หัวหน้า คสช.ลงนาม ม.44 เพิ่มโทษ-ค่าปรับ “เจ้าของเรือประมงพาณิชย์” ฝ่าฝืนไม่ส่งคืนใบทะเบียนเรือภายในระยะเวลาที่กําหนด ห้ามปลดเครื่องมือติดตรึงพังงาเรือ หรือเคลื่อนย้ายเรือประมงออกจากจุดที่แจ้งจอดเรือ ระวางโทษปรับไม่น้อยกว่า 4 แสนบาท แต่ไม่เกิน 8 แสนบาทต่อคนประจําเรือหนึ่งคน พร้อมห้ามออกใบอนุญาตใหม่ให้เรือประมงที่ถูกดำเนินคดี
วันนี้ (9 ก.ย.) ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 53/2559 เรื่องการแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ดังนี้
“ตามที่ประเทศไทยได้มีการบังคับใช้พระราชกําหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ เพื่อกําหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการทําการประมงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลมาแล้วระยะเวลาหนึ่งแต่โดยที่สภาพข้อเท็จจริงของการทําการประมงในบางกรณีนั้น อาจนําไปสู่ปัญหาสําคัญอื่นหรือมีผลกระทบต่อสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศได้โดยง่าย หรือไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เช่น ปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหาการขาดมาตรการในการควบคุม เฝ้าระวังและขาดการติดตาม ซึ่งประเด็นปัญหาเหล่านี้จําเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็วและทันท่วงที ซึ่งหากล่าช้าหรือต้องรอกระบวนการตามขั้นตอนปกติจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของนานาประเทศโดยเฉพาะต่อการรับการตรวจประเมินโดยสหภาพยุโรปในการแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมายของประเทศไทย
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ เจ้าของหรือผู้ครอบครองเรือประมงพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการประมงที่ไม่มีทะเบียนเรือหรือมีทะเบียนเรือแต่ไม่มีใบอนุญาตทําการประมง ต้องแจ้งจุดจอดเรือโดยระบุสถานที่จอดเรือให้ชัดแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรต่อผู้อํานวยการสํานักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาในเขตที่จะจอดเรือภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ และให้ผู้อํานวยการสํานักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายมีอํานาจสั่งติดเครื่องมือติดตรึงพังงาเรือและทําเครื่องหมายบนเรือประมงลําดังกล่าวตามระเบียบที่กรมเจ้าท่าประกาศกําหนด
ห้ามมิให้ผู้ใดปลดเครื่องมือติดตรึงพังงาเรือหรือเคลื่อนย้ายเรือประมงออกจากจุดที่แจ้งจอดเรือตามวรรคหนึ่ง เว้นแต่จะมีเหตุจําเป็นและได้รับอนุญาตจากผู้อํานวยการสํานักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายในเขตที่จอดเรือ หรือกรณีมีเหตุฉุกเฉินให้สามารถปลดเครื่องมือติดตรึงพังงาเรือหรือเคลื่อนย้ายเรือประมงออกจากจุดที่แจ้งจอดเรือได้ โดยต้องแจ้งต่อผู้อํานวยการสํานักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภายในสิบสองชั่วโมงนับแต่เวลาที่มีการเคลื่อนย้ายเรือประมง
ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองเรือประมงที่ได้ดําเนินการตามวรรคหนึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องติดตั้งระบบติดตามเรือประมงตามข้อ ๖ (๒) ของคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๐/๒๕๕๘เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ลงวันที่ ๒๙ เมษายนพุทธศักราช ๒๕๕๘
ข้อ ๒ ในกรณีเรือประมงตามข้อ ๑ มีทะเบียนเรือแต่ไม่มีใบอนุญาตทําการประมงหากเจ้าของเรือไม่ดําเนินการแจ้งของดใช้เรือหรือขอเปลี่ยนประเภทเรือต่อเจ้าท่าตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยภายในสามสิบวันนับจากวันที่คําสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ให้นายทะเบียนเรือตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทยมีคําสั่งเพิกถอนทะเบียนเรือไทยและจําหน่ายทะเบียนเรือออกจากสมุดทะเบียน
เมื่อได้มีคําสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนเรือแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของเรือส่งคืนใบทะเบียนเรือภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากนายทะเบียนเรือ
