ล้มยักษ์สภาทนายความ! “ว่าที่ ร.ต.ถวัลย์ รุยาพร” นำทีมโค่นแชมป์เก่า 3 สมัย “ทีมเดชอุดม ไกรฤทธิ์” คะแนนห่างท่วมท้นทั่วประเทศ 2,616 คะแนน แถมได้เก้าอี้กรรมการสภาทนายความ ภาค 1-9 ครบ เผย “ทีมเดชอุดม” ชนะแค่อีสานตอนบน แต่ทุกภาคแพ้ราบคาบ คาดพ่ายแพ้หลังชง ยธ.เปิดทางให้ชาวต่างชาติจดทะเบียนและรับใบอนุญาตว่าความในศาลไทย
วันนี้ (29 ส.ค.) มีรายงานว่า เว็บไซต์ศูนย์อำนวยการเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความ http://vote.thailawyerelection.com/ ได้เผยแพร่รายผลการนับคะแนนเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความอย่างไม่เป็นทางการที่เสร็จสิ้นไปเมื่อเวลา 23.51 น. โดยทำการนับคะแนนจาก 149 หน่วยทั่วประเทศ จาก 10 ภาค ผลปรากฏกว่า อันดับ 1 ว่าที่ ร.ต.ถวัลย์ รุยาพร หมายเลข 2 ชนะการเลือกตั้ง ได้รับคะแนน 7,630 คะแนน ส่วนผู้สมัครอีก 6 คน นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ หมายเลข 1 แชมป์เก่า 3 สมัยได้ 5,014 คะแนน นายอภิชาต เที่ยงธรรมกุล หมายเลข 3 ได้ 90 คะแนน น.ส.เอกศจี ศิริวานิช หมายเลข 5 ได้ 18 คะแนน นายปิยชาติ วีระเดช หมายเลข 6 และนายเกรียงศักดิ์ พินทุสรศรี หมายเลข 4 ได้ 6 คะแนน ส่วนนายนายสุริยศักดิ์ ยิ้มอินทร์ หมายเลข 7 ได้ 4 คะแนน
โดยในภาคกรุงเทพมหานครพบว่า ว่าที่ ร.ต.ถวัลย์ ได้คะแนนทั้งสิ้น 1,563 คะแนน ส่วนนายอุดมเดชได้ 1,234 คะแนน ภาค 1 (ภาคกลางปริมณฑล) ว่าที่ ร.ต.ถวัลย์ได้คะแนนทั้งสิ้น 963 คะแนน ส่วนนายอุดมเดชได้ 636 คะแนน ภาค 2 (ตะวันออก) ว่าที่ ร.ต.ถวัลย์ได้คะแนนทั้งสิ้น 634 คะแนน ส่วนนายอุดมเดชได้ 409 คะแนน ภาค 3 (ตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง) ว่าที่ ร.ต.ถวัลย์ได้คะแนนทั้งสิ้น 730 คะแนน ส่วนนายอุดมเดชได้ 300 คะแนน ภาค 4 (ตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน) ว่าที่ ร.ต.ถวัลย์ได้คะแนนทั้งสิ้น 668 คะแนน ส่วนนายอุดมเดชได้ 737 คะแนน โดยภาคนี้นายเดชอุดมชนะเช่นเดียวกับทีมผู้สมัครกรรมการสภาทนายความส่วนกลาง
ภาค 5 (ภาคเหนือตอนบน) ว่าที่ ร.ต.ถวัลย์ได้คะแนนทั้งสิ้น 626 คะแนน ส่วนนายอุดมเดช ได้ 294 คะแนน ภาค 6 (ภาคเหนือตอนล่าง) ว่าที่ ร.ต.ถวัลย์ได้คะแนนทั้งสิ้น 574 คะแนน ส่วนนายอุดมเดช ได้ 254 คะแนน ภาค 7(ภาคตะวันตก) ว่าที่ ร.ต.ถวัลย์ได้คะแนนทั้งสิ้น 616 คะแนน ส่วนนายอุดมเดช ได้ 461 คะแนน ภาค 8 (ภาคใต้ตอนบน) ว่าที่ ร.ต.ถวัลย์ได้คะแนนทั้งสิ้น 787 คะแนน ส่วนนายอุดมเดช ได้ 306 คะแนน ภาค 9 (ภาคใต้ตอนล่าง) ว่าที่ ร.ต.ถวัลย์ได้คะแนนทั้งสิ้น 469 คะแนน ส่วนนายอุดมเดช ได้ 383 คะแนน
สำหรับผลการเลือกตั้งไม่เป็นทางการ กรรมการสภาทนายความส่วนกลาง พบว่า ทีมหมายเลข 2 ได้รับการเลือกตั้งยกชุดประกอบด้วย ว่าที่ ร.ต.ถวัลย์ ได้รับการเลือกตั้งยุกชุด ประกอบด้วย ว่าที่พันตรี สมบัติ วงศ์คำแหง, นายสรัลชา ศรีชลวัฒนา, น.ส.เสาวรียา ไชยยังธัญทวี, นายภักดี บุษยะบุตรี, นายเกียรติศักดิ์ เหลืองอังกูร, นายทัศไนย ไชยแขวง, นายชัยวัธน์ ประจงใจ, นายดำรงศักดิ์ เครือแก้ว, นายพัฒนา จาติเกตุ, นายอำพล รัตนมูสิก, นายเกษม รังสุวรรณ์, นายพจน์ จิรวุฒิกุล และนายเสาวภักดิ์ สกุลโรมวิลาส
ทั้งนี้ ยังพบว่า ผู้สมัครกรรมการสภาทนายความภาค 1-9 ทีมของว่าที่ ร.ต.ถวัลย์ รุยาพร ชนะได้รับการเลือกตั้งทั้งหมด
มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2559 เพจเฟซบุ๊กสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เผยแพร่บันทึกข้อความ ที่ คต.81/2559 จากส่วนงานศูนย์การเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความ รายชื่อผู้สมัครรับเลือกรับเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความชุดใหม่ โดยในหัวจดหมายระบุเมื่อวันที่ 29 ก.พ. ส่งถึงผู้อำนวยการศูนย์เลือกตั้งฯ หนังสือระบุถึงการเปิดรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความ ตั้งแต่วันที่ 21-27 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา มีสมาชิกสภาทนายความได้สมัครรับเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความ ปี 2559-2562 ทั้งประเภทกรณีการสมัครเป็นคณะและกรณีการสมัครอิสระ โดยสรุปได้เรียงตามลำดับหมายเลขของผู้สมัครในตำแหน่งนายกสภาทนายความ จำนวน 7 คน และผู้สมัครในตำแหน่งกรรมการสภาทนายความ จำนวน 52 คน
มีการเผยแพร่รายชื่อผู้สมัคร นายก กรรมการสภาทนายความ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยลงชื่อ หัวหน้าศูนย์อำนวยการเลือกตั้งกำกับฯ ทั้งนี้ การเลือกตั้งดังกล่าวเพื่อแทนสภาทนายความชุดเดิมที่พ้นตำแหน่งไป หลังจากสภาทนยาชุดเดิมที่มีนายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกสภาทนายความ และในการเลือกตั้งครั้งใหม่ นายเดชอุดมก็ได้ลงสมัครอีกหนึ่งวาระ
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2559 หนังสือจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงวันที่ 16 มี.ค. 2559 โดย พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท รองเลขาธิการ คสช.ทำการแทนเลขาธิการ คสช. มีหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้อำนวยการการเลือกตั้งนายก และกรรมการสภาทนายความ เพื่อให้ชะลอการจัดการเลือกตั้งนายก และกรรมการสภาทนายความชุดใหม่ ในวันที่ 24 เม.ย. 2559 ออกไปก่อน
หนังสือให้เหตุผลว่า โดยให้คณะกรรมการสภาทนายความที่พ้นจากตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน ในระหว่างที่ยังไม่มีการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ทั้งนี้ ตามนัยมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ. 2528 การเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความ มีสมาชิกเป็นจำนวนมาก รวมทั้งการกำหนดหน่วยเลือกตั้งในแต่ละจังหวัดตามเขตอำนาจศาลเป็นการดำเนินกิจกรรมที่ขัดแย้งกับประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ที่บังคับใช้กับทุกกลุ่มทุกฝ่าย เพื่อประโยชน์ในการรักษาความเรียบร้อยของประเทศเป็นส่วนรวมในห้วงเปลี่ยนผ่าน จึงเห็นสมควรให้ชะลอไปก่อน เช่นเดียวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามประกาศ คสช.ที่ 85/2557
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2559 เครือข่ายทนายความไทนำโดย นายวิบูลย์ เชื้อชุมพล ประธานเครือข่ายฯ พร้อมด้วยสมาชิกจำนวน 10 คนยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอให้สั่งการให้ผู้อำนวยการเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความดำเนินการเลือกตั้งตามกำหนดเดิม สืบเนื่องจาก ทั้งนี้สืบเนื่องจากกรณี พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสารท รองเลขาธิการคสช.ได้มีหนังสือด่วนที่สุดที่ คสช. (สลธ)/152 ลงวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา ส่งถึงผู้อำนวยการเลือกตั้งและกรรมการสภาทนายความ ให้ชะลอการจัดการเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความ โดยให้คณะกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่ไปก่อน ด้วยเหตุผลที่ว่าเนื่องจากเกรงว่าจะมีกิจกรรมที่ขัดหรือแย้งกับประกาศคสช.ที่ใช้บังคับกับทุกฝ่าย เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยเช่นเดียวกับการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยอ้างถึงประกาศคสช.ที่ 7/2557 เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมือง และประกาศคสช. ฉบับที่ 85/2558 เรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว
