xs
xsm
sm
md
lg

รธน.ผ่าน-ไม่ผ่าน ไม่รู้ รู้แต่ว่าประชาธิปัตย์เละตุ้มเป๊ะ !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

** อีกไม่กี่วันก็ถึงวันที่ 7 สิงหาคม กำหนดวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นาทีนี้ยังไม่อาจประกาศจะออกมาล่วงหน้าว่าเป็นแบบไหน แม้ว่าจะพอรู้แนวโน้มเลาๆ บ้างแล้ว เพียงแต่ว่าจะเกิดปัญหาชี้นำหมิ่นเหม่ผิดกฎหมาย ก็ต้องเก็บเงียบเอาไว้ก่อน แต่ก็เชื่อว่าหลายคนก็พอคาดเดาได้ไม่ยาก ด้วยการวัดจากปฏิริยาสังคมต่อความเห็น และท่าทีของบรรดานักการเมืองทั้งหลาย
อย่างไรก็ดี ก่อนจะถึงวันดังกล่าว ก็ขอเลี้ยวมาที่พรรคประชาธิปัตย์เสียก่อน ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น มีผลกระทบต่อปัจจุบันและอนาคตอย่างไรบ้าง หลังจากที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคได้ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อ้างว่าไม่ตอบโจทย์ปัญหาสำคัญของบ้านเมืองดังที่ทราบกันไปแล้ว แม้ว่าไม่ใช่เรื่องใหม่เป็นที่คาดเดากันได้อยู่แล้ว เพราะก่อนหน้านี้พวกเขาก็ได้แสดงท่าทีออกมาให้เห็นแล้ว เพียงแต่ว่าไม่ได้พูดออกมาว่า "ไม่รับ" เท่านั้นเอง
แต่จากคำว่า "ไม่รับ" ดังกล่าวของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แล้วตามมาด้วยเสียงประสานจากบรรดาลูกพรรค สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อีกเป็นพรวน มันก็ฉายภาพภายในได้ชัดเจน พลันเมื่อมีเสียงจากอีกฟากหนึ่ง นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. และยังเป็นอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศไปอีกทางว่า "รับ" ครับ แถมยังแอ่นอกลงทุนช่วยโปรโมตให้อย่างเต็มหน้าตัก ยืนยันว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่สุดยอด สร้างความหวังให้กับบ้านเมือง ทั้งในเรื่องการปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชันของนักการเมือง การใช้อำนาจมิชอบ และที่สำคัญเป็นความหวังของการปฏิรูปในวันข้างหน้า
ล่าสุดยังมีการลงรูปบรรดาแกนนำ กปปส. อีกชุดหนึ่งเป็นการรณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญทางอ้อมอีกทางหนึ่งด้วย และที่น่าสังเกตก็คือ นอกจาก สุเทพ เทือกสุบรรณ แล้ว ก็มีพวกแกนนำทั้งหมดที่เวลานี้ยังอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์
นี่ว่ากันเฉพาะสองแนวทางสองฝ่ายในพรรคประชาธิปัตย์ ต่อการโหวตรร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังจะลงมติกันในวันที่ 7 สิงหาคม อย่างไรก็ดี หากพิจารณากันแบบให้เข้าใจง่ายก็คือ เวลานี้ในพรรคประชาธิปัตย์กำลังแบ่งออกเป็นสองพวกใหญ่ แม้จะอ้างว่านี่คือประชาธิปัตย์ ที่ย่อมเห็นต่างแต่ไม่แตกแยกก็ว่ากันไป เพราะที่ผ่านมาไม่เห็นเป็นแบบที่ว่าสักที สองพวกที่ว่าก็คือ ฝ่ายที่มี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกมาโดยมีระดับขาใหญ่หนุนอยู่ข้างหลัง คือ ชวน หลีกภัย บัญญัติ บรรทัดฐาน และทีมผู้บริหารพรรคในสายของคนพวกนี้จำนวนหนึ่ง ขณะที่อีกพวกหนึ่งก็ชัดเจน คือ กลุ่มสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่เคยร่วมทีมกปปส. และเป็นแกนนำ