ข้อ ๓ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมจํานวนเรือประมง ให้กรมเจ้าท่ามีอํานาจออกประกาศงดการจดทะเบียนเรือไทยสําหรับการประมงเป็นการชั่วคราว หรือกําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจดทะเบียนเรือไทยและการงดใช้เรือสําหรับการประมงเป็นการเฉพาะได้
ข้อ ๔ ห้ามมิให้เจ้าของหรือผู้ควบคุมเรือประมงพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการประมงขนถ่ายคนประจําเรือระหว่างนําเรือออกไปทําการประมง เว้นแต่เพื่อความปลอดภัยของคนประจําเรือหรือมีปัญหาข้อพิพาทหรือตามความประสงค์ของคนประจําเรือ หรือในกรณีมีเหตุสุดวิสัยอื่น โดยให้แจ้งต่อศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออกทันที
ข้อ ๕ เจ้าของหรือผู้ครอบครองเรือประมงพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการประมงผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ ๑ วรรคหนึ่ง หรือวรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทสําหรับเรือขนาดสิบตันกรอส และปรับเพิ่มขึ้นตามขนาดของเรือในส่วนที่เกินสิบตันกรอสขึ้นไปตันกรอสละหนึ่งพันบาท
ข้อ ๖ ผู้ใดไม่ส่งคืนใบทะเบียนเรือภายในระยะเวลาที่กําหนดในข้อ ๒ วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
ข้อ ๗ เจ้าของหรือผู้ควบคุมเรือผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อ ๔ ต้องระวางโทษปรับไม่น้อยกว่าสี่แสนบาทแต่ไม่เกินแปดแสนบาทต่อคนประจําเรือหนึ่งคน
ข้อ ๘ บรรดาความผิดตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๐/๒๕๕๘ เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ลงวันที่ ๒๙ เมษายนพุทธศักราช ๒๕๕๘ คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๒๔/๒๕๕๘ เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพิ่มเติม ลงวันที่ ๕ สิงหาคมพุทธศักราช ๒๕๕๘ และคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔๒/๒๕๕๘ เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพิ่มเติมครั้งที่ ๒ ลงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายนพุทธศักราช ๒๕๕๘ และตามคําสั่งนี้ ให้อธิบดีกรมประมงหรืออธิบดีกรมเจ้าท่า แล้วแต่กรณีมีอํานาจเปรียบเทียบได้
ข้อ ๙ ในการเปรียบเทียบตามข้อ ๘ อธิบดีกรมประมงหรืออธิบดีกรมเจ้าท่ามีอํานาจมอบหมายให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการประมง กฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย หรือกฎหมายว่าด้วยเรือไทย แล้วแต่กรณี ดําเนินการเปรียบเทียบได้โดยจะกําหนดหลักเกณฑ์ในการเปรียบเทียบหรือเงื่อนไขประการใด ๆ ให้แก่ผู้ได้รับมอบหมายตามที่เห็นสมควรก็ได้
ให้พนักงานสอบสวนที่ได้รับมอบหมายตามวรรคหนึ่งมีอํานาจดําเนินการเปรียบเทียบได้แม้จะอยู่นอกเขตอํานาจของตน
เมื่อผู้ต้องหาได้ชําระค่าปรับตามจํานวนที่ได้เปรียบเทียบตามข้อ ๘ ภายในระยะเวลาที่กําหนดซึ่งต้องไม่เกินสามสิบวัน ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ข้อ ๑๐ ให้บรรดาใบอนุญาตให้ออกไปทําการประมงในน่านน้ําของรัฐต่างประเทศและในทะเลหลวงที่ได้ออกให้ตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๐/๒๕๕๘ เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ลงวันที่ ๒๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๘เป็นใบอนุญาตทําการประมงนอกน่านน้ำไทยตามพระราชกําหนดการประมง พุทธศักราช ๒๕๕๘ จนกว่าจะสิ้นอายุใบอนุญาตหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต
ข้อ ๑๑ ห้ามมิให้ผู้มีอํานาจในการออกใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการประมงออกใบอนุญาตทําการประมงนอกน่านน้ำไทยให้แก่ผู้ยื่นคําขอซึ่งอยู่ในระหว่างการดําเนินคดีตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือตามพระราชกําหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ ทั้งนี้ จนกว่าผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทําการประมงผิดกฎหมายจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น
ข้อ ๑๒ ในกรณีจําเป็น ให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแก้ไขเปลี่ยนแปลงคําสั่งนี้ได้
ข้อ ๑๓ คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ ๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๙
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ”