xs
xsm
sm
md
lg

ชาวซอยร่วมฤดียื่นศาลปกครองสั่งบังคับคดีรื้อ รร.ดิเอทัส เหตุยื้อเวลาไม่ทำตามคำพิพากษา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ชาวซอยร่วมฤดี เดินหน้ายื่นศาลปกครองสั่งบังคับคดีรื้อโรงแรมดิเอทัส หลัง สนง.เขตปทุมวัน-ผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเกือบ 2 ปี ทนายขู่ผู้ถูกฟ้องยังประวิงเวลาช่วยเหลือเจ้าของอาคารเจอข้อหาละเว้นหน้าที่

วันนี้ (25 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลปกครองกลางได้ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนฉุกเฉินคำร้องที่ นพ.สงคราม ทรัพย์เจริญ นายขวัญแก้ว วัชรโรทัย พร้อมพวกรวม 24 คน ยื่นขอให้ศาลสั่งบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.588/2557 ที่ให้ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ใช้อำนาจตามมาตรา 40, 41, 42, 43 ของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 แก้ไขเพิ่มเติม 2535 ดำเนินการแก้ไขความสูงของอาคารโรงแรมดิเอทัส ซอยร่วมฤดี และเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ ดิเอทัส เรสซิเดนซ์ ของบริษัท ลาภประทาน จำกัด และบริษัท ทับทิมทร จำกัด ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา เนื่องจากหลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2557 จนถึงปัจจุบันรวม 1 ปี 8 เดือน ยังไม่พบว่าสำนักงานเขตได้มีการดำเนินการตามคำพิพากษาแต่อย่างใด

ในการไต่สวน นพ.สงครามได้เดินทางมาพร้อมกับนายขวัญแก้ว น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนายเฉลิมพงษ์ กลับดี ทนายความ ส่วนฝ่ายผู้ถูกฟ้องได้ส่งผู้แทนเข้าให้ถ้อยคำหลังการไต่สวนนาน 2 ชั่วโมง นายเฉลิมพงษ์กล่าวว่า หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาตามขั้นตอน ผอ.เขตปทุมวัน จะต้องมีคำสั่งให้บริษัทเจ้าของอาคารดำเนินการปรับลดชั้นของอาคาร หรือรื้อถอนอาคารภายในเวลา 60 วัน แต่ทาง ผอ.เขตปทุมวันกลับมีคำสั่งไปยัง 2 บริษัทโดยอาศัยมาตรา 40 พ.ร.บ.ควบคุมอาคารว่าไม่ให้บุคคลใดใช้ หรือเข้าไปในส่วนใดของอาคาร โดยท้ายคำสั่งระบุให้ผู้รับคำสั่งหากไม่เห็นด้วยสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ ทำให้ 2 บริษัทดังกล่าวยื่นอุทธรณ์ไปยังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของกรุงเทพมหานคร โดยอ้างว่ามีพยานหลักฐานใหม่ที่ยืนยันว่าเขตทางซอยร่วมฤดีมีความกว้างไม่ต่ำกว่า 10 เมตร จึงเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องเป็นการจงใจช่วยเหลือเพื่อประวิงเวลาการบังคับคดี ซึ่งระหว่างไต่สวนหลังฝ่ายผู้ถูกฟ้องชี้แจงเรื่องของการยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการฯ ศาลก็ระบุว่ากระบวนการที่ทางเขตดำเนินการเป็นการใช้อำนาจบริหารปกติที่จะใช้ในกรณีมีการร้องเรียน แต่เรื่องนี้ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วทางสำนักงานเขตจึงต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา

โดยหลังจากนี้ศาลก็จะนำเรื่องเข้าหารือในองค์คณะและจะมีคำสั่งออกมาแต่ยังไม่ได้แจ้งว่าจะเป็นเมื่อใด ทั้งนี้ศาลได้ตั้งประเด็นในการพิจารณาว่า ผู้ถูกฟ้องทั้งสองบังคับคดีล่าช้าเกินสมควรหรือไม่ หากท้ายที่สุดมีคำสั่งว่าผู้ถูกฟ้องปฏิบัติล่าช้า นอกจากทางสำนักงานเขตจะต้องเร่งไปดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดแล้ว ตามกฎหมายศาลสามารถสั่งปรับเงินส่วนตัวครั้ง 5 หมื่นบาท รวมถึงอาจให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยกับผู้ถูกฟ้องได้ และหากผู้ถูกฟ้องยังประวิงเวลาช่วยเหลือบริษัทเจ้าของอาคารทางผู้ฟ้องคดีก็อาจจะมีการฟ้องฐานะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ มาตรา 157 ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น