xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางใหม่ประชาธิปัตย์ “เปลี่ยนหัว” สายกำนันกุมบังเหียน!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมืองไทย 360 องศา


หากสำรวจความเคลื่อนไหวทางการเมืองในภาพรวม ๆ เวลานี้ แม้ว่าดูภายนอกจะยังไม่เห็นเป็นชิ้นเป็นอัน เนื่องจากมันยังไม่ถึงเวลา และยังอยู่ในช่วงที่ช่วงที่มีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ห้ามเคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางการเมืองทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง หรือนักการเมือง ดังนั้น ในทางเปิดเผยจึงย่อมไม่เห็นการเคลื่อนไหวดังกล่าวออกมา

อย่างไรก็ดี ในทางลึกแบบส่วนตัว ย่อมต้องมีความเคลื่อนไหวกันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าไม่เป็นทางการ ย่อมต้องมีการต่อสายพูดคุยกันเป็นเรื่องธรรมดา ขณะเดียวกัน ในระหว่างที่รอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกำลังแก้ไขบทเฉพาะกาลบางมาตราให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงที่ผ่านประชามติแล้วส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วประกาศใช้

ขณะเดียวกัน จากนั้นก็ต้องรอกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็ย่อมมีกฎหมายพรรคการเมืองรวมอยู่ด้วย ก็ต้องรออีกพักหนึ่ง

แต่ระหว่างรอก็พอมองเห็นความเคลื่อนไหว และสัญญาณจากบางพรรคการเมืองออกมาให้เห็นบ้างแล้วว่าในอนาคตน่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงภายในกันขนานใหญ่พอสมควร ซึ่งน่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ค่อนข้างแน่ ซึ่งนั่นก็เป็นผลมาจากแรงสั่นสะเทือนจากผลของการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เพิ่งผ่านพ้นไป

รับรู้กันอยู่แล้วว่า ก่อนหน้านี้ก่อนที่มีการลงประชามติ มีความเคลื่อนไหวแบ่งออกเป็นสองขั้นใหญ่อย่างชัดเจน นั่นคือฝ่ายไม่รับที่นำโดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน ที่ได้รับการหนุนหลังจากทีม “ขาใหญ่” ระดับผู้อาวุโสครบครัน เช่น ชวน หลีกภัย บัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นต้น ขณะที่อีกฝ่ายคือฝ่ายรับ นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรค ที่ผันตัวเองออกมาเป็นแกนนำ กปปส. พร้อมกับสมาชิกพรรคอีกหลายคน มองจากภาพภายนอกในตอนนั้นย่อมมองเห็นชัดเจนเป็นการประลองกำลังอย่างชัดเจน แม้ว่าจะมีความพยายามอธิบายให้สวยหรูว่าประชาธิปไตยย่อมมีความเห็นต่างกันได้ และทุกอย่างขึ้นอยู่กับความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ก็ตาม

ผลที่ออกมาอย่างที่รู้กัน คือ “ฝ่ายรับ” เป็นฝ่ายชนะ แม้ว่าผลที่ออกมาดังกล่าวย่อมมีปัจจัยและองค์ประกอบหลายอย่าง แต่หากโฟกัสกันเฉพาะภายในพรรคประชาธิปัตย์มันย่อมแสดงให้เห็นถึงพลังของแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน แม้ว่าฝ่ายสนับสนุนให้รับที่นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ จะมีความเชื่อมโยงกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ระดับหัวขบวนในศูนย์อำนาจใหม่ปัจจุบันก็ตาม แต่เอาเป็นว่าเมื่อชาวบ้านส่วนใหญ่โหวตหนุนฝ่ายรับ และโหวตสวนฝ่ายที่สนับสนุนไม่ให้รับที่นำโดย อภิสิทธิ์-ชวน-บัญญัติ แบบชัดเจน พิจารณาจากพื้นที่เฉพาะทางภาคใต้ หรือแม้แต่ในบางพื้นที่ เช่น จังหวัดตรัง ก็พ่ายแพ้หลุดลุ่ย ภาคใต้โหวตเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้น

ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งมันก็สะท้อนให้เห็นถึงความถดถอยของอีกฝ่ายอย่างชัดเจน ซึ่งนั่นยังต้องหมายรวมไปถึงแรงสั่นสะเทือนที่มีไปถึงทีมบริหารในพรรคประชาธิปัตย์ในปัจจุบัน ที่นำโดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ดังนั้น อย่าได้แปลกใจที่จะต้องมีการคาดหมายกันว่าในอนาคตข้างหน้าหากมีการไฟเขียวอนุญาตให้พรรคการเมืองมีการประชุมจัดกิจกรรมทางการเมืองได้ อย่างน้อยก็น่าจะหลังจากที่กฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับที่เร่งด่วนผ่านสภานิติบัญญัติไปแล้วก็น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในทีมผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดใหม่ไม่มากก็น้อย หากให้เดาจริงน่าจะต้องออกมาในแบบ “ผ่าตัด” กันเลยแหละ และถึงขั้นอาจเปลี่ยนหัวหน้าพรรคใหม่กันทีเดียว

หากพิจารณาจากแนวโน้มมันก็มองเห็นอีกว่า การเปลี่ยนแปลงในพรรคประชาธิปัตย์ถ้าเกิดขึ้นจริงในอนาคตนอกจากในเรื่องทีมบริหารภายในแล้ว ยังต้องเชื่อมโยงไปถึงข้างนอก ที่อาจเชื่อมโยงไปถึงนายกรัฐมนตรีคนต่อไปอีกด้วย และแม้ว่ายังอีกไกล แต่เท่าที่เห็นความเคลื่อนไหวและสัญญาณสั้น ๆ ที่เพิ่งออกมาจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แบะท่าพร้อมจะเป็นนายกฯ อีกรอบหากเป็นการมาแบบ “สง่างาม” หากการตีความไม่ผิดเพี้ยนมันก็ต้องหันไปมองฝ่ายของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่มีพลังอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์อีกด้วย มันก็เริ่มเข้าเค้าแล้วใช่หรือเปล่า

เข้าเค้าในความหมายทีละช็อต ๆ นั่นคือ หากมีการเปลี่ยนแปลงในพรรคนี้จริง และสายของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ขึ้นมากุมส่วนสำคัญ มันก็ย่อมมีผลไปถึงแนวทางการสนับสนุนนายกรัฐมนตรีคนใหม่อีกด้วย ซึ่งเป็นไปได้ที่จะสนับสนุน “นายกฯ คนนอก” โดยเส้นทางแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุค “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และทำไมจะเกิดขึ้นซ้ำอีกไม่ได้ในยุคหลังเลือกตั้งปี 60 เนื่องจากเวลานี้เส้นทางเดิม ๆ กำลังหมุนมาอีกรอบ โดยเฉพาะการวางขุมข่ายกำลังอย่างรัดกุม โดยเฉพาะในกองทัพบกที่ “ปลดล็อก” ประสานมือค้ำยันกันอย่างลงตัว

ดังนั้น ถ้าให้สรุปล่วงหน้า แม้จะดูยังอีกไกล แต่ก็เดาไว้ล่วงหน้ากันก่อนก็คือ น่าจะมีแนวโน้มสูงทีจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในพรรคประชาธิปัตย์ขนานใหญ่พอสมควร ส่วนจะถึงขั้นเปลี่ยนหัวเปลี่ยนทีม เป็นสายกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ ขึ้นมากุมบังเหียนแทน เพื่อผลต่อความมั่นคงในเก้าอี้นายกฯ ในอนาคตหรือไม่มันก็เริ่มมองเห็นเงาบ้างแล้วไม่ใช่หรือ!
กำลังโหลดความคิดเห็น