เมืองไทย 360 องศา
อีกไม่กี่วันก็ถึงวันที่ 7 สิงหาคม กำหนดวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นาทีนี้ยังไม่อาจประกาศจะออกมาล่วงหน้าว่าเป็นแบบไหน แม้ว่าจะพอรู้แนวโน้มเลาๆบ้างแล้ว เพียงแต่ว่าจะเกิดปัญหาชี้นำหมิ่นเหม่ผิดกฎหมายก็ต้องเก็บเงียบเอาไว้ก่อน แต่ก็เชื่อว่าหลายคนก็พอคาดเดาได้ไม่ยาก ด้วยการวัดจากปฏิริยาสังคมต่อคสามเห็นและท่าทีของบรรดานักการเมืองทั้งหลาย
อย่างไรก็ดีก่อนจะถึงวันดังกล่าว ก็ขอเลี้ยวมาที่พรรคประชาธิปัตย์เสียก่อนว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น มีผลกระทบต่อปัจจุบันและอนาคตอย่างไรบ้าง หลังจากที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคได้ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อ้างว่าไม่ตอบโจทย์ปัญหาสำคัญของบ้านเมืองดังที่ทราบกันไปแล้ว แม้ว่าไม่ใช่เรื่องใหม่เป็นที่คาดเดากันได้อยู่แล้ว เพราะก่อนหน้านี้พวกเขาก็ได้แสดงท่าทีออกมาให้เห็นแล้ว เพียงแต่ว่าไม่ได้พูดออกมาว่า"ไม่รับ"เท่านั้นเอง
แต่จากคำว่า "ไม่รับ"ดังกล่าวของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แล้วตามมาด้วยเสียงประสานจากบรรดาลูกพรรค สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อีกเป็นพรวน มันก็ฉายภาพภายในได้ชัดเจน พลันเมื่อมีเสียงจากอีกฟากหนึ่งนำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. และยังเป็นอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ประกาศไปอีกทางว่า "รับ"ครับ แถมยังแอ่นอกลงทุนช่วยโปรโมทให้อย่างเต็มหน้าตักยืนยันว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่สุดยอด สร้างความหวังให้กับบ้านเมือง ทั้งในเรื่องการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมือง การใช้อำนาจมิชอบ และที่สำคัญเป็นความหวังของการปฏิรูปในวันข้างหน้า ล่าสุดยังมีการลงรูปบรรดาแกนนำกปปส.อีกชุดหนึ่งเป็นการรณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญทางอ้อมอีกทางหนึ่งด้วย และที่น่าสังเกตก็คือนอกจาก สุเทพ เทือกสุบรรณ แล้ว ก็มีพวกแกนนำทั้งหมดที่เวลานี้ยังอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์
นี่ว่ากันเฉพาะสองแนวทางสองฝ่ายในพรรคประชาธิปัตย์ต่อการโหวตรร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังจะลงมติกันในวันที่ 7 สิงหาคม อย่างไรก็ดีหากพิจารณากันแบบให้เข้าใจง่ายก็คือเวลานี้ในพรรคประชาธิปัตย์กำลังแบ่งออกเป็นสองพวกใหญ่ แม้จะอ้างว่านี่คือประชาธิปัตย์ที่ย่อมเห็นต่างแต่ไม่แตกแยกก็ว่ากันไป เพราะที่ผ่านมาไม่เห็นเป็นแบบที่ว่าสักที สองพวกที่ว่าก็คือ ฝ่ายที่มี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะออกมาโดยมีระดับขาใหญ่หนุนอยู่ข้างหลังคือ ชวน หลีกภัย บัญญัติ บรรทัดฐาน และทีมผู้บริหารพรรคในสายของคนพวกนี้จำนวนหนึ่ง ขณะที่อีกพวกหนึ่งก็ชัดเจนคือ กลุ่ม สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่เคยร่วมทีมกปปส.และเป็นแกนนำ
