MGR Online - รองโฆษก ตร.เผยดำเนินคดีผู้กระทำผิด พ.ร.บ.ลงประชามติแล้ว 58 คดี ยันไม่มีสองมาตรฐาน พบผิดจับหมด นักการเมืองแสดงคิดเห็นได้แต่ต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย เตือนประชาชนอย่าถ่ายภาพหรือเซลฟีในคูหาอาจเข้าข่ายชี้นำ
วันนี้ (3 ส.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยการเตรียมความพร้อมในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 7 ส.ค.นี้ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มอบหมายให้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร.ด้านความมั่นคง กำกับดูแลการดูแลความสงบเรียบร้อย และการบังคับใช้กฎหมายในการออกเสียงประชามติทุกมิติ และทำมาอย่างต่อเนื่องคิกออฟตั้งแต่ห้วงแรก จนถึงวันนี้ โดยการข่าวยังไม่พบความเชื่อมโยงทางการเมือง หรือกลุ่มการเมืองใดที่ก่อกวนการออกเสียงประชามติ ส่วนใหญ่เป็นการกระทำโดยปัจเจกบุคคล
พล.ต.ต.ปิยะพันธ์กล่าวด้วยว่า จนถึงขณะนี้มีการดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 และกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้อง แล้ว 58 คดี โดยในจำนวนนี้ 40 ราย เป็นการดำเนินคดีอาญา เช่น ลักทรัพย์ ส่วน 18 รายเป็นกรณีทำลายป้าย บางคดีผิดหลายกรรมทั้งทางอาญาฯ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ ส่วนความผิดเกี่ยวกับการพนันขันต่อผลการออกเสียงประชามติก็ติดตามดูอยู่ แต่ยังไม่พบการกระทำใดที่เข้าข่ายความผิด อย่างไรก็ตาม ผบ.ตร.ย้ำว่าให้ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลความสงบเรียบร้อยฯดำเนินการตามกฎหมาย บังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำผิดอย่างเคร่งครัด หากพบการกระทำผิดซึ่งหน้าทั้งช่วงก่อน หลัง และขณะลงเสียงประชามติ ให้จับกุมดำเนินคดีทันที โดยได้ออกคำสั่ง ตร.ที่ 460/2559 กำหนดแนวทางปฏิบัติงานรองรับด้วย
พล.ต.ต.ปิยะพันธ์กล่าวว่า สำหรับกลุ่มที่แสดงความเห็นต่างๆนั้น หากเข้าข่ายผิดกฎหมาย บิดเบือน โจมตี ชี้นำ โดยหวังผลต่อการลงเสียง ไม่ใช่ลักษณะการแสดงความเห็นส่วนตัว ก็ต้องดำเนินคดี อย่างเท่าเทียม มาตรฐานเดียวกันหมด ส่วนนักการเมืองที่ออกมาแสดงความเห็น หากอยู่ในกรอบกฎหมาย ลักษณะเป็นการแสดงความคิดเห็นเชิงวิชาการ ดีเบต หรือแสดงจุดยืนส่วนตัว ในกรอบเวลาที่เหมาะสมก็สามารถทำได้ ซึ่งยังไม่ผู้ใดทำผิดในเรื่องนี้ การออกมาแสดงความคิดเห็นของนักวิชาการ และนักการเมืองต้องดูที่เจตนา อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้สั่งติดตามความเคลื่อนไหวในทุกพื้นที่เกาะติดต่อเนื่อง ขณะนี้ทุกกองบัญชาการรายงานสถานการณ์มายังศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ทั้งนี้ในคืนวันที่ 6 สิงหาคม ไม่กังวลว่าจะมีลักษณะเหมือนคืนหมาหอน เพราะครั้งนี้คือการออกเสียงประชามติ ไม่ใช่การเลือกตั้ง ลักษณะเหมือนคืนหมาหอนคงไม่มี แต่ ผบ.ตร.สั่งการตำรวจลงพื้นที่เกาะติดลงพื้นที่เฝ้าระวังการทำผิดกฎหมายอยู่แล้ว
ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร.กล่าวว่า ขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ศึกษากฎหมายและไม่ละเมิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ โดยเฉพาะในวันออกเสียง ในมาตรา 60 ที่ว่า มาตรา 60 ผู้ใดกระทําการในระหว่างเวลาเปิดการลงคะแนนออกเสียง ดังต่อไปนี้ 1. ออกเสียงหรือพยายามออกเสียง โดยรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ไม่มีสิทธิออกเสียงหรือไม่มีสิทธิลงคะแนนในหน่วยออกเสียงนั้น 2. ใช้บัตรอื่นที่มิใช่บัตรออกเสียงมาออกเสียง 3. นําบัตรออกเสียงออกไปจากที่ออกเสียง 4. นําบัตรออกเสียงที่ลงคะแนนแล้วแสดงต่อผู้อื่นเพื่อให้ผู้อื่นทราบว่าได้ออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียงโดยไม่มีอํานาจโดยชอบด้วยกฎหมาย 5. ทําเครื่องหมายเพื่อเป็นที่สังเกตโดยวิธีใดไว้ที่บัตรออกเสียงเพื่อให้ผู้อื่นรู้ว่าเป็นบัตรออกเสียง ของตน หรือใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดบันทึกภาพบัตรออกเสียงที่ตนได้ลงคะแนนออกเสียงแล้ว 6. ขัดคําสั่งกรรมการประจําหน่วยออกเสียงที่สั่งให้ออกไปจากที่ออกเสียง เพราะเหตุที่ผู้นั้นขัดขวางการออกเสียง 7.นําบัตรออกเสียงใส่ในหีบบัตรออกเสียงโดยไม่มีอํานาจโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือกระทําการใดในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงเพื่อแสดงว่ามีผู้มาแสดงตนออกเสียงโดยผิดไปจากความจริงหรือกระทําการใดอันเป็นเหตุให้มีบัตรออกเสียงเพิ่มขึ้นจากความจริง 8. กระทําการโดยไม่มีอํานาจโดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อมิให้ผู้มีสิทธิออกเสียงสามารถใช้สิทธิได้ หรือขัดขวาง หรือหน่วงเหนี่ยวมิให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไป ณ ที่ออกเสียง หรือเข้าไป ณ ที่ออกเสียง หรือมิให้ไปถึง ณ ที่ดังกล่าว ภายในกําหนดเวลาที่จะออกเสียง 9. ก่อความวุ่นวายขึ้นในที่ออกเสียง หรือกระทําการใดอันเป็นการรบกวนหรือเป็นอุปสรรคแก่การออกเสียง โดยผู้ใดกระทําการตาม ข้อ 1-6 ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และผู้ใดกระทําการตาม 7-9 ต้องระวางโทษ จําคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้ขอให้ประชาชนรับทราบ ไม่ทำผิดกฎหมาย
“ขอย้ำเตือนว่า การถ่ายภาพการลงคะแนน ให้เห็นว่าลงเสียงอย่างไร หรือเซลฟีให้เห็นการลงเสียง หรือการแสดงสัญลักษณ์ ข้อความหรือใดๆ ที่ส่อเจตนาว่าชี้นำ และหากพิสูจน์ได้ว่าเข้าข่ายกฎหมายก็ต้องดำเนินคดีทั้งหมด ทั้งนี้ การเซลฟีนั้นทำได้ เช่น การเซลฟีนอกคูหา โดยไม่เปิดเผยว่ารับหรือไม่รับร่างฯ ที่อาจเข้าข่ายชี้นำ” รองโฆษก ตร.กล่าว