xs
xsm
sm
md
lg

“นิกร” ชี้ทุกพรรคมองการเมืองใหม่หลังประชามติผ่าน เชื่อพวกเตรียมนั่ง รมต.-ส.ว.มีปั่นป่วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แกนนำ ชทพ.ย้อนที่ผ่านมาการเมืองรุนแรงเหตุ 2 ฝ่ายทัศนคติต่างกันคือยึดเสียงข้างมาก-ยึดคุณธรรม เคลียร์ไม่ได้ทหารจึงเข้ามา ชี้หลังประชามติผ่านฉลุยทุกพรรคต้องมองการเมืองใหม่ เชื่อว่า ปชช.อยากเลือกตั้ง เชื่อมีปั่นป่วนพวกเตรียมนั่ง รมต.-ส.ว. ผอ.ศูนย์พยากรณ์ ศก.ชี้ ปชช.อยากเห็นแก้ ศก. รับสิบปีผ่านมาเติบโตต่ำมาก

วันนี้ (26 ส.ค.) นายนิกร จำนง สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และแกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวในการอภิปรายหลักสูตรพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง หรือ พตส. รุ่นที่ 7 หัวข้อ “การขับเคลื่อนประเทศในมิติเศรษฐกิจและการเมือง ภายหลังการออกเสียงประชามติ” ว่า ที่ผ่านมาการเมืองไทยมีความรุนแรงเพราะฝ่ายการเมืองมี 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่มีทัศนคติยึดถือเสียงข้างมาก เพราะมาจากการเลือกตั้ง และฝ่ายยึดถือทัศนคติคุณธรรมที่เชื่อว่าการเลือกตั้งคือการซื้อเสียง เมื่อทั้งสองฝ่ายไม่สามารถเคลียร์กันลง ทหารก็จะเข้ามา ก็เข้ามาจริงในที่สุด ผลการทำประชามติครั้งนี้ทำให้พรรคการเมืองทุกพรรคต้องมองการเมืองใหม่ เพราะถือว่าพลาดมากที่ไม่มีใครอ่านออกว่าผลการออกเสียงประชามติประชาชนจะโหวตรับทั้งสองคำถามแบบนี้ จึงต้องมาพิจารณาว่าเหตุผลในการออกเสียงของประชาชนคืออะไร เชื่อว่ามาจากการที่ประชาชนอยากให้มีการเลือกตั้ง เหมือนกับที่นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนาเคยประกาศก่อนเสียชีวิตว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญ และเชื่อว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ จะรักษาเกียรติภูมิในการร่างรัฐธรรมนูญดีกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะเกิดขึ้นหากร่างของนายมีชัยไม่ผ่านแน่นอน

ส่วนการเมืองที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้มองว่าจะมีความปั่นป่วนเกิดขึ้นในบรรดารัฐมนตรี สนช. หรือ สปท. ที่อยากจะเป็นรัฐมนตรี หรือ ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะต้องลาออกหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ภายใน 90 วันเพื่อให้ไม่ขัดกับคุณสมบัติ และส่วนตัวก็เตรียมจะยื่นใบลาออกจาก สปท.ในช่วงเดือน ก.พ. 2560 เพื่อไปเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งให้แก่พรรคชาติไทยพัฒนา ส่วนบุคคลอื่นคงอยู่ระหว่างการตัดสินใจแบบพะว้าพะวังเพราะไม่แน่ใจว่าหากลาออกไปแล้วจะได้รับแต่งตั้งมาเป็น ส.ว.หรือไม่

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สิบปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าร้อยละ 3 ถือเป็นอัตราที่ต่ำมาก สาเหตุมาจากการเมือง ดังนั้น สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นคือการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและความยากจน โดยหวังว่าการเลือกตั้งในอนาคตจะได้รัฐบาลที่มองประโยชน์ประชาชนอย่างแท้จริง รวมไปถึงการรวมตัวของ ส.ส.ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยรวม




กำลังโหลดความคิดเห็น