** ที่บอกว่านี่คือความเด่นของประชาธิปัตย์ คือแตกต่างแต่ไม่แตกแยก แต่ที่ผ่านมาหากสังเกตจะเห็นรายการแขวะตามมาให้ได้ยินชัด ทั้งจาก"ขาใหญ่" อย่าง ชวน หลีกภัย ที่ยกอุดมการณ์พรรคในเรื่องที่ไม่เดินตามเผด็จการ หรือเสียงของระดับลูกหาบบางคนที่เหน็บแนมทำนองว่า สุเทพ เทือกสุบรรณ ทำตามคำขอ หรือ"ใบสั่ง" จากบิ๊กในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บางคน แค่นี้ก็ได้เห็นร่องรอยแตกชัดเจน และเมื่อเห็นระดับหัวขบวนออกมาแต่ละฝ่าย ก็ต้องบอกว่านี่คือ"ศึกชนช้าง"ภายใน
นี่ยังไม่นับความขัดแย้งแตกแขนงออกไปอีกทางกับฝ่าย "ชายหมู" ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ฝ่าย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศตัดหางปล่อยวัด ไม่เกี่ยวข้องกันไปแล้ว มันก็เป็นอีกปมใหญ่ที่ทำลายความศรัทธา ซึ่งในที่สุดแล้วก็ต้องส่งผลกระทบต่อพรรคประชาธิปัตย์ เพราะถึงอย่างไร ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ก็มีคราบของประชาธิปัตย์ติดตัว และเมื่อตอนสมัครผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร ก็สมัครในนามของพรรค แต่พออยู่ไปแล้วมาสลัดทิ้งกลางทางมันก็ดูง่ายไปหน่อยอะไรประมาณนั้น และที่พันกันจนมั่วก็คือ ชายหมูคนนี้ก็ยังทำตัวใกล้ชิดกับ สุเทพ เทือกสุบรรณ มันก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นภาพชัดขึ้นไปอีก
ภาพที่เกิดขึ้นจะมองเห็นถึงความขัดแย้งแตกแยกภายในพรรคประชาธิปัตย์ระหว่างสองขั้วอำนาจใหญ่ ฝ่ายหนึ่งมี ชวน-บัญญัติ-อภิสิทธิ์ กับฝ่าย สุเทพ-สุขุมพันธุ์ เป็นสองแนวทางในการรับ หรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญ และเรื่องอื่นๆ ที่จะตามมาหากมีการเลือกตั้งที่จะต้องมีการคัดคนลงสมัครรับเลือกตั้งในวันหน้า
แต่ขณะเดียวกันมันยังมีภาพซ้อนเข้ามาอีกก็คือภาพของ "ฝ่ายไม่รับ" ที่จะต้องถูกผนวกไปรวมกับกลุ่มของ ทักษิณ ชินวัตร พรรคเพื่อไทย และกลุ่มนปช. แม้ว่าจะอ้างถึงรายละเอียดต่างกัน เช่น ข้ออ้างของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ บอกแยกย่อยตามมาว่า การไม่รับร่างรัฐธรรมนูญยังเป็นการเปิดทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ยกร่างฉบับใหม่ มีเวลาปฏิรูปบ้านเมืองตามความต้องการของประขาชน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าชาวบ้านเขาจะคล้อยตามหรือไม่ แต่เท่าที่มองเห็นก็คือ นี่คือท่าที "ไม่รับ" ซึ่งต้องรวมกับอีกฝ่ายดังกล่าวแน่นอน ทำให้ชาวบ้านไม่น้อยเข้าใจ และสรุปว่าสาเหตุที่คว่ำร่างรัฐธรรมนูญก็เพราะมีเนื้อหาที่จำกัดบทบาทของนักการเมือง มีการควบคุมการทุจริตที่เข้มงวดขึ้น
**ดังนั้นด้วยปรากฏการณ์และความเคลื่อนไหวดังกล่าวในพรรคประชาธิปัตย์เป็นภาพปรากฏความขัดแย้งภายในระหว่างสองขั้วใหญ่ มันย่อมมีผลกระทบไปถึงวันข้างหน้าแน่นอน โดยเฉพาะกระทบต่อภาพลักษณ์ คะแนนเสียงความนิยมหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในอนาคต ภาพที่เห็นมันจึงมองเห็นถึงความปั่นป่วนที่รออยู่ข้างหน้าแบบเละตุ้มเป๊ะ ก็เป็นไปได้สูงยิ่ง !!
กำลังโหลดความคิดเห็น