นายวิบูลย์กล่าวตอนนั้นว่า ทางเครือข่ายฯเห็นว่า สภาทนายความเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทนายความ พ.ศ. 2528 เช่นเดียวกับแพทยสภา สมาคมทางกีฬา ซึ่งได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ไปก่อนหน้านี้แล้ว หากต้องชะลอการเลือกตั้งออกไปและให้คณะกรรมการชุดเดิมที่มีนายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ เป็นประธานรักษาการต่อไป อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการชุดปัจจุบันได้มีการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ทนายความโดยไม่มีการแจ้งให้สมาชิกทนายความทั่วประเทศได้ทราบก่อน ซึ่งตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขใหม่มีบทบัญญัติให้ตัดอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในฐานะสภานายกพิเศษของสภาทนายความ ในการพิจารณาอุทธรณ์คดีกรณีที่คณะกรรมการสภาทนายความพิจารณาลงโทษทนายความ ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมไม่สามารถแก้ไขคำสั่งของคณะกรรมการสภาทนายความได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบวิชาชีพทนายความเป็นอย่างมาก
“การจัดการบริการสภาทนายความแตกต่างจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะไม่ได้มีหน้าที่และอำนาจในทางการเมืองต่อประชาชน และการจัดการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งนายกและสภาความทนายความมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อเลือกตั้งกันเอง ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทางการเมือง และไม่เคยก่อความวุ่นวาย ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงขอให้นายกฯมีคำสั่งยกเลิก คำสั่งคสช.ที่ให้ชะลอการจัดการเลือกตั้งนายกและสภาทนายความ และขอให้สั่งการให้ผู้อำนวยการเลือกตั้งนายกและสภาทนายความดำเนินการจัดการเลือกตั้งตามเดิม ในวันที่ 24 เมษายน” นายวิบูลย์กล่าว
มีรายงานว่า ภายหลังมีคำสั่งระงับการเลือกตั้งดังกล่าว เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2559 นายถวัลย์ รุยาพร ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อม นายสรัลชา ศรีชลวัฒนา, นายดำรงศักดิ์ เครือแก้ว และ น.ส.เสาวรียา ไชยยังธัญทวี ผู้สมัครรับเลือกตั้งกรรมการสภาทนายความฯ เดินทางมายื่นฟ้องผู้อำนวยการเลือกตั้งนายก และกรรมการสภาทนายความฯ กรรมการอำนวยการเลือกตั้งฯ ประธานกรรมการมารยาททนายความ สภาทนายความฯ และกรรมการมรรยาททนายความ สภาทนายความฯ รวม 32 ราย ต่อศาลปกครองกลาง กรณีที่คณะกรรมการอำนวยการเลือกตั้งฯ สั่งเลื่อนกำหนดการเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความ ในวันที่ 24 เม.ย.นี้ออกไปก่อนจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง โดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทนายความ และข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยการเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความ พ.ศ. 2529 และคณะกรรมการมารยาททนายความไม่ดำเนินการบังคับให้คณะกรรมการอำนวยการเลือกตั้งฯ ปฏิบัติตามข้อบังคับสภาทนายความ โดยขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการเลือกตั้งฯ ในการประชุมครั้งที่ 7/2559 เรื่องให้เลือกกำหนดวันเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความและคำสั่งที่เกี่ยวข้อง และขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 32 ราย จัดการเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความ ภายใน 60 วันนับแต่วันที่คณะกรรมการสภาทนายความครบวาระ
นายถวัลย์กล่าวตอนนั้นว่า การกระทำของคณะกรรมการอำนวยการเลือกตั้งฯ โดยอ้างเหตุจากประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 7/2557 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง และฉบับที่ 85/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว เพื่อเลื่อนการเลือกตั้งนายกและกรรมการสภาทนายความออกไปอย่างไม่มีกำหนด เป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ เป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากสภาทนายความเป็นองค์กรทางวิชาชีพ ไม่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง การอาศัยหนังสือตอบข้อหารือของ คสช.มาเป็นข้ออ้างเลื่อนเลือกตั้งออกไป ทำให้สภาทนายความและสมาชิกได้รับความเสียหาย ไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตัวแทนเพื่อเข้าทำหน้าที่ในการบริหารงานสภาทนายความได้
อย่างไรก็ตาม สภาทนายความโดยศูนย์อำนวยการเลือกตั้ง นายกและกรรมการสภาทนายความ ได้จัดให้มีการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา จนทำให้ทีมว่าที่ ร.ต.ถวัลย์ รุยาพร หมายเลข 2 ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น คว่ำแชมป์เก่า 3 สมัย
สำหรับประวัติ ว่าที่ ร.ต.ถวัลย์ รุยาพร หรือ “อาจารย์ถวัลย์” ปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษบรรยายกฎหมายหลายสถาบัน ถูกยกเป็น ทนายความติดดิน คนหนึ่งหลังจากบรรดาลูกสิทธิ์ เห็นว่า หอบเสื้อครุยขึ้น-ลงศาลเป็นประจำ แถมเป็นที่รู้จักของเพื่อนทนายความที่ปฏิบัติหน้าที่ทั้งที่ เรือนจำ สถานีตำรวจ หรือกรมบังคับคดี เคยไดได้รับเลือกเป็น กรรมการสภาทนายความมา 2 สมัย เมื่อปี 2538-2541 และปี 2541-2544 และมาแพ้เลือกตั้งสมัยที่นายสัก กอแสงเรือง เป็นนายกสภาทนายความ ต่อมาลงชิงตำแหน่งนายกและกรรมการสภาทนายความหลายครั้งแต่ก็แพ้คณะของนายสักและนายเดชอุดมมาตลอด
อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนี้ ว่าที่ ร.ต.ถวัลย์ กลับมีทีมที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะมีทนายความคนหนุ่มสาวที่มีความคิดก้าวหน้าไฟแรงและทนายความผู้อาวุโสที่มีความรู้ความสามารถและมีคุณธรรมเสนอตัวให้พิจารณาคัดเลือกเพื่อลงสมัครในนามของคณะถวัลย์ รุยาพร จำนวนมาก
นอกจากนี้ยังมีปัญหา กรณีที่นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ ในฐานะนายกสภาทนายความ ยื่นเรื่องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ทนายความ 2528 โดยเฉพาะที่สำคัญจะแก้ไขเปิดทางให้ชาวต่างชาติจดทะเบียนและรับใบอนุญาตว่าความในศาลไทยได้ เรื่องนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐมนตรีก่อนจะเสนอคณะรัฐมนตรี และจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
โดยกรณีนี้ว่าที่ ร.ต.ถวัลย์ รุยาพร กับคณะ นำมาเป็นประเด็นโต้แย้งคัดค้านในการเลือกตั้ง และจะเป็นงานชิ้นแรกที่เขาจะเสนอขอความเห็นหรือขอประชามติจากทนายความทั่วประเทศ เพื่อถอนเรื่องนี้ออกทันที