องลดน้อยลงหรือไม่มีเลย แต่วันนี้ก็อย่างที่ว่า ก็ยังมีอยู่โดยเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม หน้าที่เราทำอย่างไรให้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าได้ ไม่ทาบทับหน้าที่เขา หน้าที่เขามีอยู่ เว้นแต่ใครไม่ทำก็ถูกลงโทษ กระบวนการยุติธรรมก็ถูกลงโทษเช่นกัน”

ทั้งหมดที่ยกมาเป็นเพียงบางส่วนของคำพูดของอดีตนายกฯ และนายกฯ คนปัจจุบันซึ่งแสดงถึงความตั้งใจที่จะเห็นประเทศไทยปราศจากการโกง

ส่วนในความเป็นการโกงกินหรือกระทั่งการโกงเก็บจะหมดไปได้หรือไม่ หมดไปเมื่อไหร่ และด้วยวิธีการใดนั้นจะต้องรอดูกันต่อไป

แต่อย่างไรก็ตาม จากคำพูดของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ จากคำพูดของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและประธาน คสช.แล้วคนไทยพอจะมองเห็นแสงสว่างของประเทศไทยว่าสักวันหนึ่งในอนาคตปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน จะได้รับการแก้ไขและป้องกันมิให้เกิดขึ้นเป็นโรคร้ายบั่นทอนเศรษฐกิจของประเทศอีกต่อไป

แต่การที่ปัญหาการโกงกินจะลดลงและหมดไปได้ จะอนุมานได้จากปัจจัย 3 ประการดังต่อไปนี้

1. ผู้คนในสังคมจะต้องกีดกันมิให้คนโกงมีที่ยืนในสังคม โดยการให้ความร่วมมือกับรัฐขจัดคนโกง

2. ข้าราชการที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการแก้ไขป้องกันการทุจริต โดยใช้กฎหมายเป็น เครื่องมือจะต้องมีความเด็ดขาดรวดเร็ว และเป็นธรรม

3. ฝ่ายศาสนจักร และสถานศึกษาจะต้องปลูกคุณธรรม และจริยธรรมเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันให้ความโลภครอบงำ และก่อกรรมทุจริตเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตนเองต้องการ

ถ้าปัจจัย 3 ประการนี้เกิดขึ้นพร้อมกัน และเป็นไปอย่างต่อเนื่องยาวนาน เชื่อได้ว่าการโกงกินจะลดลง และหมดไปจากสังคมแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น