xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองพิพากษากลับ เพิ่มขนาดภาพอันตรายร้อยละ 85 บนซองบุหรี่ฟิลลิปมอร์ริส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้ม
ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับศาลปกครองกลาง ให้เพิ่มขนาดภาพอันตรายร้อยละ 85 บนซองบุหรี่ของฟิลลิป มอร์ริส ชี้ประกาศยังไม่เข้าขั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลังก่อนหน้านี้ผู้นำเข้าบุหรี่ยี่ห้อดังจากญี่ปุ่นแพ้คดี

วันนี้ (8 ก.ค.) ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองกลางที่ให้มีการทุเลาการบังคับใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแสดงรูปภาพ ข้อความเตือนเกี่ยวกับพิษภัย และช่องทางการติดต่อเพื่อการเลิกยาสูบในฉลากของซองบุหรี่ซิกาแรต พ.ศ. 2556 ที่กำหนดให้พื้นที่บนซองหรือกล่องบุหรี่ต้องแสดงภาพพิษภัยของการสูบบุหรี่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 ของด้านที่มีพื้นที่มากที่สุดอย่างน้อย 2 ด้าน ในคดีที่บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด ผู้ประกอบกิจการนำเข้าและจำหน่ายสินค้าบุหรี่ ยี่ห้อ แอล แอนด์ เอ็ม และ มาร์ลโบโร ในประเทศไทย กับ บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส โปรดัคส์ เอส.อาร์. ผู้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ายี่ห้อ แอล แอนด์ เอ็ม และ มาร์ลโบโร พร้อมกับเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าบุหรี่อีกหลายเครื่องหมายในประเทศไทย ยื่นฟ้องกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่า ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแสดงรูปภาพ ข้อความคำเตือนเกี่ยวกับพิษภัยและช่องทางติดต่อเพื่อการเลิกยาสูบ ในฉลากของซองบุหรี่ซิกาแรต พ.ศ. 2556 ซึ่งกำหนดให้ต้องมีพื้นที่เพื่อการดังกล่าวไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 ของด้านที่มีพื้นที่มากที่สุดอย่างน้อย 2 ด้าน โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งนี้ ศาลได้พิจารณาเห็นว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุขในเรื่องดังกล่าว ไม่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งยังฟังไม่ได้ว่าการให้ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปในระหว่างการพิจารณาพิพากษาคดี จะเป็นการยากแก่การแก้ไขเยียวยาในภายหลังแต่ประการใดไม่ กรณีจึงไม่ครบเงื่อนไขแห่งการที่ศาลปกครองจะมีอำนาจออกคำสั่งทุเลาการบังคับตามกฎได้

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นที่ให้มีการทุเลาการบังคับใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับเดียวกัน หลังบริษัท เจที อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด และ เจที อินเตอร์เนชั่นแนล เอสเอ ซึ่งเป็นผู้นำเข้าบุหรี่ยี่ห้อมายเซเว่น หรือ มีเวียส จากประเทศญี่ปุ่น ยื่นฟ้อง รมว.สาธารณสุข และกระทรวงสาธารณสุข โดยศาลเห็นว่าประกาศข้อกำหนดดังกล่าวไม่น่าจะเกินขอบเขตวัตถุประสงค์ของกฎหมายว่าด้วยการควบคุมผลิตภันฑ์ยาสูบ ซึ่งเป็นไปเพื่อการคุ้มครองประชาชนและเยาวชน และแม้จะมีข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการขยายภาพคำเตือนบนซองบุหรี่จะมีผลต่อผู้บริโภคยาสูบอยู่ชั่วขณะบ้างก็ตาม แต่การดังกล่าวย่อมมีผลต่อผู้บริโภคบุหรี่รายใหม่ที่จะสนใจและเริ่มต้นการบริโภคยาสูบในระดับหนึ่ง

อ่านประกอบ : สิงห์อมควันสำลัก ศาลปกครองไฟเขียวเพิ่มขนาดภาพอันตรายร้อยละ 85 บนซองบุหรี่


กำลังโหลดความคิดเห็น