ที่บอกว่านี่คือความเด่นของประชาธิปัตย์คือแตกต่างแต่ไม่แตกแยก แต่ที่ผ่านมาหากสังเกตจะเห็นรายการแขวะตามมาให้ได้ยินชัด ทั้งจาก"ขาใหญ่"อย่าง ชวน หลีกภัย ที่ยกอุดมการณ์พรรคในเรื่องที่ไม่เดินตามเผด็จการ หรือเสียงของระดับลูกหาบบางคนที่เหน็บแนมทำนองว่า สุเทพ เทือกสุบรรณ ทำตามคำขอหรือ"ใบสั่ง"จากบิ๊กในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)บางคน แค่นี้ก็ได้เห็นร่องรอยแตกชัดเจน และเมื่อเห็นระดับหัวขบวนออกมาแต่ละฝ่ายก็ต้องบอกว่านี่คือ"ศึกชนช้าง"ภายใน
นี่ยังไม่นับความขัดแย้งแตกแขนงออกไปอีกทางกับฝ่าย "ชายหมู" มรว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ฝ่าย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศตัดหางปล่อยวัด ไม่เกี่ยวข้องกันไปแล้ว มันก็เป็นอีกปมใหญ่ที่ทำลายความศรัทธา ซึ่งในที่สุดแล้วก็ต้องส่งผลกระทบต่อพรรคประชาธิปัตย์ เพราะถึงอย่างไร มรว.สุขุมพันธุ์ ก็มีคราบของประชาธิปัตย์ติดตัว และเมื่อตอนสมัครผู้ว่าฯกรุงเทพมหานครก็สมัครในนามของพรรค แต่พออยู่ไปแล้วมาสลัดทิ้งกลางทางมันก็ดูง่ายไปหน่อยอะไรประมาณนั้น และที่พันกันจนมั่วก็คือ ชายหมูคนนี้ก็ยังทำตัวใกล้ชิดกับ สุเทพ เทือกสุบรรณ มันก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นภาพชัดขึ้นไปอีก
ภาพที่เกิดขึ้นจะมองเห็นถึงความขัดแย้งแตกแยกภายในพรรคประชาธิปัตย์ระหว่างสองขั้วอำนาจใหญ่ ฝ่ายหนึ่งมี ชวน-บัญญัติ-อภิสิทธิ์ กับฝ่าย สุเทพ-สุขุมพันธุ์ เป็นสองแนวทางในการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และเรื่องอื่นๆที่จะตามมาหากมีการเลือกตั้งที่จะต้องมีการคัดคนลงสมัครรับเลือกตั้งในวันหน้า
แต่ขณะเดียวกันมันยังมีภาพซ้อนเข้ามาอีกก็คือภาพของ"ฝ่ายไม่รับ"ที่จะต้องถูกผนวกไปรวมกับกลุ่มของ ทักษิณ ชินวัตร พรรคเพื่อไทย และกลุ่ม นปช. แม้ว่าจะอ้างถึงรายละเอียดต่างกัน เช่น ข้ออ้างของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ บอกแยกย่อยตามมาว่าการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญยังเป็นการเปิดทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ยกร่างฉบับใหม่ มีเวลาปฏิรูปบ้านเมืองตามความต้องการของประขาชน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าชาวบ้านเขาจะคล้อยตามหรือไม่ แต่เท่าที่มองเห็นก็คือนี่คือท่าที "ไม่รับ"ซึ่งต้องรวมกับอีกฝ่ายดังกล่าวแน่นอน ทำให้ชาวบ้านไม่น้อยเข้าใจและสรุปว่าสาเหตุที่คว่ำร่างรัฐธรรมนูญก็เพราะมีเนื้อหาที่จำกัดบทบาทของนักการเมือง มีการควบคุมการทุจริตที่เข้มงวดขึ้น
ดังนั้นด้วยปรากฏการณ์และความเคลื่อนไหวดังกล่าวในพรรคประชาธิปัตย์เป็นภาพปรากฏความขัดแย้งภายในระหว่างสองขั้วใหญ่ มันย่อมมีผลกระทบไปถึงวันข้างหน้าแน่นอน โดยเฉพาะกระทบต่อภาพลักษณ์ คะแนนเสียงความนิยมหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในอนาคต ภาพที่เห็นมันจึงมองเห็นถึงความปั่นป่วนที่รออยู่ข้างหน้าแบบเละตุ้มเปะก็เป็นไปได้สูงยิ่ง !!