xs
xsm
sm
md
lg

“ดิเรกฤทธิ์” รอดตัว! ศาลปกครองชี้ปมจดหมายน้อยฝากตำรวจแค่ฝ่าฝืนจริยธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง (ภาพจากแฟ้ม)
ศาลปกครองเผยผลสอบ “ดิเรกฤทธิ์” ส่งจดหมายน้อยฝากตำรวจ แค่ฝ่าฝืนข้อห้ามจริยธรรม ผิดวินัยไม่ร้ายแรง ยังฟังไม่ได้ ด้าน “หัสวุฒิ” รู้เห็นสนับสนุน ลงโทษสถานเบาให้ตักเตือนและห้ามทำอีก

วันที่ 19 ส.ค. สำนักงานศาลปกครองได้เผยแพร่เอกสารข่าวกรณี นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการสํานักงานศาลปกครอง มีหนังสือไปยังรองผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ เกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตํารวจนายหนึ่ง โดยระบุว่า ตามที่ นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยะกุล ประธานศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีความสําคัญ จึงมีคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้วนั้น สํานักงานศาลปกครองขอแถลงว่า คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ซึ่งมี นายเกษม คมสัตย์ธรรม รองประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประธาน และมี นายไพบูลย์ เสียงก้อง ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด นายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด นางปานตา ศิริวัฒน์ อธิบดีศาลปกครองกลาง และ นายอดุล จันทรศักดิ์ รองอธิบดีศาลปกครองพิษณุโลก เป็นกรรมการ ได้ดําเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า การกระทําของนายดิเรกฤทธิ์เป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามจริยธรรมข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง โดยมีมูลอันควรกล่าวหาว่ากระทําผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงและการกระทำดังกล่าวยังไม่อาจรับฟังได้ว่า ได้รับมอบหมายหรือ รู้เห็นเป็นใจจากประธานศาลปกครองสูงสุด

นายวิชัย ชื่นชมพูนุท รองประธานศาลปกครองสูงสุด ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด พิจารณารายงานการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า การกระทําดังกล่าวเป็นความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง เห็นควรลงโทษภาคทัณฑ์ แต่เนื่องจากนายดิเรกฤทธิ์ได้ถูกพักงานมาแล้วเป็นเวลา 2 เดือน และไม่ปรากฏความเสียหายในรูปธรรมที่สํานักงานศาลปกครอง และสํานักงานตํารวจแห่งชาติ จึงให้งดโทษภาคทัณฑ์ และให้ว่ากล่าวตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร โดยให้นายดิเรกฤทธิ์ พึงระมัดระวังในการรักษาชื่อเสียง ภาพลักษณ์ และเกียรติภูมิของสํานักงานศาลปกครองและศาลปกครอง รวมทั้งรักษาชื่อเสียงของตนและเกียรติศักดิ์ ของตําแหน่งหน้าที่ราชการของตนมิให้เสื่อมเสีย ตลอดจนไม่อาศัยหรือยอมให้ผู้อื่นอาศัยตําแหน่งหน้าที่ราชการของตน หาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น โดยให้ปฏิบัติอยู่ในกรอบของจริยธรรม ระเบียบแบบแผนของทางราชการและวินัย ที่กําหนดอย่างเคร่งครัดอยู่เสมอ

ต่อมาสํานักงานศาลปกครองได้นําเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะอนุกรรมการสามัญประจําสํานักงานศาลปกครอง (อ.ขป. สามัญ) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารงานบุคคลของข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง เมื่อวันที่ 19 ส.ค. อ.ขป. สามัญ พิจารณาแล้วเห็นว่า การพิจารณาความผิดและโทษดังกล่าวเป็นการดําเนินการตามระเบียบของ ทางราชการที่ถูกต้องเหมาะสมแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น