สนช.จ่อพิจารณางบปี 60 พฤหัสฯ นี้ ขณะที่ กมธ.เสนอ 7 ข้อสังเกตแนบท้าย ระบุองค์กรมหาชนหน้าที่ซ้ำซ้อนควรยุบเลิก ปรามศาล-องค์กรอิสระจัดทำหลักสูตรอบรมร่วมข้าราชการระดับสูง เหตุเป็นหน่วยงานตรวจสอบหน่วยงานอื่น แนะรัดเข็มขัดงบสัมมนา-พีอาร์ ชี้รัฐสภาต้องปฏิรูประบบบริหารงาน พร้อมเพิ่มอำนาจประธานรัฐสภาโยกย้ายข้ามห้วยได้ เสนอ “อัยการสูงสุด” ออกมาตรการกันหลอกเงินชาวบ้านวิ่งเต้นคดี
วันนี้ (5 ก.ย.) คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ที่มีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เป็นประธาน ได้ส่งร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่ผ่านการพิจารณาแล้วให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่ในวันที่ 8 ก.ย.
โดยได้มีการรายงานถึงการเพิ่มงบประมาณจำนวน 19 รายการ รวมเป็น 17,980,242,800 บาท อาทิ งบกลาง เพิ่มขึ้น 5,097,423,100 บาท เพื่อเป็นเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐ สำหรับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมาย และไม่สามารถปรับแผนการดำเนินงาน จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐและใช้จากแหล่งเงินอื่นได้
กระทรวงกลาโหม เพิ่มขึ้น 220,000,000 บาท เพื่อเตรียมความพร้อมของกำลังผลและยุทโธปกรณ์ในการปกป้องอธิปไตยและการรักษาความมั่นคงภายในของประเทศในความรับผิดชอบของกองทัพบก หน่วยงานรัฐสภา เพิ่มขึ้น 128,454,600 บาท แบ่งสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา 66,212,200 บาท เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่สนับสนุนภารกิจของฝ่ายนิติบัญญัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการให้ความรู้ การสื่อสาร การประชาสัมพันธ์ สร้างภาพลักษณ์ รวมไปถึงส่งเสริมความสัมพันธ์กับองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 62,242,400 บาท เพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลและพัฒนาสมรรถนะของบุคลากรให้มีประสิทธิภาพ และการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ด้านการเมืองในระบอบประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมกับการปฏิรูปประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการฯ มีข้อสังเกตที่เป็นสาระสำคัญ ดังนี้ 1. การปฏิรูประบบการจัดทำงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 หน่วยงานส่วนใหญ่มีแนวโน้มมุ่งผลสัมฤทธิ์มากขึ้น แต่มีบางหน่วยงานที่ยังคงใช้การจัดทำงบประมาณแบบเดิม ไม่มีเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจน ทั้งนี้ กระทรวงและหน่วยงานต่างๆ จะต้องมีการพิจารณาทบทวนการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และตัวชี้วัดของกระทรวงและหน่วยงานให้สะท้อนถึงความสำเร็จของงาน และเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 (พ.ศ. 2560-2579) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ที่มีประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง
2. การจัดเก็บรายได้ของประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีควรศึกษาโครงสร้างภาษีของประเทศต่างๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงโครงสร้างภาษีของประเทศไทยให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับความจำเป็น ในการใช้จ่ายงบประมาณของประเทศและสามารถจัดเก็บรายได้ได้มากขึ้น เช่น การปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งกฎหมายกำหนดให้จัดเก็บได้ถึง 10% เพื่อให้สามารถนำรายได้ดังกล่าวมาใช้ภารกิจตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล ซึ่งยังได้รับจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอ
3. สำหรับกรณีองค์การมหาชนบางแห่งที่มีภารกิจซ้ำซ้อน หรือมีภารกิจ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่น หรือภาคกิจหมดความจำเป็นแล้ว หรือเป็นภารกิจที่ไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ ต้องพิจารณาทบทวน ตรวจสอบ และประเมินศักยภาพองค์การมหาชน ตามระบบการบริหารผลการปฏิบัติงาน ว่าหน่วยงานนั้นๆ ควรดำเนินการต่อตามสถานภาพเดิมหรือยุบรวมไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานหลัก หรือยุบเลิกองค์กร
4. หน่วยงานของศาล และหน่วยงานอิสระของรัฐ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ใน การตรวจสอบ กำกับ และควบคุมหน่วยงานอื่นๆ ไม่ควรจัดทำหลักสูตรโครงการฝึกอบรมที่นำบุคลากรในองค์กรของตนมาอบรมร่วมกับข้าราชการระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ และเอกชน เพราะจะเกิดเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ระหว่างกัน จนอาจมีผลกระทบต่อการทำหน้าที่ตรวจสอบกำกับและควบคุมหน่วยงานอื่นๆ ได้ รวมทั้งให้ถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง การพัฒนาบุคลากรภาครัฐโดยการจัดหลักสูตรฝึกอบรมของหน่วยงานต่างๆ โดยเคร่งครัด
5. กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) และกองทุนเงินให้กู้เงินยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ควรทบทวนแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้เป็นหน่วยงานที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาการศึกษาอย่างแท้จริง โดย กยศ.ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ตามหลักการที่รัฐต้องจัดสวัสดิการให้เด็กเรียนฟรี 15 ปี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และไม่ควรเรียกเก็บค่าการศึกษาใดๆ เพิ่มขึ้น สำหรับ กรอ.ต้องทบทวนการกำหนดหลักเกณฑ์การให้กู้ยืมโดยใช้คะแนนผลการศึกษา รวมทั้งการติดตามทวงหนี้โดยใช้วิธีจ้างทนายความหรือใช้มาตรการเครดิตบูโร ถือเป็นการทำร้ายเด็กและเยาวชน
6. รัฐสภาจำเป็นต้องได้รับการปฏิรูประบบการบริหารงานอย่างเร่งด่วนเพื่อเพิ่มภาพลักษณ์และความสง่างามของความเป็นรัฐสภาไทยให้ทัดเทียมกับรัฐสภาต่างประเทศ โดยต้องเริ่มต้นตั้งแต่การแยกพื้นที่การประชุม พื้นที่ทำงาน และพื้นที่บริการให้ชัดเจน มีการใช้เครื่องควบคุมเพื่อคัดกรองคนผ่านเข้า-ออกแต่ละพื้นที่อย่างเข้มงวด อีกทั้งต้องปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้ประธานรัฐสภามีอำนาจในการบริหารและเคลื่อนย้ายการใช้ทรัพยากรระหว่างสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาและสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรให้มีความคล่องแคล่วและเหมาะสมกับสถานการณ์ รวมถึงกำหนดจำนวนอัตรากำลังและการพัฒนาขีดความสามารถของข้าราชการให้มีความสมดุลกับปริมาณงานที่แต่ละสภาต้องรับผิดชอบ
7. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ควรให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการพิจารณาคดีทุจริตที่มีความล่าช้า และกำหนดมาตรการลงโทษกับผู้รับผิดชอบทำคดีที่ปล่อยให้คดีหมดอายุความ เพื่อกระตุ่นให้การดำเนินงานมีความรวดเร็วขึ้น 8. สำนักงานอัยการสูงสุด ให้มีการเน้นย้ำในการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม ให้กับอัยการประจำจังหวัดต่างๆ รวมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้ประขาชนถูกหลอกลวงให้จ่ายเงินในการวิ่งเต้นคดี