xs
xsm
sm
md
lg

“ประวิตร” เผยรัฐบาลเตรียมเซ็น “MOU ความมั่นคง” ร่วมนายกฯ มาเลเซีย 9 ก.ย.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม (ภาพจากแฟ้ม)
รองนายกรัฐมนตรี-รมว.กลาโหม เผยเดินทางไปเยือนมาเลเซียเป็นไปด้วยดี นายกฯ มาเลเซียเตรียมขึ้นมาลงนามเอ็มโอยู 9 ก.ย.นี้ ประเด็นรั้วชายแดน อาชญากรรมข้ามชาติ บุคคลสองสัญชาติ เผยเต็มใจช่วยเหลือหาต้นตอมือถือจุดชนวนระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ แต่ให้รอฟังเจ้าหน้าที่ แจงตั้ง ครม.ส่วนหน้า ให้นายกฯ ตัดสินใจได้เร็วขึ้น เผยโครงสร้างมี 10 คน แต่ไม่ใช่ข้าราชการประจำ

วันนี้ (29 ส.ค.) ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 กองทัพอากาศ เขตดอนเมือง เมื่อเวลา 16.00 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ รมว.กลาโหม กล่าวภายหลังเดินทางเยือนประเทศมาเลเซีย ว่าการหารือเป็นไปด้วยดี มีการพูดคุยกันหลายเรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของชายแดน โดยเน้นความร่วมมือของทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ส่วนความคืบหน้าการดำเนินการสร้างรั้วบริเวณชายแดนนั้น ขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่โดยจะมีการลงนามร่วมกัน อย่างไรก็ตาม การสร้างรั้วชายแดนนั้นมีมานานแล้วแต่ยังดำเนินการไม่เสร็จสิ้น ส่วนระยะทางในการสร้างจะยึดตามของเดิม นอกจากนี้จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันในเรื่องของอาชญากรรมข้ามชาติ เรื่องบุคคลสองสัญชาติซึ่งทางประเทศมาเลเซียมีความเต็มใจที่จะช่วย ไม่อยากให้มีคนสองสัญชาติเหมือนกัน แต่ในขณะนี้ยังขาดเครื่องมือในการตรวจสอบโดยเฉพาะเครื่องมือในการตรวจสอบใบหน้า

ทั้งนี้ ในเรื่องของการลงนางบันทึกทั้งหมดจะลงนามร่วมกันในวันที่ 9 ก.ย. ที่นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ตลอดจนถึงเรื่องการคมนาคมและการพาณิชย์ นอกจากนี้ยังได้ขอให้ทางมาเลเซียช่วยตรวจสอบเรื่องอุปกรณ์ของโทรศัพท์ที่พบในเหตุการณ์ระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งทางมาเลเซียมีความเต็มใจในการช่วยเหลือ ขณะนี้รอให้เป็นหน้าที่เจ้าหน้าที่ตำรวจทำหน้าที่ประสานงาน ความคืบหน้าของคดีนั้นขอให้รอทางเจ้าหน้าที่ สำหรับความคืบหน้าการพูดคุยสันติสุขนั้นจะมีความแน่ชัดในวันที่ 2 ก.ย.นี้

เมื่อถามถึงความคืบหน้าการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่วนหน้า เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวต้องการให้พื้นที่มีความสงบ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องตั้ง ครม. ส่วนหน้า เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว และจะทำให้นายกรัฐมนตรี สามารถตัดสินใจได้เร็วขึ้น ในส่วนของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ก็ยังมีอยู่ ส่วนโครงสร้างของ ครม.ส่วนหน้านั้น ยืนยันว่ามี 10 คน ไม่ได้มาจากข้าราชการประจำ แต่จะต้องเป็นคนที่มีประสบการณ์ในการทำงานในพื้นที่

ด้าน พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร พร้อมคณะ และผู้แทนส่วนราชการต่างๆ ได้เดินทางไปเมืองปุตราจายา ประเทศมาเลเซีย ตามคำเชิญของ ดาโต๊ะ ซรี ดร.อาหมัด ซาฮิด ฮามิติ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย มาเลเซีย เพื่อหารือความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างไทยและมาเลเซีย ก่อนการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในวันที่ 9 ก.ย. ซึ่งเจ้าภาพได้ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นด้วยมิตรไมตรี

โดยทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนหารือและติดตามความคืบหน้าประเด็นความร่วมมือด้านความมั่นคงที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ทั้งปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ การบริหารจัดการชายแดน การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ การแก้ปัญหาบุคคลสองสัญชาติ โครงการก่อสร้างรั้วชายแดน การอำนวยความสะดวกการสัญจรและขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านความมั่นคงและด้านอื่นๆ ระหว่างกัน โดยมีความคืบหน้าของความร่วมมือด้านบริหารจัดการชายแดนร่วมกันในประเด็นที่สำคัญ เช่น ปัญหาบุคคลสองสัญชาติ โดยจะร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและตรวจสอบพิสูจน์สัญชาติกับกลุ่มดังกล่าว เพื่อแก้ปัญหาการก่อการร้ายและอาชญกรรมข้ามชาติ

การขนส่งสินค้าและการสัญจรข้ามแดน ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันประสานความเชื่อมโยงข้อมูลที่เป็นประโยชน์และอำนวยความสะดวกการสัญจรข้ามแดนร่วมกัน พร้อมทั้งร่วมกันแก้ปัญหาแรงงานข้ามแดนให้ถูกกฏหมาย ส่วนการปรับปรุงด่านศุลกากรสะเดา จ.สงขลา ถึงบูกิตกายูฮิตัม รัฐเกดาห์ ทั้งสองฝ่ายจะร่วมขยายพื้นที่ด่านเพื่อรองรับปริมาณการสัญจร การขนส่งข้ามแดนและการผ่านแดนที่เพิ่มขึ้น ส่วนการก่อสร้างรั้วชายแดน เห็นพ้องร่วมกันที่จะก่อสร้างรั้วชายแดน บริเวณด่านนอก กับบูกิตกายูฮิตัม โดยจัดทำในรูปบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศ

นอกจากนั้น ทั้งสองฝ่ายยังเห็นชอบร่วมกันที่จะจัดทำและลงนามในบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญกรรมข้ามชาติ โดยมีขอบเขตความร่วมมือด้านต่างๆ ประกอบด้วย การต่อต้านการก่อการร้ายสากลและการต่อต้านแนวคิดหัวรุนแรง, องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, การค้ามนุษย์และการลักลอบขนย้ายผู้โยกย้ายถิ่นฐาน, การลักลอบขนยาเสพติด, การฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย, การลักลอบค้าสินค้าเถื่อน, การปลอมแปลงเอกสาร, การปลอมแปลงเงินและตราสาร, การต่อต้านการแพร่กระจายอาวุธ, อาชญกรรมคอมพิวเตอร์, บุคคลสองสัญชาติ, การบริหารจัดการปัญหาชายแดน และอาชญกรรมข้ามชาติอื่นๆ

ทั้งนี้ ผลการหารือแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกัน สามารถพัฒนาไปสู่การจัดทำบันทึกความเข้าใจร่วมกันดังกล่าว สืบเนื่องจากความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของรัฐบาลทั้งสองประเทศปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงและการค้าการลงทุนร่วมกัน สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของประชาชนทั้งสองประเทศที่เป็นรูปธรรมร่วมกันมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น